จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เที่ยวหมู่บ้านโปรตุเกสสมัยอยุธยา

“แผนที่แสดงชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่กรุงศรีอยุธยาค.ศ.1688(พ.ศ.2231)”ของลาลูแบร์เอื้อเฟื้อจาก http://www.southeastasianarchaeology.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

โปรตุเกสเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๐๕๔ ทูตคนแรก คือ ดูอาร์ตึ แฟร์นันเดช (Duarte Fernandes) ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การเจริญทางพระราชไมตรีกับราชสำนักสยามในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 (พ.ศ.2034-2072 /ค.ศ.1491-1529) และเสนอสิทธิพิเศษแก่กรุงศรีอยุธยาหากสามารถยึดครองมะละกาได้ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน โปรตุเกสก็ยึดมะละกาสำเร็จ

ต่อมาในพ.ศ.2055(ค.ศ.1512) อัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึส่งอันตอนิอู ดึ มิรันดา ดึ อาซึเวดู (Antonio de Miranda de Azevedo) เป็นทูตโปรตุเกสคนที่สอง โดยมีมานูเอล ฟรากูซู (Manuel Fragoso)ร่วมเดินทางมาด้วย ฟรากูซูพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 ปี เขาบันทึกพิกัดที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาและเมืองท่าต่างๆ รวมทั้งสินค้า การแต่งกาย ขนบธรรมประเพณีของชาวสยามด้วย วัตถุประสงค์ของคณะทูตโปรตุเกสชุดที่สอง คือ การเจรจาให้กรุงศรีอยุธยาส่งเรือไปค้าขายที่มะละกา โดยโปรตุเกสจะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและกองเรือแก่กรุงศรีอยุธยาหากตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็น

ในพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) อาไลซู ดึ เมเนซึช (Aleixo de Meneses)กัปตันแห่งมะละกา ได้แต่งตั้งดูอารตึ คูเอลญู(Duarte Coelho)เป็นทูตคนที่สามเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ทำให้มีการทำสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างโปรตุเกสและกรุงศรีอยุธยา สัญญาดังกล่าวระบุถึงการอนุญาตให้มีการตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาด้วย แม้ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ อ้างตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ชุมชนโปรตุเกสก่อตัวขึ้นในปีพ.ศ.2083(ค.ศ.1540) กล่าวคือ“ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีฝรั่งโปรตุเกสเข้ามาหากินที่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 130 คน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชจะเสด็จยกกองทัพหลวงไปปรบพม่าที่เมืองเชียงกราน ทรงเกณฑ์ชาวโปรตุเกสเป็นทหารรักษาพระองค์ 120 คน พวกโปรตุเกสได้รบพุ่งพวกข้าศึกแข็งแรง ครั้นชนะศึกมีความชอบ สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานอนุญาตให้พวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในพระราชอาณาจักร และทำวัดวาตามลัทธิศาสนาของตนได้ดังปรารถนา”

พิทยะ ศรีวัฒนสาร ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2059-2310(ค.ศ.1516-1767)” เสนอว่า ชุมชนโปรตุเกสเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างน้อยในปีพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) โดยอ้างตามสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) ซึ่งระบุถึงการอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสสามารถเดินทางเข้ามาค้าขาย ตั้งบ้านเรือนและปฏิบัติศาสนกิจในกรุงศรีอยุธยา แลกเปลี่ยนกับการที่ทางการโปรตุเกสดำเนินการจัดหาปืนและกระสุนดินดำแก่กรุงศรีอยุธยา และอนุญาตให้ชาวสยามเดินทางไปค้าขายที่มะละกา จึงถือว่า พ.ศ.2059(ค.ศ.1516)เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกของชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา

จดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ (M. de La Loubère) เรียกชุมชนโปรตุเกสว่า “ค่ายโปรตุเกส-Camp of Portuguese” ตรงกับภาษามาเลย์ว่า “Campong” และธีรวัติ ณ ป้อมเพชรระบุว่า“Campo” แปลว่า “บ้าน” หรือ “หมู่บ้าน” ในภาษาสยาม คำดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับคำว่า “Camp- ค่าย” และในคำประกาศเกียรติคุณของชาวโปรตุเกสที่ร่วมศึกพระยาตาก(สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)ขับไล่ทหารพม่าออกจากสยามเมื่อพ.ศ.2310(ค.ศ.1767) เรียกที่ตั้งของชุมชนโปรตุเกสที่กรุงธนบุรีว่า “ Bandel หรือ Bamdel dos Portuguezes” แปลว่า “บ้านของชาวโปรตุเกส” อันอาจสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมก่อนหน้านั้นได้เช่นกัน

หมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่บนที่ลุ่มชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตก ห่างจากเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาไปทางใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ศูนย์กลางของชุมชน คือ บริเวณโบสถ์ซานโดมินิกัน(โบสถ์ซานเปโตร) แผนที่ซึ่งเขียนโดยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ อาทิ แผนที่อยุธยาของบาทหลวงคูร์โตแลง(Père Courtaulin)ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แสดงให้เห็นว่าค่ายโปรตุเกสในอดีตมีพื้นที่คล้ายรูปสามเหลี่ยม แต่การสำรวจเพื่อทำแผนผังประกอบการขุดแต่งโบราณสถานโบสถ์ซานเปโตรในปีพ.ศ.2527(ค.ศ.1983) แสดงลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านโปรตุเกสคล้ายรูปฝักมะขามตามสภาพการตั้งชุมชนปัจจุบันที่ขนานไปตามริมน้ำ และคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ โดยมีขนาดกว้างประมาณ 170 เมตร ยาวประมาณ 2000 เมตร

“แผนที่แสดงชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่กรุงศรีอยุธยา ค.ศ.1688(พ.ศ.2231)” ยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า ในสมัยอยุธยาชุมชนโปรตุเกสตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนนานาชาติ ได้แก่ ชุมชนจีน(ซึ่งมีทั้งในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง) ชุมชนโคชินจีน(เวียดนาม) ชุมชนมาเลย์ ชุมชนมากัสซาร์และชุมชนพะโค ส่วนทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยชุมชนอังกฤษ ชุมชนฮอลันดา ชุมชนญี่ปุ่นและชุมชนจีนไล่ลงมาตามลำดับ ซึ่งรวมถึงชุมชนชาวสยามซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา

2 ความคิดเห็น:

  1. อาจารย์คะ ลิ้งค์งานของนู่ค่ะ เข้าไปชมด้วยนะคะ (:
    http://tourismindustrydpu002acare.blogspot.com/

    ตอบลบ
  2. http://turismindustrydpu0004aruneeaphi.blogspot.com
    นางสาวอรุณี อภิดิลกกุล
    530105030217
    คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
    สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม

    ตอบลบ