จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

(ร่าง)โครงการบริษัททัวร์ต้นแบบ revised 26 Oct 2010

http://dpuholiday.yolasite.com/
(ร่าง)โครงการบริษัททัวร์ต้นแบบ revised 26 Oct 2010
โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
1.รหัสโครงการ :……………………………..

2.ชื่อโครงการ
บริษัททัวร์ต้นแบบ (Proto-type Tour Company ดีพียู ฮอลิเดย์ จำกัด - DPU Holidays Co. Ltd.)

3.ความสอดคล้องกับแผนแม่บทเพื่อการพัฒนาคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
3.1 ยุทธศาสตร์การจัดการศึกษา /
3.2 ยุทธศาสตร์การวิจัยและบริการวิชาการ
3.3 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการองค์กร /
3.4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาอาจารย์ /
3.5 ยุทธศาสตร์การพัฒนานักศึกษา /
3.6 ยุทธศาสตร์การพัฒนาอาคารและสถานที่
3.7 ยุทธศาสตร์การส่งเสริม ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม /

4.หลักการและเหตุผล
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาศิลปะศาสตร-บัณฑิต สาขาวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรมมาตั้งแต่พ.ศ.2530 รวมเป็นระยะเวลา 23 ปี ปัจจุบันผลิตบัณฑิตไปแล้ว 18 รุ่น ภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรมมีการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อปีการศึกษา2545, 2547 และ 2550 ตามลำดับ มีอาจารย์ประจำสังกัดภาควิชารวม 18 คน และอาจารย์ผู้สอนในหมวดวิชาภาษาต่างประเทศเพื่อการท่องเที่ยวและการโรงแรมรวม 18 คน

ภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรมมีปณิธานในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและคุณธรรมสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภายใต้วิสัยทัศน์เพื่อเน้นการเป็นผู้นำในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและคุณธรรมด้วยจุดเด่นในหลักสูตร คือ เน้นการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ปลูกฝังความตระหนักรู้ในวิชาชีพทั้งด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม เน้นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศที่สอง ได้แก่ ภาษาจีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อให้นักศึกษามีความสามารถทางด้านภาษาซึ่งเป็นความต้องการอันดับต้นของธุรกิจท่องเที่ยว การถ่ายทอดความรู้ด้านการบริหารจัดการและทักษะเทคโนโลยีสารสนเทศ อาทิ การสอนระบบ Opera ซึ่งเป็นโปรแกรมซอฟแวร์สำเร็จรูปที่ใช้ในการบริหารจัดการโรงแรม เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ทันที รวมถึงการเน้นจรรยาบรรณในวิชาชีพเพื่อให้เกิดการพัฒนาและการใช้ศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่

กว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ภาควิชาฯได้ส่งนักศึกษาไปฝึกงานในบริษัทชั้นนำของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงโรงแรม บริษัททัวร์ แทรเวล เอเจนซี่ สายการบิน สถานจำหน่ายสินค้าที่ระลึก และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวประมาณ 400 องค์กร ทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดและต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน และอังกฤษ โดยขณะนี้กำลังติดต่อกับองค์กรในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเยอรมัน เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสฝึกงานที่ต่างประเทศมากขึ้น แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกและการเมืองภายในประเทศในช่วงประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจนำเที่ยวจำนวนไม่น้อยทยอยปิดกิจการ และธุรกิจโรงแรมก็มีลูกค้าเดินทางเข้ามาใช้บริการลดลง แทนที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการพยากรณ์ด้วยหลักวิชาการสถิติขององค์การการท่องเที่ยวโลก(World Tourism Organization) สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคุณภาพและความเข้มข้นอันควรจะได้รับจากการฝึกฝนประสบการณ์ด้านต่างๆ อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ในอดีตเจ้าของกิจการบริษัทนำเที่ยวจำนวนไม่น้อย เติบโตขึ้นมาจากการริเริ่มจัดกิจกรรมนำเที่ยวขณะที่ยังมีสถานภาพเป็นนักศึกษา แต่ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมามีสถาบันระดับอุดมศึกษาทั้งในกรุงเทพฯและในส่วนภูมิภาคเพียงไม่กี่แห่งที่เปิดบริษัททัวร์จำลองขึ้นมาเพื่อมุ่งผลิตบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยให้นักศึกษาเป็นศูนย์กลางในการจัดทำกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียนการสอนในวิชาชีพอุตสาหกรรมบริการอย่างจริงจัง และแสดงผลการดำเนินงานให้เป็นที่ประจักษ์อย่างน่าพึงพอใจ จนถึงกับยกระดับบริษัททัวร์จำลองขึ้นเป็นบริษัทจดทะเบียนกับสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อให้ความคล่องตัวในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรมจึงถือปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเป็นตัวอย่างที่ดี(Best Practice) ในการต่อยอดความสำเร็จเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการสร้างเสริมประสบการณ์ด้านธุรกิจ การบริหาร และการจัดการเชิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการของนักศึกษาในอนาคต

5.วัตถุประสงค์
5.1 เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสเรียนรู้และสร้างเสริมประสบการณ์ในการบริหารและจัดการองค์กรต้นแบบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการด้วยตนเองตามหลักวิชาภายใต้การให้คำปรึกษาและควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด
5.2 เพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จเชิงธุรกิจอันมีพื้นฐานมาจากการศึกษาทางด้านวิชาการอย่างครบถ้วนจนครบตามหลักสูตรของภาควิชาอย่างเป็นรูปธรรมทั้งด้านธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม การจัดเลี้ยง การจัดการประชุม และธุรกิจสายการบิน

6.กลุ่มเป้าหมาย (ขึ้นอยู่กับจำนวนกลุ่มนักศึกษาแต่ละรุ่น อย่างน้อยรุ่นละ 10 คน แต่ไม่เกิน 20 คน) ประกอบด้วย
6.1นักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาสหกิจศึกษาหลักสูตรการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (การท่องเที่ยวและการโรงแรม)
6.2 นักศึกษาที่ต้องฝึกงานตามหลักสูตรการศึกษาปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (การท่องเที่ยวและการโรงแรม)
6.3 นักศึกษาที่เรียนสายวิชาการท่องเที่ยว

7.หน่วยงานผู้รับผิดชอบ / ผู้รับผิดชอบโครงการ

.........................................................

.........................................................

8.วิธีการดำเนินการ
8.1 ช่วงทดลอง
8.1.1 รับสมัครนักศึกษาฝึกงานเข้าร่วม จำนวน 10 คน
8.1.2 ขออนุมัติที่ตั้งสำนักงาน อุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็น (โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องสแกน ) ในช่วงทดลองปฏิบัติงาน
8.1.3 กำหนดภาระงาน (นำเที่ยวทั่วราชอาณาจักรและต่างประเทศ จองตั๋วโดยสารเครื่องบิน เรือสำราญ ให้เช่าเหมารถ)
8.1.4 การวางแผนการตลาดและอบรมกระบวนการทำงานแก่ผู้ร่วมโครงการจากวิทยากรภายนอกที่มีประสบการณ์ โดยตั้งเป้าหมายขายผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม อย่างน้อย 3 ผลิตภัณฑ์ ตั้งราคาผลิตภัณฑ์ ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะในเว็บไซต์ และFace book และทำให้เว็บไซต์มีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นการสร้างสรรค์ช่องทางจำหน่ายและดำเนินการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นอย่างเข้มข้น และมีนัยสำคัญ
8.1.5 กำหนดหน้าที่ของสมาชิกออกเป็นฝ่ายต่างๆ ในบริษัท โดยคำนึงถึงบุคลิกภาพและความสามารถของแต่ละคน เพื่อรับหน้าที่ในการประสานให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
8.1.6ดำเนินกระบวนการด้านการเบิกจ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานช่วงเวลาที่กำหนดในโครงการ ค่าเช่าเหมาพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ามัคคุเทศก์ ค่าเข้าชมกิจกรรมทางด้านศิลปวัฒนธรรม ค่าทิป ฯลฯ
8.1.7 การซักซ้อมและยืนยัน(Reconfirmation) แผนปฏิบัติงานก่อนการดำเนินงานตามโครงการ
8.1.8 จัดเตรียมเอกสารประเมินความพึงพอใจของลูกค้า
8.1.9ดำเนินงานตามแผนในโครงการทุกขั้นตอนและประเมินความพึงพอใจจากลูกค้าเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพในการบริการต่อไป
8.1.10 สรุปผลการปฏิบัติงานแต่ละผลิตภัณฑ์

8.2 ช่วงดำเนินการจริง
8.2.1 รับสมัครนักศึกษาฝึกงานเข้าร่วม อย่างน้อย 10 คน แต่ไม่เกิน 20 คน
8.2.2 อบรมกระบวนการทำงานแก่ผู้ร่วมโครงการ
8.2.3ตั้งเป้าหมายขายผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม ตามความสามารถและตามการตอบสนองที่เป็นจริงทางการตลาดแต่ไม่ควรจะน้อยกว่า 5 ผลิตภัณฑ์ ตั้งราคาผลิตภัณฑ์ สร้างสรรค์ช่องทางจำหน่ายและดำเนินการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นอย่างเข้มข้น
8.2.4 กำหนดหน้าที่ของสมาชิกออกเป็นฝ่ายต่างๆ ในบริษัท โดยคำนึงถึงบุคลิกภาพและความสามารถของแต่ละคน เพื่อรับหน้าที่ในการประสานให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
8.2.5ดำเนินกระบวนการด้านการเบิกจ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานช่วงเวลาที่กำหนดในโครงการ
8.2.6 การซักซ้อมและยืนยัน(Reconfirmation)แผนปฏิบัติงานก่อนการดำเนินงานตามโครงการ
8.2.7 จัดเตรียมเอกสารประเมินความพึงพอใจของลูกค้า
8.2.8 ดำเนินงานตามแผนในโครงการทุกขั้นตอนและประเมินผลการดำเนินเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพในการบริการต่อไป
8.2.9 สรุปผลการดำเนินงานแต่ละโครงการ
8.3 ช่วงจัดตั้งเป็นบริษัทธุรกิจนำเที่ยว
8.3.1 รับสมัครนักศึกษาฝึกงานเข้าร่วม อย่างน้อย 20 คน แต่ไม่เกิน 30 คน
8.3.2 อบรมกระบวนการทำงานแก่ผู้ร่วมโครงการ
8.3.3 ตั้งเป้าหมายขายผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆที่เหมาะสม ตามความสามารถและตามการตอบสนองที่เป็นจริงทางการตลาดแต่ไม่ควรจะน้อยกว่า 10 ผลิตภัณฑ์ ตั้งราคาผลิตภัณฑ์ สร้างสรรค์ช่องทางจำหน่ายและดำเนินการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นอย่างเข้มข้น
8.3.4 กำหนดหน้าที่ของสมาชิกออกเป็นฝ่ายต่างๆ ในบริษัท โดยคำนึงถึงบุคลิกภาพและความสามารถของแต่ละคน เพื่อรับหน้าที่ในการประสานให้เกิดการเชื่อมโยงกิจกรรมทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
8.3.5ดำเนินกระบวนการด้านการเบิกจ่ายงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานช่วงเวลาที่กำหนดในโครงการ
8.3.6 การซักซ้อมและยืนยัน(Reconfirmation)แผนปฏิบัติงานก่อนการดำเนินงานตามโครงการ
8.3.7 จัดเตรียมเอกสารประเมินความพึงพอใจของลูกค้า
8.3.8 ดำเนินงานตามแผนในโครงการทุกขั้นตอนและประเมินผลการดำเนินเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพในการบริการต่อไป
8.3.9 สรุปผลการดำเนินงานแต่ละโครงการ

9.ระยะเวลา
-ช่วงทดลองดำเนินการ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2553
-ช่วงดำเนินการจริง ตลอดปีการศึกษา 2554
-ช่วงจัดตั้งเป็นบริษัทธุรกิจนำเที่ยว ปีการศึกษา 2555

10.แหล่งเงิน/จำนวนเงิน
10.1 ในช่วงทดลองดำเนินการ งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากภาควิชาฯ และรายรับจากลูกค้าภายในมหาวิทยาลัยและลูกค้าทั่วไป
10.2ช่วงดำเนินการจริง งบประมาณจากการลงทะเบียนของนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และรายรับจากลูกค้าทั่วไป
10.3ช่วงจัดตั้งเป็นบริษัทธุรกิจนำเที่ยว งบประมาณจากนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียน รายรับจากลูกค้าทั่วไปและผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจ

11.สถานที่ดำเนินงาน
ณ ภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม และในบริเวณ/สถานที่ซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นที่ตั้งดำเนินกิจการของบริษัททัวร์ต้นแบบ(DPU Holiday Co.Ltd.)

12.ผลผลิต/ผลลัพธ์
12.1 ช่วงทดลองการดำเนินคาดว่าจะมีลูกค้าประมาณโครงละ 20 คน รวม 3 โครงการ มีลูกค้าประมาณ 60 คน
12.2 การกำหนดโครงการเล็กๆแบบ One day trip จะทำให้สามารถควบคุมเป้าหมายการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงภูมิปัญญาและสัมผัสประสบการณ์อบสมุนไพร

รายรับ
ค่าทัวร์ 800 บาท/ คน x ลูกค้า 20 คน = 16,000 บาท
รายจ่าย
ค่าเช่าเหมารถมินิบัส ประมาณ 4,000 บาท + (ค่าอาหารกลางวัน 150 บาทx20 คน) +(ค่าอบสมุนไพร 30 บาท x 20 คน) +(ค่าวิทยากร 2,000 บาท + ค่าอาหารภูมิปัญญาสมุนไพร 1000 บาท) + น้ำดื่ม 500 บาท = 11,100 บาท
(คงเหลือกำไร เป็นเงินจำนวน16,000-11,100 บาท= 4,900 บาท)

12.3 ประเมินผลการดำเนินงานช่วงแรกทั้ง 3 โครงการ เพื่อหาผลลัพธ์สุทธิจากการดำเนินหมด
12.4 ในช่วงดำเนินการจริงและช่วงจัดตั้งเป็นบริษัทธุรกิจนำเที่ยว (สามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดตามสถานการณ์ที่เหมาะสมได้)

13.วิธีการประเมินผลและดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
13.1 คำนวณผลการดำเนินการแต่ละช่วงเพื่อประเมินผลการดำเนินงานแต่ละโครงการ
13.2ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของโครงการ แสดงออกมาเป็นผลกำไรในรูปของแต่ละโครงการซึ่งจะปรากฏออกมาเมื่อมีการสรุปผลการดำเนินงานภายหลังจากการดำเนินโครงการสิ้นสุดลง
(ร่าง)โครงการพัฒนาสื่อประชาสัมพันธ์จังหวัดพะเยาเสนอต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา
โดย : ดร. กฤษฎา พัชราวนิช คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากรและคณะ


1. หลักการและเหตุผล
จังหวัดพะเยา เป็นจังหวัดที่เก่าแก่และเคยรุ่งเรืองของประเทศไทย โดยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายร้อยปี หลักฐานประเภทเอกสาร ตำนานพื้นเมืองล้านนา อาทิ ตำนานเมืองเงินยางเชียงแสน (หรือเมืองหิรัญนครเงินยาง) กล่าวถึงความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานระยะแรกของชุมชนแคว้นไทย ตั้งแต่สมัยขุนลาวเคียง [1]บรรพบุรุษของขุนจอมธรรม กษัตริย์องค์แรกแห่งแคว้นพะเยา(จ.ศ.๔๕๘, พ.ศ.๑๖๓๙)[2]

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า จังหวัดพะเยาเป็นเมืองโบราณที่มีพัฒนาการยาวนานมาอย่างน้อย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ แล้ว จังหวัดพะเยาตั้งอยู่ในที่ราบเชียงราย-พะเยา ซึ่งมีแหล่งน้ำเป็นองค์ประกอบที่กำหนดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ในการตั้งถิ่นนฐานของชุมชน ได้แก่ กว๊านพะเยา หนองเล็งทราย ห้วยร่องทง ห้วยร่องเตี้ย ลำน้ำแม่อิง ลำน้ำแม่ปืม ลำน้ำแม่ต๊ำ ห้วยแม่ทุ่ม ลำน้ำแม่เหยี่ยน ห้วยร่องบ่อ ห้วยแก้ว แม่น้ำลาว แม่ น้ำยวน เป็นต้น[3] โดยเฉพาะที่ราบลุ่มรอบกว๊านพะเยาซึ่งปรากฏร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ (เมืองโบราณ) ที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบถึง๑๐แห่ง[4]

จังหวัดพะเยามีชื่อเรียกดั้งเดิมปรากฏอยู่ในตำนานและศิลาจารึกต่างๆ อาทิ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกว่า “เมืองพูยาว”[5] ตำนานพื้นเมืองพะเยาเรียกว่า “เมืองภูกามยาว”[6] หรือ “เมืองภุกามยาว”[7] หรือ “เมืองพะยาว” [8] ส่วนหลักฐานประเภทศิลาจารึกอักษรล้านนา อาทิ จารึกวัดอารามป่าญะ (พ.ศ.๒๐๓๘) เรียกตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยาในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๑ว่า “(พระเป็นเจ้า) เจ้าสี่หมื่นพยาว”[9] และจารึกเจ้าสี่หมื่นผู้เป็นปู่เลี้ยง(พ.ศ.๒๐๓๓) เรียกชื่อเมืองพะเยาว่า “เมิงพญาว”[10] จังหวัดพะเยาเคยเป็นราชธานีที่มีความเจริญรุ่งเรืองมิได้ด้อยไปกว่าราชธานีใกล้เคียงอื่นๆ จึงมีโบราณสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์มากมาย และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุนิยมของประเทศทางตะวันตกได้เข้ามามีบทบาทต่อประชาชนทำให้ประวัติศาสตร์ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ของจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นราชธานีเก่าแก่ที่สำคัญของชาติแห่งหนึ่งกำลังจะถูกลืมเลือนไป นอกจากประวัติความเป็นมาและประเพณีวัฒนธรรมอันสวยงามของจังหวัดพะเยาแล้ว จังหวัดพะเยายังมีแหล่งโบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเชิงธรรมชาติ รวมถึงภูมิปัญญาในการผลิตสินค้าต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวพะเยา อันเป็นที่ยอมรับและน่าชักชวนให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ได้หันมาท่องเที่ยวศึกษาสิ่งต่างๆ ในจังหวัด การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจะนำรายได้ และความภาคภูมิใจให้แก่จังหวัดทั้งในทางตรง และทางอ้อมอีกด้วย

ดังนั้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบสำคัญของจังหวัด ต้องทำการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ประวัติและประเพณีวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงสินค้ามีชื่อประจำจังหวัด เพื่อให้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางต่อไป

2. วัตถุประสงค์
2.1 ส่งเสริมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักจังหวัดพะเยา ในแง่มุมต่างๆ ได้มากขึ้น
2.2 เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งประวัติของโบราณสถาน และสถานที่ท่องเที่ยวในเชิงธรรมชาติให้แก่ประชาชน เพื่อชักจูงให้เข้ามาท่องเที่ยวและเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยผ่านสถานที่ อันเป็นมรดกชิ้นสำคัญของชาติไทยเรา
2.3 เผยแพร่ประวัติจังหวัด อันเป็นประวัติศาสตร์สำคัญส่วนหนึ่งของชาติ โดยเฉพาะ ประวัติเมืองพะเยา ซึ่งทั้งเคยเป็นราชธานีอันเก่าแก่และเป็นเมืองสำคัญในยุคต่อๆ มา โดยมุ่งหวังให้ประชาชนทั้งในจังหวัดและนักท่องเที่ยวทั่วไปได้รับรู้เรื่องราวอันสำคัญของจังหวัด
2.4 เผยแพร่สินค้าประจำจังหวัด เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ผลิตรายย่อยในจังหวัดโดยทางตรง

3. กรอบแนวคิด

แหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว สินค้าประจำจังหวัดจากภาครัฐ ประชาชน เอกชน การจัดทำวีซีดีและหนังสือ

4. ขอบเขตการดำเนินการพัฒนา

4.1 ขอบเขตด้านเนื้อหา

4.1.1 วีซีดีสารคดีแนะนำจังหวัดพะเยา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้แนะนำในเบื้องต้น และนำเสนอโดยพิธีกรและนักวิชาการ ทั้งนี้ แบ่งเป็น 4 แผ่น 4 เนื้อหาด้วยกัน คือ
· ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัดพะเยา นับตั้งแต่สร้างเมืองจนถึงปัจจุบัน พร้อมความคิดเห็นต่างๆ จากนักวิชาการและคนในจังหวัด จำนวน 1 แผ่น
· ประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัดพะเยา ตามท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัด จำนวน 1 แผ่น
· สถานที่ท่องเที่ยวทั้งโบราณสถาน วัดวาอาราม และสถานที่ท่องเที่ยวในทางธรรมชาติ รวมถึงวิธีการเดินทาง สถานที่พัก และงบประมาณในการท่องเที่ยว จำนวน 1 แผ่น
· สินค้าประจำจังหวัด ตั้งแต่สถานที่และกรรมวิธีในการผลิตอย่างคร่าวๆ ตลอดจนสถานที่ในการซื้อหาและราคาในแต่ละท้องถิ่นต่างๆของจังหวัด จำนวน 1 แผ่น รวมวีซีดี 4 แผ่นต่อ 1 ชุด

4.1.2 หนังสือแนะนำจังหวัดพะเยาโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา จำนวน 400 หน้า ต่อ 1 เล่ม แบ่งเนื้อหาเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ
· ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัดพะเยานับตั้งแต่สร้างเมืองจนถึงปัจจุบัน พร้อมภาพประกอบ
· ประเพณีวัฒนธรรมของจังหวัดพะเยาตามท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัด พร้อมภาพประกอบ
· สถานที่ท่องเที่ยวทั้งโบราณสถาน วัดวาอาราม และสถานที่ท่องเที่ยวในทางธรรมชาติ พร้อมภาพประกอบ รวมถึงแผนที่ วิธีการเดินทาง สถานที่พัก และงบประมาณในการท่องเที่ยว
· สินค้าประจำจังหวัดพร้อมภาพประกอบ โดยจะนำเสนอตั้งแต่สถานที่และกรรมวิธีในการผลิตอย่างคร่าวๆ ตลอดจนสถานที่ในการซื้อหาและราคาในแต่ละท้องถิ่นต่างๆของจังหวัด
4.2 ขอบเขตการเผยแพร่
4.2.1 มอบสื่อวีซีดีสารคดีและหนังสือแนะนำจังหวัดให้แก่ สำนักงานท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ
4.2.2 มอบสื่อวีซีดีสารคดีและหนังสือแนะนำจังหวัดให้แก่บริษัทนำเที่ยวทั่วไป
4.2.3 มอบสื่อวีซีดีสารคดี และหนังสือแนะนำจังหวัดไว้ประจำห้องโสตทัศนศึกษาห้องสมุดตามโรงเรียน พิพิธภัณฑ์ รวมถึงห้องสมุดทั่วไป
4.2.4 เผยแพร่สื่อวีซีดีในเคเบิลทีวีท้องถิ่น เพื่อเผยแพร่ไปยังโรงแรม หรือสถานที่พักต่างๆ
4.3 ขอบเขตด้านองค์กร องค์กรต่างๆทั้งภาครัฐ ประชาชนในเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา
4.4 ขอบเขตด้านระยะเวลา การพัฒนาครั้งนี้กำหนดขอบเขตระยะเวลาในการพัฒนาระหว่างเดือนสิงหาคม 2551 จนถึง เดือนมกราคม 2552 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน

5. แผนการดำเนินงานพัฒนา
การดำเนินงานประชาสัมพันธ์ ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยว และสินค้าประจำจังหวัดพะเยา แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้
5.1 ระยะที่ 1 ผลิตวีซีดีสารคดีแนะนำจังหวัด โดยเนื้อหาประกอบด้วยประวัติ ประเพณีวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว พร้อมทั้งวิธีการเดินทาง สถานที่พัก และสินค้าประจำจังหวัด โดยมีพิธีกรเป็นสื่อในการแนะนำเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ ซึ่งมีนักวิชาการเป็นผู้เรียบเรียงบทสารคดี
5.2 ระยะที่ 2 ผลิตหนังสือแนะนำจังหวัด โดยมีเนื้อหาประกอบด้วยประวัติ ประเพณีวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยวพร้อมทั้งแผนที่ วิธีการเดินทาง สถานที่พัก และสินค้าประจำจังหวัด โดยมีนักวิชาการเป็นผู้เรียบเรียงข้อมูล

6. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
6.1 ประชาชนทั่วไปรับรู้ประวัติศาสตร์ของไทยมากขึ้น โดยจะได้รับรู้ประวัติศาสตร์อีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่จังหวัดพะเยา หรือ “ภูกามยาว” อันเป็นราชธานีแห่งหนึ่งในอดีต
6.2 คนในจังหวัดพะเยารับรู้และภาคภูมิใจในความเป็นชาวจังหวัดพะเยามากขึ้น
6.3 สถานที่สำคัญที่คนทั่วไปไม่รู้จักได้ถูกเผยแพร่และมีนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
6.4 นักท่องเที่ยวสนใจในการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยามากขึ้น อันจะส่งผลมาถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดโดยทางตรง และเกิดการกระจายรายได้ลงไปยังท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดพะเยา
6.5 สินค้าประจำจังหวัดพะเยาถูกเผยแพร่และเป็นที่รู้จักยอมรับมากขึ้น ซึ่งจะยังผลให้สามารถจำหน่ายได้มากขึ้นทั้งในท้องถิ่นเอง และกระจายออกไปนอกจังหวัดได้อีกด้วย
6.6 นักท่องเที่ยวสามารถใช้สื่อที่จัดทำทั้งสองแบบเป็นคู่มือในการท่องเที่ยวจังหวัดพะเยาได้

7. คณะพัฒนา

· ดร. กฤษฎา พัชราวนิช คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร (หัวหน้าโครงการ)
· ดร. อัฏฐมา นิลนพคุณ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
· อ. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
· อ. พิทยะ ศรีวัฒนสาร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

*******************************************************
บรรณานุกรม
[1] สงวน โชติสุขรัตน์, ตำนานเมืองเหนือ. (พระนคร: แม่บ้านการเรือน, ๒๕๐๘) หน้า๒๑๒
[2] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒(๑), วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดพะเยา, (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๔๔), หน้า๓๑
[3] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒(๑), เรื่องเดิม, หน้า๒-๓
[4] สุรพล ดำริห์กุล, ล้านนา: สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรม. (กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา, ๒๕๔๒), หน้า ๒๒–๒๓
[5] อรุณรัตน์ วิเชียรเขียวและเดวิด เค. วัยอาจ, ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. (กรุงเทพฯ: โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์, ๒๕๔๓), หน้า ๒๒
[6] พระยาประชากิจกรจักร์, พงศาวดารโยนก. (กรุงเทพฯ: บุรินทร์การพิมพ์, ๒๕๑๖), หน้า๒๓๒
[7] สงวน โชติสุขรัตน์, เรื่องเดิม. หน้า๒๑๒
[8] สงวน โชติสุขรัตน์, เรื่องเดิม, หน้า ๒๑๒–๒๑๓
[9] โครงการวิจัยการปริวรรตและชำระจารึกล้านนา, จารึกภาค ๑เล่ม ๑ จารึกจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แพร่. มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิ้ลยู ทอมป์สัน จัดพิมพ์ ในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีพระชนมายุครบ๓รอบ พุทธศักราช๒๕๓๔, หน้า๑๑๕
[10] โครงการวิจัยการปริวรรตและชำระจารึกล้านนา, เรื่องเดิม, หน้า๑๘๗