จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

วิถีมัคคุเทศก์กับบทบาทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว[1]

เรียบเรียงโดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์


แนวโน้มทางการตลาด: ลมหายใจแห่งสภาวะเศรษฐกิจของไทย
จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวของไทยจำนวนกว่าสองพันแห่ง ถูกจำแนกออกเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติถึงหนึ่งพันแห่งเศษ ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำในด้านทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในอนาคตอันใกล้พม่าอาจช่วงชิงการเป็นผู้นำการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไปจากไทยได้หากสถานการณ์ภายในประเทศมีความสงบมากกว่านี้ มนต์เสน่ห์ของพม่ามีมากมายและไม่เสื่อมคลาย ดังคำกล่าวของทอยน์บี( Arnold Toynbe) นักประวัติศาสตร์และนักปรัชญาคนสำคัญของโลกที่ว่า See Pagan and live, but see Angkor and die

สถิติการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2542 ถึงปี พ.ศ. 2543 และประมาณการต่อเนื่องถึงปี พ.ศ. 2563 มีดังนี้[2]

พ.ศ. 2542 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 8.58 ล้านคน
พ.ศ. 2543 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 9.3 ล้านคน
พ.ศ.2544 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 9.87 ล้านคน
พ.ศ. 2553 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 17.5 ล้านคน
พ.ศ. 2563 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 36.9 ล้านคน

ในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) อันเป็นปีแรกที่เริ่มเปิดเสรีการท่องเที่ยวตามบทบัญญัติขององค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) ประเทศไทยจะต้องพร้อมในด้านศักยภาพการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ สถิติการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 มีจำนวน 659 ล้านคน แต่อีก 10 ปีข้างหน้าคือ พ.ศ. 2552 นักท่องเที่ยวจะเพิ่มเป็น 1,006 ล้านคนและอีก 20 ปีข้างหน้า พ.ศ. 25623นักท่องเที่ยวจะเพิ่มสูงถึง 1,561 ล้านคน[3]

ในปี พ.ศ. 2543 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางทั่วโลกประมาณ 659 ล้านคน จำแนกเป็น ดังนี้[4]
1. นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 6 ล้าน
2. นักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน 130 ล้านคน
3. นักท่องเที่ยวชาวแอฟริกัน 27 ล้านคน
4. นักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง 18 ล้านคน
5. นักท่องเที่ยวชาวยุโรป 385 ล้านคน
6. นักท่องเที่ยวชาวเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิก93 ล้านคน

ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศจีนเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางท่องเที่ยว(Tourism Destination)เป็นอันดับหนึ่ง ฮ่องกง ไต้หวัน เซี่ยงไฮ้ เป็นอันดับสอง ประเทศไทยเป็นอันดับสาม และมาเลเซียเป็นอันดับสี่[5] น่าสังเกตว่าจุดหมายการท่องเที่ยวไทยในภาคอีสาน ซึ่งเป็นแหล่งอารยธรรมสำคัญ กลับมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปไม่ถึงหนึ่งแสนคนต่อปี สาเหตุสำคัญก็คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบเดินทางไปเที่ยวทะเลมากกว่า นอกจากนี้ทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวในภาคอีสานยังขาดความหลากหลายและประการสุดท้ายคือ ระยะทางค่อนข้างไกล แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วเทศกาลงานประเพณีและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยตลอดทั้งปีจะมีถึงสามร้อยหกสิบกว่าเทศกาล ในจำนวนนี้เป็นเทศกาลและกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเลยในภาคอีสาน
สถิติการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยต่อปี แสดงให้เห็นว่า
- นักท่องเที่ยว 5 ล้านคน เดินทางเข้ามาภายในกรุงเทพฯและปริมณฑล
- นักท่องเที่ยว 3 ล้านคน เดินทางท่องเที่ยวในภาคใต้
- นักท่องเที่ยว 2 ล้านคน เดินทางเข้าไปยังพัทยาและภูเก็ต

เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปก็จะพบว่า โดยปกติแล้วนักท่องเที่ยวชายจะเดินทางมากกว่าหญิงในอัตราส่วน 6 : 4 ผลการวิเคราะห์ภาพรวมทางการตลาดได้ข้อสรุปถึงความเหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยดังนี้[6]

จุดแข็งของประเทศไทย คือ มีสินค้าของที่ระลึกหลากหลาย มีภาพลักษณ์ของประเทศในทางบวก และมีกระแสการตอบรับโครงการอะเมซิ่งไทยแลนด์สูง

จุดอ่อน คือ มีแหล่งเสื่อมโทรมมาก มีขยะทั่วไป มีการหลอกลวงนักท่องเที่ยว ขาดบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และปัญหาโรคเอดส์ในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมันแล้วจะเห็นว่าเยอรมันเป็นเมืองหนาว กลางวันสั้นกว่ากลางคืน จึงมีจุดอ่อนเรื่องการท่องเที่ยว แต่นักธุรกิจชาวเยอรมันก็พยายามสร้างจุดแข็งให้แก่ประเทศด้วยการสร้างศูนย์การประชุมและดำเนินธุรกิจจัดการประชุมและสัมมนา(Meeting Incentive Convention and Exihibition) จนกระทั่งกลายเป็นประเทศศูนย์กลางการประชุมของโลกประเทศหนึ่งได้ในปัจจุบัน[7]

โดยทั่วไปตลาดอินบาวน์จะมีช่วงpeak (high)ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมีนาคมของทุกปี ขณะที่ช่วงเดือนเมษายน ถึงเดือนตุลาคมจะเป็นช่วงLow

ส่วนตลาดเอาท์บาวน์นั้น ช่วงpeakจะอยู่ระหว่างเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคม และต้นเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมของทุกปี ทั้งนี้สภาวะการเคลื่อนไหวของการท่องเที่ยวต่างประเทศกับการท่องเที่ยวภายในประเทศจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน(สัมภาษณ์ฝ่ายบุคคลบริษัทริกโก ฮอลิเดย์ จำกัด เมื่อประมาณ พฤษภาคม 2544 ระหว่างการออกไปนิเทศก์นักศึกษาฝึกงาน)

การเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศในย่านตะวันออกกลางจะเริ่มประมาณเดือนสิงหาคม เนื่องจากระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคมนั้น อากาศในตะวันออกกลางจะร้อนมาก(สัมภาษณ์ฝ่ายการตลาดของบริษัทออสการ์ทัวร์เมื่อประมาณพฤษภาคม 2544 ระหว่างการออกไปนิเทศก์นักศึกษาฝึกงาน)

การปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์
มัคคุเทศก์ไทยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบอาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีทั้งสิ้น 220,00 คนส่วนองค์กรเอกชนซึ่งเข้ามาดำเนินกิจการด้านธุรกิจนำเที่ยวมีทั้งสิ้น 4100 ราย(กรุงเทพธุรกิจ, 10 มกราคม 2545 หน้า31)

ปัจจุบันมัคคุเทศก์ซึ่งปฏิบัติงานต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนเพียงตลาดเดียวที่ถูกบังคับให้รับ Job’s order หรือใบสั่งงานจากบริษัททัวร์เพื่อเป็นหลักฐานในการปฏิบัติงาน เนื่องจากเป็นตลาดที่มีปัญหาในแง่ของพฤติกรรมนักท่องเที่ยว จะพบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมค่อนข้างสวนทางกับนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก กล่าวคือ หากมัคคุเทศก์สูบบุหรี่ขณะ ปฏิบัติหน้าที่นำเที่ยวนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน มัคคุเทศก์จะถูกตำหนิอย่างรุนแรง โดยถือว่ามัคคุเทศก์บกพร่องต่อหน้าที่ ในทางตรงกันข้ามเมื่อมัคคุเทศก์ได้รับแจกบุหรี่จากนักท่องเที่ยวตลาดจีนแผ่นดินใหญ่แล้วไม่รับก็จะถือว่าไม่ให้เกียรติซึ่งก็ผิดวัฒนธรรมจีน เช่นกัน ลักษณะดังกล่าว ในทางวัฒนธรรมเรียกว่า อินทรีย์ชั้นสูง(superorganic) ซึ่งหมายถึงการแสดงพฤติกรรมอย่างเดียวกันแต่มีความหมายไม่เหมือนกันในอีกสังคมหนึ่ง

พฤติกรรมข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์ในตลาดต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนในการปฏิบัติหน้าที่ สิ่งสำคัญประการหนึ่งในการต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกซึ่งมักจะมีความเคร่งครัดต่อหลักการทางธุรกิจ มัคคุเทศก์จะต้องไม่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงใดๆ ในรายการนำเที่ยว โดยพลการ และหากจะต้องเปลี่ยนแปลงรายการใดๆ มัคคุเทศก์จะต้องแจ้งให้บริษัททราบ และมัคคุเทศก์จะต้องให้นักท่องเที่ยวลงลายมือชื่อยอมรับการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงนั้นๆ ทุกครั้งเพื่อจะได้เป็นหลักฐานยืนยันในกรณีถูกร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว

มัคคุเทศก์บางคนถูกนักท่องเที่ยวฝรั่งร้องเรียนว่า ขาดความรับผิดชอบและละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่ขณะนำเที่ยวในคลองบางกอกน้อย (ทัวร์คลอง) เพราะนั่งหลับในเรือ โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายประกอบข้อร้องเรียน การร้องเรียนนี้มีสาเหตุมาจากมีการระบุว่า ระหว่างทัวร์คลองจะมีมัคคุเทศก์ดูแลตลอดเส้นทาง ดังนั้น นักท่องเที่ยวจึงถือว่าการงีบหลับระหว่างการปฏิบัติงานของมัคคุเทศก์เป็นการขาดความรับผิดชอบ
การร้องเรียนของนักท่องเที่ยวตลาดจีนแต่เดิมมีเยอะมาก เนื่องจากปัญหาการทิ้งลูกทัวร์ในวันที่สองของการทำทัวร์ เพราะนักท่องเที่ยวไม่ “shopping” หลังจากทิ้งแขกเก่าแล้วมัคคุเทศก์ก็จะไปซื้อค่าหัวนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหม่ต่อไป การซื้อค่าหัวนักท่องเที่ยวจีนเกิดขึ้นเพราะมัคคุเทศก์และบริษัททัวร์ต้องการผลประโยชน์จากค่าคอมมิสชั่นการซื้อของที่ระลึก ปัจจุบันปัญหาการร้องเรียนได้ลดน้อยลงไปมากจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน

เมื่อมัคคุเทศก์ถูกร้องเรียนจากนักท่องเที่ยว สำนักงานธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์จะส่ง จดหมายเชิญให้ผู้ถูกร้องเรียนไปให้การภายใน 15 วัน โดยฝ่ายมัคคุเทศก์อาจจะขอเลื่อนการเดินทางไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ไม่เกินสองครั้งๆ ละไม่เกิน 15 วัน

โดยทั่วไปการถูกเพิกถอนในอนุญาตมัคคุเทศก์จะเกิดขึ้นหลังจากมีการกระทำผิดไม่เกิน 3 ครั้ง กล่าวคือ ครั้งที่1-2 ตักเตือน ครั้งที่ 3 ถูกเพิกถอนใบอนุญาตทันที มัคคุเทศก์ที่ทำทัวร์ยิวกับทัวร์แขก อาจถูกร้องเรียนได้เมื่อเลิกรายการนำเที่ยวก่อนเวลา แม้จะเพียง 10 นาทีเศษก็ตาม

ทุกครั้งที่ปฏิบัติหน้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวมัคคุเทศก์จะต้องติดเครื่องหมายแสดงการเป็นมัคคุเทศก์ (บัตรมัคคุเทศก์) ไว้ที่อกเสื้อ มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว จะถูกเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 500 บาทเท่ากันทั่วประเทศ (จากที่ระบุในพระราชบัญญัติว่าปรับไม่เกิน 5,000 บาท) และหากไม่สามารถนำบัตรมัคคุเทศก์มาแสดงได้จะถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 1,000 บาท มัคคุเทศก์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หรือ “ไกด์เถื่อน - ไกด์ผี” คือ ผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ มีความผิดอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ต้องหาอาจต้องเตรียมหลักทรัพย์จำนวน 100,000 บาท หรือเงินสดจำนวน 50.000 บาทไว้ประกันตัวด้วย

ในกรณีนี้หากรับสารภาพที่ศาลแขวงก็จะถูกปรับประมาณ 2,000-3,000 บาทเท่านั้น มัคคุเทศก์เถื่อนจะมีสถิติถูกจับทุกเดือน และมักจะยอมเสียค่าปรับโดยไม่ต่อสู้คดีเนื่องจากถ้าสู้คดีจะถูกปรับสูงกว่านี้ บุคคลต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับอนุญาต จะถูกดำเนินคดีตาม พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าวแทน ซึ่งจะต้องถูกปรับประมาณหนึ่งหมื่นบาท

อย่างไรก็ดีตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2535 ระบุว่าบุคคลสัญชาติไทยสามารถเข้ารับการอบรมมัคคุเทศก์ได้ ดังนั้นหญิงต่างชาติซึ่งแต่งงานกับชาวไทยและโอนสัญชาติเป็นไทยแล้วจึงมีสิทธิ์เข้าอบรมมัคคุเทศก์และใช้สิทธิ์ยื่นหลักฐานขอบัตรมัคคุเทศก์ได้
สิทธิพึงมีพึงได้ของมัคคุเทศก์

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ระบุว่าหากบริษัทนำเที่ยวค้างค่าจ้าง หรือค่าชำระต่างๆ ตามสิทธิอันมีพึงได้ของมัคคุเทศก์ มัคคุเทศก์อาจนำเรื่องฟ้องต่อสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์หรือศาลได้โดยชอบธรรม

อาชีพมัคคุเทศก์เป็นอาชีพอิสระ ไม่มีสวัสดิการรองรับ รัฐบาลจึงออกกฎกระทรวงฉบับที่ 9/2543 บังคับให้บริษัทนำเที่ยวต้องทำประกันอุบัติเหตุให้แก่มัคคุเทศก์ทุกคน เมื่อฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับ 5,000-20,000 บาท และพักใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กฎกระทรวงดังกล่าว ครอบคลุมไปถึงอุบัติเหตุทุกอย่างที่เกิดขึ้นขณะมัคคุเทศก์ปฏิบัติหน้าที่ เช่น เดินชนกระจกโรงแรมได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น การได้รับบาดเจ็บมีวงเงินรักษาพยาบาลไม่เกิน 100,000 บาท หากถึงแก่ความตาย หรือทุพพลภาพได้รับชดเชยไม่เกิน200,000 บาท ในปัจจุบันมัคคุเทศก์จำนวนถึง 90% มีประกันอุบัติเหตุเป็นสวัสดิการ อย่างไรก็ดีกฎหมายยังไม่ครอบคลุมถึงการพักการประกอบอาชีพ กรณีที่มัคคุเทศก์อุทธรณ์คำสั่งศาล แต่บริษัทนำเที่ยวกลับไม่ต้องหยุดดำเนินกิจการ และกรณีที่บริษัทนำเที่ยวสามารถร้องเรียนมัคคุเทศก์ได้ แต่มัคคุเทศก์ไม่มีสิทธิ์ร้องเรียนบริษัทนำเที่ยว ถือเป็นความได้เปรียบเสียเปรียบในทางกฎหมาย ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกำลังดำเนินการแก้ไขอยู่ขณะนี้

ส่วนรายได้ของมัคคุเทศก์นั้นโดยปกติมัคคุเทศก์ Inbound จะได้รับค่าจ้างวันละ 700 บาท (ไม่มีเงินเดือน ) แต่บางบริษัทเช่น เฮงเชียงทัวร์ให้ค่าจ้างวันละ 600บาทเท่านั้น มัคคุเทศก์ Outbound จะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 700 บาท นอกเหนือจากเงินเดือนประจำ อาจารย์เก่งๆประมาณ2000-3000บาท สุริยวุฒิ ได้30000บาทต่อวัน และมัคคุเทศก์ Domestic จะได้รับค่าจ้างวันละ 700-1,000 บาทเช่นกัน (ไม่มีเงินเดือน) สำหรับ sitting guide ของตลาดเกาหลีจะได้รับค่าจ้างวันละ 1,000 บาท ส่วน sitting guide ของตลาดจีนและตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการทำงานที่ผิดพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ จะได้ค่าจ้างวันละ 900-1,000 บาท

สำหรับโครงการพิเศษในปี2002 รัฐบาลได้เสนอโครงการBangkok Transit Tour 2002 ขึ้น โดยมีProgramme ดังนี้
1. temple and shopping Tour
2. Canal and shopping TOUR
3. Grand Palace and Shopping Tour
4. Thai boxing and shopping tour
5. Ayutthaya Bang Pa - In and shoping Tour
6. Bang Sai and Shopping Tour
7.Thai food and night Tour
8.Thai Grand Sale and Shopping Tour

โครงการนี้มีบริษัทเล็กๆ 3บริษัทได้รับสัญญาจาก ททท. คือ Ami Tour -Siam Line Cristal- Charm ในส่วนของอามีทัวร์ มัคคุเทศก์ได้ค่าสแตนด์ บาย 300บาท /วัน ถ้ามีทัวร์ได้400บาท/วัน ไม่รวมค่าคอมมิชชัน 20%จากการชอปปิง และมีค่าคอมแบ่งให้มัคคุเทศก์ที่สแตนด์บายด้วย บริษัทอื่นไม่ค่าสแตนด์บาย โครงการนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 2 ล้านคน ( มีเวลาว่างประมาณ12ชั่วโมงก่อนต่อเครื่อง)
มัคคุเทศก์มีรายได้จากการพานักท่องเที่ยวไปซื้อของที่ระลึก เช่น งานหัตถกรรม อัญมณี หรือ ตัดเสื้อผ้า ค่าคอมมิสชั่นจะได้รับประมาณ 20% แต่มัคคุเทศก์บางบริษัทอาจได้รับเพียง 7% หรือ 3% (ทัวร์จีน) เท่านั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทนำเที่ยวทัวร์แต่ละแห่ง

ประสบการณ์ของมัคคุเทศก์กับสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยว
การแสวงหาผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยวของมิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาในวงการ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย อาชญากรรมที่เกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวประกอบด้วยปัญหาต่าง เช่น
- การหลอกลวงให้นักท่องเที่ยวซื้ออัญมณีคุณภาพต่ำ
- การลักทรัพย์บนรถโดยสารระหว่างการเดินทาง
- แก๊งมอมยา หรือขบวนการหลอกลวงนักท่องเที่ยวด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อประสงค์ต่อ ทรัพย์สิน
- มัคคุเทศก์ที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือ ไกด์เถื่อนทำความเดือนร้อนรบกวนนักท่องเที่ยว
- การเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวในการซื้อสินค้าและบริการ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว เช่น การลักทรัพย์ในสถานที่พัก การตัดเสื้อผิดขนาดแล้วไม่คืนค่ามัดจำ การส่งของผิดแบบที่ตกลงซื้อไว้ การส่งของไม่ตรงตามนัด และการผิดสัญญานำเที่ยว เป็นต้น

พฤติการณ์อันนำไปสู่ความเสียหายในเรื่องการหลอกลวงให้นักท่องเที่ยวซื่อัญมณีคุณภาพต่ำจะกระทำการอย่างเป็นขบวนการ เริ่มจากการส่งหน้าม้าเข้าไปตีสนิทกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศตามโบราณสถานต่างๆ โดยอ้างว่ามีอาชีพน่าเชื่อถือ เช่น เป็นแพทย์ วิศวกร หรืออาจารย์ จากนั้นก็แนะนำให้นักท่องเที่ยวไปซื้ออัญมณีราคาถูกเพื่อนำไปขายต่อในราคาแพงโดยไม่เสียภาษี เมื่อนักท่องเที่ยวหลงเชื่อก็จะส่งขึ้นรถสามล้อเครื่องไปลงยังร้านค้าอัญมณีที่รู้กัน บางกรณีคนขับรถ สามล้อเครื่องก็อาจจะหาเหยื่อไปที่ร้านอัญมณีเอง โดยเสนอราคาค่าโดยสารถูกๆ แล้วไปรับค่าหาเหยื่อที่ร้านอัญมณี ส่วนร้านอัญมณีก็จะหลอกให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าแล้วแนะนำให้นักท่องเที่ยวคอยรับสินค้าทางไปรษณีย์ โดยอ้างว่าเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสินค้าขาออก ทั้งนี้เป็นเพียงอุบายที่จะตัดปัญหาการคืนสินค้าของนักท่องเที่ยวเท่านั้น
แต่ละปีนักท่องเที่ยวต้องสูญเสียเงินหลายสิบล้านบาทในการซื้ออัญมณีคุณภาพต่ำจากร้านค้าเหล่านี้ จากประสบการณ์ของมัคคุเทศก์อาชีพที่คลุกคลีกับวงการท่องเที่ยวพบว่าบางครั้งคนขับสามล้อเครื่องจะรับนักท่องเที่ยวไปเที่ยววัดสระเกศและวัดอินทร์บางขุนพรหม แล้วขับรถผ่านเข้าไปในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อถึงคณะอักษรศาสตร์ก็จะแกล้งทำเป็นรถเสีย สักครู่หนึ่งก็จะมีไกด์ผีสวมบทบาทเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ เข้ามาทักทายและแนะนำให้ไปซื้อพลอยที่ร้านนกจิวเวลลีที่มาบุญครอง การซื้อพลอยจะทำโดยให้นักท่องเที่ยวซื้อทองเพื่อนำมาแลกซื้อพลอยจากร้าน เป็นต้น

ร้านอัญมณีที่มีพฤติกรรมหลอกลวงนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในทำเลไม่ค่อยดี เช่น ย่านหัวมุมสนามม้านางเลิ้ง และย่านวรจักร นักต้มตุ๋นส่วนใหญ่จะทราบว่านักท่องเที่ยวอเมริกันชอบซื้ออัญมณี ส่วนนักท่องเที่ยวย่านสแกนดิเนเวียชอบตัดสูทเสื้อผ้า เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวก็จะรับหน้าที่ในการติดตามดำเนินคดีต่อไปอย่างเร่งรีบเนื่องด้วยนักท่องเที่ยวมีเวลาอยู่ในประเทศไทยค่อนข้างน้อย ทำให้บ่อยครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้รับความร่วมมือในการไปให้การที่ศาล ซึ่งต้องใช้เวลานานทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องหาได้อย่างถึงที่สุด รูปแบบการต้มตุ๋น นักท่องเที่ยวยังแพร่กระจายไปยังเชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยาด้วย

มัคคุเทศก์บางคนก็มีวิธีบางอย่างในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบคาบลูกคาบดอก เช่น การขายทัวร์วัดและวังช่วงบ่ายแล้วเข้าชมพระราชวังและวัดพระแก้วไม่ทันก่อนเวลา 15.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่วังปิดจึงต้องใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงรายการนำเที่ยว โดยพานักท่องเที่ยวไปเที่ยววัดราชบพิตรและแถมทัวร์ไนท์บาร์ซาร์ ฯลฯ แทน ซึ่งการกระทำเช่นนี้หากจะให้ปลอดภัยจะต้องให้นักท่องเที่ยวลงลายมือชื่อยินยอมให้เปลี่ยนแปลงรายการนำเที่ยว เพื่อป้องกันการถูกร้องเรียน

มัคคุเทศก์รุ่นเก่าบางคนแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อนักท่องเที่ยวต้องการไปเที่ยวสะพานข้ามแม่น้ำแควทั้งๆ ที่จะต้องบินกลับภายในระยะเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมงด้วยการพาไปชมสะพานพระราม 6 ก็มี มัคคุเทศก์บางคนเอาเปรียบนักท่องเที่ยวด้วยการขายทัวร์ช้าง โดยบอกว่าช้างในปางช้างมีน้อยและเป็นช้างของกรมป่าไม้จะต้องซื้อตั๋วก่อนล่วงหน้า ป้องกันความผิดหวัง แล้วฉวยโอกาสขึ้นราคาตั๋วสูงกว่าความเป็นจริง

มารยาทของมัคคุเทศก์
มัคคุเทศก์บางคนถูกเปลี่ยนตัวกะทันหันก่อนจะมีโอกาสทำทัวร์เมื่อแสดงกิริยาและแต่งกายไม่เหมาะสม เช่น เมื่อครั้งเจ้าชายมกุฎราชกุมารแห่งเบลเยี่ยมเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย มีผู้ตามเสด็จเป็นสุภาพสตรีรูปร่างอ้วนใหญ่เป็นผู้บริหารระดับสูงเดินทางมาด้วย ปรากฏว่าเมื่อลงจากรถตู้มัคคุเทศก์ถูกกล่าวหาว่าทำท่าทางล้อเลียน โดยทำท่าทางเหมือนจะอุ้มสตรีนั้นลงมาจากรถ มัคคุเทศก์จึงถูกสั่งเปลี่ยนตัวทันทีในวันนั้นเลย อีกกรณีคือ ครั้งหนึ่งเมื่อมีการประชุมรัฐมนตรีนานาชาติที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภรรยาของคณะรัฐมนตรีมีกำหนดการไปเที่ยวสถานที่แห่งหนึ่ง ปรากฎว่ามัคคุเทศก์ถูกเปลี่ยนตัวกลางถนนสุขุมวิทเพียงเพราะแต่งกายไม่เหมาะสมเท่านั้น

สรุป
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่นำเงินเข้าประเทศแต่ละปีจำนวนมาก สถิติเมื่อปี พ.ศ.2543 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 270,000 ล้านบาท การท่องเที่ยวจึงมีความสำคัญต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก อาชีพมัคคุเทศก์เป็นอาชีพอิสระที่มีความผูกพันกับการท่องเที่ยวอย่างแยกไม่ออก คุณภาพของมัคคุเทศก์เป็นเครื่องมืออันทรงพลานุภาพในการนำทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ มัคคุเทศก์ที่มีความอุตสาหะ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และมีความใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผู้ที่มีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จในวิชาชีพ การทำความเข้าใจในพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว การรู้เท่าทันในเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของนักต้มตุ๋น ตลอดจนถึงกฎระเบียบ สวัสดิการและผลประโยชน์ที่มัคคุเทศก์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องล้วนเป็นข้อมูลสำคัญที่จะส่งเสริมให้มัคคุเทศก์สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ภายใต้กระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่งของสังคมปัจจุบัน

การแลกเปลี่ยนข่าวสารและการถ่ายทอดประสบการณ์ของมัคคุเทศก์จากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งภายใต้การเชื่อมโยงของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพและสถาบันการศึกษา ดังเช่น โครงการอบรมเพิ่มพูนความรู้สำหรับมัคคุเทศก์นับเป็นความเคลื่อนไหวที่มีคุณค่าต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์เป็นอย่างยิ่ง ในระหว่างการอบรมแม้จะมีการถกเถียงและเสนอความคิดเห็น เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาอันเกิดจากความกดดันต่างๆ ที่มัคคุเทศก์ได้รับจากพระราชบัญญัติ กฎกระทรวงและเจ้าหน้าที่ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่ข้อคิดและประสบการณ์ที่ถูกนำเสนอในระหว่างการอบรมล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงและเป็นสิ่งที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงพึงตะหนักเช่นเดียวกัน ดังปรากฏให้เห็นในเนื้อหาข้างต้นแล้ว การเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ให้เข้าใจถ่องแท้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

[1]บทความนี้เรียบเรียงและปรับปรุงจากการเข้ารับการอบรมในโครงการเพิ่มพูนความรู้สำหรับมัคคุเทศก์หลักสูตรที่1 รุ่นที่3 วันที่ 31 มี.ค.-1 เม.ย. 2544 ที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตวังท่าพระ
[2] ข้อมูลจากทวีเดช ทองอ่อน, การบรรยายเรื่อง”การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” โครงการอบรมเพิ่มพูนความรู้สำหรับมัคคุเทศก์ หลักสูตรที่1 รุ่นที่3
[3] ทวีเดช ทองอ่อน, อ้างแล้ว
[4] ทวีเดช ทองอ่อน, อ้างแล้ว, แผ่นใสที่ 8
[5] ทวีเดช ทองอ่อน, อ้างแล้ว, แผ่นใสที่10
[6] ข้อมูลจาก ทวีเดช ทองอ่อน, อ้างแล้ว
[7]ข้อมูลจาก ทวีเดช ทองอ่อน,อ้างแล้ว

4 ความคิดเห็น:

  1. ส่งงาน ตลาดน้ำอโยธยาครับ นาย ณัฐธีร์ ภิญโญปิยวิศว์ 530105030188

    http://nattee530105030188.blogspot.com/2010/07/530105030188.html

    ตอบลบ
  2. ส่งงานครับ

    http://turimlndustrydpu0004.blogspot.com/

    นาย กิตติศักดิ์

    530105030201


    คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
    สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม

    กลุ่ม 004

    ตอบลบ
  3. ส่งงานค่ะ

    http://pattayadpu530105030195.blogspot.com/2010/07/395.html

    นางสาวพัทยา โพธิ์ตะโก

    รหัส 530105030195

    ตอบลบ
  4. ส่งงานปินโตค่ะ อาจารย์ ....

    http://turismindustrydpu0004nichapakpil.blogspot.com/

    น.ส.ณิชาภัค พิไลโชค -- 530105030202

    ส่วนอีกงานนึง ที่อาจารย์เคยติไป แก้ไขแล้วนะค่ะ

    ตอบลบ