จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สรุปคำบรรยายเรื่องการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมที่เมืองนครปฐม

เอกสารประกอบการนำชมวิชามรดกไทย
รวบรวมโดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ที่ตั้ง
นครปฐมเป็นจังหวัดในเขตภาคกลางตอนล่าง บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน ห่างจากกรุงเทพฯไปทางตะวันตก 56 กม. (ทางรถไฟ 62 กม.)
ทิศเหนือ ติดต่อกับ สุพรรณบุรี และ พระนครศรีอยุธยา
ทิศใต้ ติดต่อกับ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และ ราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ นนทบุรี อยุธยา และ กรุงเทพฯ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ราชบุรี กาญจนบุรี

ภูมิประเทศ
ตั้งอยู่บนที่ราบภาคกลางตอนล่าง บริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง พื้นดินค่อนข้างราบเรียบ ลาดเท ประมาณ 1-2 องศา สูงเฉลี่ยจากน้ำทะเลปากลาง ประมาณ 3 เมตร ขณะน้ำทะเลขึ้นสามารถหนุนให้เกิดน้ำท่วมบริเวณ อ.นครชัยศรี และ อ.สามพรานได้

ทรัพยากร
- ป่าไม้เบญจพรรณโรงเรียนการบินกำแพงแสน และวัดไผ่รื่นรมย์ เนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ประกอบด้วยไม้ไผ่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของไก่ป่า นกและชะมด
- ป่าตะโกหรือสวนรุกขชาติ เมืองเก่ากำแพงแสน (520 ไร่)
- ป่าไม้พื้นเมืองธรรมศาลา อ.เมือง(ยางนา ข่อย กร่าง มะดัน มะพลับ และ ฯลฯ มีกระรอก กระแต นก ลิงป่า
- ป่าเบญจพรรณวัดปลักไม้ลาย อ.กำแพงแสน(92 ไร่) ประกอบด้วยพญารากดำ ขี้อ้าย ตาลเสี้ยน และไม้ลาย

การคมนาคม
ในอดีตเมื่อยังไม่มีรถไฟกรคมนาคมทางบกใช้วิธีเดินเท้าเปล่า/เกวียน ส่วนการคมนาคมทางน้ำใช้เรือบด เรือสำปั้น เรืออีแปะ เรือแจว เรือมาด เรือข้าว เรือแท็กซี่ เรือยนต์ เรือพ่วง เรือกลไฟ สำหรับเรือหางยาวเริ่มใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ยังมีการเดินทางด้วยเรือโดยสารขนาดใหญ่ของบ.สุพรรณบุรีขนส่งลำน้ำนครชัยศรี เรียกว่าเรือแดง ตอนหลังเลิกกิจการไปเพราะการคมนาคมทางรถยนต์สะดวกกว่า

ทางรถไฟ
สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เชื่อมต่อจากสถานีตลิ่งชัน(ธนบุรี)มายังจ.นครปฐมที่อ.นครชัยศรี มีสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน) ที่ ต.ไทยาวาส และต.วัดแค ชื่อ “สะพานเสาวภา” และตัดตรงมายังสถานีนครปฐมทางด้านทิศเหนือห่างจากองค์เจดีย์ 1 กิโลเมตร

ประชากร
ไทยเชื้อสายจีน/ ลาว/ มอญ/ เขมร ผสมกลมกลืนกัน
อาชีพ
เกษตรกรรม,คนงานโรงงาน
สัตว์เศรษฐกิจ
สุกร เป็ด ไก่ โคนม โคเนื้อ เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด กุ้งน้ำจืด ตะพาบน้ำ และกบ
ทำนา
ชาวนครปฐมทำนากันมากในเขตอ.เมือง อ.นครชัยศรี อ.บางเลน อ.สามพราน และอ.ดอนตูม
ทำไร่
กำแพงแสน ดอนตูม (อ้อย ข้าวโพด ถั่ว กระชาย ขิง ผักกาด คะน้า ฯลฯ
ทำสวน
ส่วนใหญ่ ส้มโอ ขนุน ฝรั่ง ชมพู่ มะละกอ มะม่วง หน่อไม้ฝรั่ง ฯลฯ สวนกล้วยไม้ (เมือง/ นครชัยศรี/ สามพราน/ พุทธมณฑล/ และดอนตูม)

อุตสาหกรรม
โรงงานหีบอ้อย โรงสีข้าว โรงกลั่นสุรา โรงคราม อาหารสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง สิ่งทอ เสื้อผ้า
สำเร็จรูป โรงกลั่นน้ำมันพืช โรงงานสุรา ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์

สถานที่ท่องเที่ยว
พระปฐมเจดีย์ วัดไร่ขิง สวนสามพราน พระราชวังสนามจันทร์ พระประโทนเจดีย์ พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ลานแสดงช้างสามพรานและฟาร์มจระเข้ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ตลาดริมแม่น้ำนครชัยศรี การล่องเรือชมธรรมชาติริมน้ำ และเทศกาลงานประเพณีประจำในแต่ละท้องถิ่น

การปกครอง
7 อำเภอ คือ เมือง นครชัยศรี สามพราน ดอนตูม กำแพงแสน บางเลน พุทธมณฑล

สมัยก่อนประวัติศาสตร์
พบหลักฐานชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลายในท้องที่ เมืองกำแพงแสนโบราณ ซึ่งต่อมาชุมชนนี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมือง

สมัยประวัติศาสตร์
เมืองนครปฐมโบราณ
เดิมเชื่อว่าตั้งอยู่ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ แต่ในปี พ.ศ.2509 ศรีศักร วัลลิโภดม สุด แสงวิเชียร สินชัย กระบวนแสง และขรรค์ชัย บุนปาน ใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาอธิบายว่า เมืองนครปฐมโบราณตั้งอยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กม. ในพื้นที่บ้านคลองประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ศูนย์กลางของเมืองอยู่บริเวณวัดพระประโทนเจดีย์ปัจจุบัน

ลักษณะของเมืองนครปฐมโบราณ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนขนาดใหญ่มีลำน้ำพระประโทนไหลผ่านเมืองตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ตัวเมืองมีขนาด 2000x3600 เมตร รวมพื้นที่ 3,800 ไร่ ถือเป็นเมืองโบราณก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่ง มีคลองพระประโทนขุดเชื่อมคูเมืองทางทิศเหนือ-ใต้

โบราณสถานสำคัญพบน้อยเนื่องจากถูกทำลายระหว่างสร้างทางรถไฟสายใต้ โบราณสถานที่เหลืออยู่ ได้แก่ เจดีย์จุลประโทน เนินอิฐต่างๆ และวัดพระเมรุ
ในพ.ศ. 2526 ดร.ผาสุข อินทราวุธ นักโบราณคดีได้พบร่องรอยการอยู่อาศัยที่เมืองนครปฐมระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 11-16 แล้วถูกทิ้งร้างไป หลักฐานอื่นๆที่พบ ได้แก่ ตะเกียงดินเผาแบบทวารวดี

เมืองโบราณกำแพงแสน
ลักษณะเป็นเมืองโบราณ รูปสี่เหลี่ยมมุมมนขนาด 750x1000 เมตร (พื้นที่ 315 ไร่) มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีประตูเมือง 4 ประตู หลักฐานโบราณคดีที่พบ ได้แก่ฐานอาคารคล้ายที่พบในเมืองคูบัว พระพุทธรูปปูนปั้น หินบดยาทำด้วยหินทรายแดง(หินบดยาซึ่งพบที่อื่นส่วนมากเป็นหินสีเขียวหรือ สีดำ) และจารึกบนฐานธรรมจักรศิลาอักษรปัลลวะภาษาบาลี(พุทธศตวรรษที่ 13)
การค้นพบหลักฐานโครงกระดูกและลูกปัดกำหนดอายุ ประมาณ 4000 ปี ที่บ้านดอนตาเพชร จ.กาญจนบุรี และหลักฐานโบราณคดีที่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี บ่งชี้ถึงการติดต่อทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติจากอินเดีย

ในพุทธศตวรรษที่ 6 มีหลักฐานการรับพระพุทธศาสนาจากอินเดีย หลักฐานทางโบราณวัตถุอื่นๆที่พบในเมืองนครปฐม ได้แก่ ธรรมจักรศิลาและกวางหมอบ ตุ๊กตาปูนปั้นหน้าตาคล้ายชาวอินเดีย พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปขนาดต่างๆ ศิลาจำหลักรูปนรสิงห์ชันเข่า

ในพ.ศ.2502 พบเหรียญเงิน ที่ ต. พระประโทน 2 เหรียญ จารึกภาษาสันสฤกว่า “ศรีทวารวติปุณยะ”

พระปฐมเจดีย์
เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะเมื่อแรกสร้างคล้ายสถูปสาญจี อายุพุทธศตวรรษที่ 3-4 สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช

วัดพระเมรุ
รูปแบบแผนผังคล้ายอานันทเจดีย์ ในพุกาม เชื่อว่า อานันทเจดีย์อาจได้แบบอย่างไปจากวัดพระเมรุ

นครปฐมระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 11-16 (ยุครุ่งเรือง)
ภิกษุเหี้ยนจัง/ เหยียนจาง(Hieun Tsiang) หรือ พระถังซำจั๋ง ซึ่งเดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาที่อินเดียระหว่าง พ.ศ.1172-1180 และภิกษุ อี้จิง(I-sing) กล่าวถึง อาณาจักรโถโลโปตี้ว่าตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักร อีซานาซาล้อ(ทางทิศตะวันออก) อาณาจักรซิลิตาซาล้อ(ทางทิศตะวันตก) นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า โถโลโปตี้ คือทวารวดี อีซานาซาล้อ คือ อีสานปุระ และ ซิลิตาซาล้อ คือ ศรีเกษตร ภิกษุทั้ง 2มิได้มาถึงทวารวดีด้วยตนเอง เพียงแค่ได้ยินคำบอกเล่าของชาวอินเดีย

หลักฐานอื่นๆที่กล่าวถึงทวารวดี ได้แก่ ชินกาลมาลีปกรณ์ หนังสือมหาวงศ์(พงศาวดารลังกา) หนังสือมิลินทรปัญหา หนังสือกถสริตสาคร นอกจากนี้ยังมีจารึกอักษรปัลลวะภาษาบาลี พุทธศตวรรษที่ 11-12 (จารึกคาถาเยธัมมา) และจารึกอักษรปัลลวะภาษามอญพุทธศตวรรษที่ 12

นครปฐมระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 16-19 (ยุคเสื่อม)
สาเหตุความเสื่อม ได้แก่ ความแห้งแล้ง โรคระบาด ลำน้ำเปลี่ยนเส้นทางเดิน อาณาจักรอีสานปุระเริ่มมีอำนาจและเริ่มขยายอิทธิพลเข้ามายังภาคกลางแทนที่อาณาจักรทวารวดี เมืองต่างๆในภาคกลางที่ปรากฏหลักฐานในจารึกปราสาทพระขรรค์ ได้แก่ ลวปุระ ชัยปุระ วัชระปุระ สุวรรณปุระ ศรีชัยสิงหปุระ ศัมพูกปัฏนะ ฯลฯ อิทธิพลทางศิลปะขอมซึ่งปรากฏในเมืองนครปฐม คือ การบูรณะยอดเจดีย์ของพระปฐมเจดีย์ให้เป็นเจดีย์ยอดปรางค์ และยังปรากฏหลักฐานองค์เจดีย์จำลองทางด้านใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระประโทน

นครปฐมสมัยสุโขทัย
อาณาจักรกัมพูชาเริ่มเสื่อมอำนาจในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และเมื่อเสด็จสวรรคตในพ.ศ.1869 เมืองขึ้นต่างๆก็แยกตัวเป็นอิสระ รวมถึงชุมชนไทยต่างในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน

ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด ร่วมกัน ขับไล่อิทธิพลของกัมพาชาออกไปจากสุโขทัย
ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงเมืองต่างๆภายใต้อำนาจของอาณาจักรสุโขทัย ได้แก่ สระหลวง(พิจิตร) สองแคว(พิษณุโลก) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก(ชัยนาท) สุพรรณภูมิ(สุพรรณบุรี) ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช แต่ไม่ปรากฏชื่อเมืองนครปฐมว่าเป็นเมืองใต้อำนาจของสุโขทัย เนื่องจากถูกทิ้งร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16

ศิลาจารึกหลักที่ 2 ระบุว่าพระศรีศรัทธาราชจุฬามณีหลานพ่อขุนผาเมือง ได้บรูณะปฏิสังขรณ์และก่อสร้างพุทธศาสนสถานในเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยจำนวนมาก ครั้นออกผนวชได้เดินทางไปแสวงบุญที่ลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ.1873 และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาเถระศรีศรัทธาราชจุฬามณี ศรีรัตนสังกาทีปมหาสามี และเดินทางกลับสุโขทัยราวพ.ศ.1881-1893 โดยผ่านตะนาวศรี เพชรบุรี ราชบุรี นครพระกฤษณะ(กริส) และอโยธยาศรีรามเทพนคร จารึกหลักที่ 2 ระบุว่า พระมหาเถระศรีศรัทธาราชจุฬามณีได้ปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเรียกตามขอมว่า “พระธม”หมายถึง พระสถูปขนาดใหญ่ซึ่งปรักหักพังอยู่กลางป่า ณ เมืองเก่า ซึ่งพระมหาเถระศรีศรัทธาฯเรียกว่า “นครพระกฤษณ์” เดิมสูง 95 วา ท่านได้บูรณะเพิ่มสูงเป็น 102 วา ไมเคิล ไรท์ เป็นนักวิชาการอิสระคนแรกที่เสนอว่า “นครพระกฤษณ์”ในจารึกหลักที่ 2 คือ “เมืองนครปฐมโบราณ”

หลังสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏหลักฐานการกล่าวถึงเมืองนครปฐมอีก มีเพียงหลักฐาน การบรูณะพระปฐมเจดีย์และเจดีย์จุลประโทน โดยสร้างพระปรางค์บนองค์เจดีย์เป็นปรางค์แปดเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ประยูร อุลุชาฏะเสนอว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นศิลปะอู่ทองแห่งแคว้นสุพรรณภูมิ มิใช่ศิลปะอยุธยาตอนต้น

แคว้นสุพรรณภูมิปรากฏขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 หลังการสิ้นสุดของเมืองอู่ทองและเมืองนครชัยศรี เอกสารจีนเรียกเมืองสุพรรณภูมิว่า“เจนหลีฟู” หรือ “เสียน” “เจนหลีฟู” เคยส่งทูตไปจีนหลายครั้ง และเคยตกอยู่ในอำนาจของสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อสุโขทัยอ่อนแอจึงแยกตัวเป็นอิสระ ก่อนจะรวมกับกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.1893 จึงอาจเป็นได้ว่า ผู้ปกครองของสุพรรณภูมิได้เดินทางมาบูรณะพระปฐมเจดีย์ตามรูปแบบศิลปะแบบสุพรรณภูมิ

นครปฐมสมัยอยุธยา
นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธาเมื่อ พ.ศ.1893 จนถึงรัชสมัยพระยอดฟ้า (พ.ศ.2089-2091) นครปฐมยังไม่มีฐานะเป็นเมืองเช่นเดียวกับสมัยลพบุรีและสุโขทัย ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(พ.ศ.2091-2111) พระองค์โปรดฯให้ตั้งเมืองนครชัยศรีขึ้นตามชื่อของเมืองโบราณ
เมืองนครชัยศรีเป็นเมืองชุมชนค้าขายที่สำคัญ ขนาดเล็กตั้งอยู่ในเขต ต.ท่านา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งแยกตัวจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ไหลผ่าน ห่างจากเมืองนครปฐมโบราณประมาณ 10 กิโลเมตร

แม่น้ำนครชัยศรีมีหลายชื่อได้แก่ แม่น้ำสุพรรณบุรี และแม่น้ำท่าจีน ในสมัยนี้ เมืองนครชัยศรีมีฐานะเป็น เมืองจัตวา ผู้ปกครองเรียกว่า “ผู้รั้ง”ไม่เรียกเจ้าเมือง เพราะไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมือง ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของราชธานีอย่างใกล้ชิด ผู้รั้งมีราชทินนามว่า “ออกพระสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม” เมืองนครชัยศรีมีบทบาทน้อยในยามสงคราม เพราะที่ตั้งเมืองมิได้อยู่ในเส้นทางเดินทัพ ดังเช่นเมืองราชบุรี กาญจนบุรีและสุพรรณบุรี บทบาทของเมืองนครชัยศรีทางด้านเศรษฐกิจ คือ การส่งส่วยถ่าน

นครปฐมสมัยธนบุรี
เมืองนครชัยศรีมีความสำคัญขึ้น เนื่องจากพม่าเคยยกทัพผ่านตามเส้นทางราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครและนครชัยศรีสองครั้ง (พ.ศ. 2310 และพ.ศ. 2317) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเสด็จฯออกไปรับศึกโดยใช้เส้นทางคลองด่าน(คลองมหาชัย) ซึ่งเชื่อมระหว่างคลองบางกอกใหญ่กับแม่น้ำท่าจีน ที่สมุทรสาคร) การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เจ้าเมืองนครชัยศรีมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครชัยศรี นอกจากนี้พื้นที่ในเขตเมืองนครชัยศรี ยามว่างศึกยังเป็นที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ขุนนางผู้ใหญ่คุมไพร่พลออกไปบุกเบิกทำนาเพื่อรวบรวมเสบียงอาหารจำหน่ายจ่ายแจกแก่ราษฏร

นครปฐมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เศรษฐกิจ
ลุ่มแม่น้ำท่าจีนแขวงเมืองนครชัยศรีเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูง คือ น้ำตาลทรายซึ่งนานาชาติต้องการ สินค้าออกอื่นๆของสยาม ได้แก่ หนังสัตว์ ฝ้ายดิบ ไม้ยาง ครั่ง ดีบุก รังนก เป็นต้น น้ำตาลทรายเป็นสินค้าออกสำคัญระหว่างพ.ศ.2353-2391 ส่งผลให้ชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองนครชัยศรีมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองนครชัยศรี ประกอบด้วยชาวจีน ลาวและเขมร จำแนกเป็น พวกที่ตั้งใจมาแสวงหาอาชีพเลี้ยงปากท้อง คือ ชาวจีน กับพวกที่ถูกกวาดต้อนมา ได้แก่ ชาวลาว และเขมร ชาวจีนอพยพมาคราวละมากๆ โดยมักตั้งหลักแหล่งตามเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่เชื่อมกับอ่าวไทย อาทิ ลำน้ำแม่กลอง ลำน้ำนครชัยศรี ลำน้ำเจ้าพระยา ลำน้ำท่าจีน ลำน้ำบางปะกง อาชีพของชาวจีน คือ กรรมกร เลี้ยงสัตว์ ค้าขายและเพาะปลูก ในพ.ศ.2381 บาทหลวงอัลบรังค์(Albrand) ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทำให้ตำบลท่าข้ามริมแม่น้ำนครชัยศรีเป็นชุมชนชาวคริสต์(จีน) ขนาดใหญ่มาถึงปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการส่งชาวลาวเข้ามาในเมืองนครชัยศรีเป็นครั้งแรก เรียกว่า “ชาวลาวภูครั่ง”หรือ “ลาวครั่ง” ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองภูครั่งริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในเวลาปกติชาวลาวเหล่านี้มีหน้าที่ถูกเกณฑ์ไปตัดฟืนป้อนโรงหีบอ้อยหลวง ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดกบฏเขมรซึ่งรับการสนับสนุนจากญวณเป็นเหตุให้ไทยต้องรบกับญวณหลายปี สมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดให้กวาดต้อนชาวเขมรไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองนครชัยศรี มีหลักฐานเรียกว่า “ท่าเขมร”ใกล้สถานีรถไฟนครชัยศรีขณะนี้

นครปฐมสมัย ร.4-ร.7
เมื่อครั้งพระวชิรญาณภิกขุเสด็จฯธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์ ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในสยามและประเทศใกล้เคียง จึงกราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ 3ทรงปฏิสังขรณ์ เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศ แต่รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดเนื่องจากยังเป็นป่ารกอยู่ เมื่อรัชกาลที่ 4 ครองราชย์ จึงโปรดฯให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นแบบองค์ระฆัง ไม่มีฐานทักษิณ สูง 17 วา 2 ศอกครอบเจดีย์องค์เดิม โดยใช้ทั้งอิฐใหม่และรับซื้ออิฐเก่าจากราษฎรที่ไปรื้อมาจากวัดโบราณ

ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2403 พระเจดีย์องค์ใหม่ที่สวมทับเจดีย์องค์เดิมได้ทรุดพังลงมาเนื่องจากฝนตกใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้บูรณะขึ้นมาใหม่ มีการแก้ปัญหาการทรุดพังของพระเจดีย์ด้วยการใช้ไม้ซุงทั้งต้นปักเรียงกัน แล้วรัดด้วยโซ่ขนาดใหญ่เป็นเปลาะๆ เสร็จแล้วจึงก่ออิฐถือปูนหุ้มด้านนอกและเปลี่ยนฐานเจดีย์ให้กว้างขึ้น พร้อมกันเพิ่มส่วนสูงของพระเจดีย์ขึ้นเป็น 102 เมตร ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศ เชื่อมด้วยระเบียงกลมล้อมรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ถัดจากระเบียงเป็นลาน มีหอสงฆ์ 24หอ มีการจำลองพระเจดีย์องค์เดิม พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เขามอ หอกลอง และปลูกต้นศรีมหาโพธิ์
ทางด้านตะวันออกติดกับบริเวณพระปฐมเจดีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างพระราชวังปฐมนครสำหรับประทับเมื่อเสด็จฯมานมัสการพระปฐมเจดีย์ พระราชวังนี้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อสิ้นรัชกาล ในสมัยนี้มีการอพยพลาวโซ่งจากเพชรบุรีมาอยู่ที่กำแพงแสน และ บางเลน

รัชกาลที่ 5
การบูรณะพระปฐมเจดีย์สำเร็จลุล่วงและมีพิธียกยอดนภศูลเมื่อพ.ศ.2413 ยอดนภศูลหล่อจากโลหะทองเหลือง มีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น โดยรวมเมืองนครชัยศรี เมืองสุพรรณบุรีและเมืองสมุทรสาครเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาโจรผู้ร้ายและการทิ้งบริเวณพระปฐมเจดีย์ให้เป็นเมืองร้าง เนื่องจากแรงงานบูรณะพระปฐมเจดีย์อพยพกลับภูมิลำเนา

พ.ศ.2441 โปรดฯให้ย้ายที่ทำการมณฑลนครชัยศรีไปยังบริเวณพระปฐมเจดีย์และโปรดฯให้บูรณะพระราชวังปฐมนครเป็นที่ตั้งมณฑลนครชัยศรี ส่งผลให้เมืองนครชัยศรีริมแม่น้ำนครชัยศรีซบเซา ขณะที่พื้นที่รอบๆพระปฐมเจดีย์กลับขยายตัวอย่างรวดเร็ว

การเสด็จประพาสต้น
ครั้งแรก พ.ศ. 2447 เสด็จฯจากพระราชวังบางปะอิน ไปมณฑลราชบุรี แล้วกลับมามณฑลนคร ชัยศรี และมณฑลอยุธยา
ครั้งหลัง พ.ศ.2449 เสด็จฯจากกรุงเทพฯไปสระบุรี กลับมาบางปะอินไปเมืองอ่างทอง อุทัยธานี นครสวรรค์ จนถึงกำแพงเพชร
เมื่อครั้งเสด็จฯประพาสต้นที่นครชัยศรี ทรงปลอมพระองค์เสวยกระยาหารที่บ้านยายผึ้ง เจ๊กฮวด ลูกชายยายผึ้งเห็นพระพักตร์คล้ายกับรูปในหลวงที่ชายฝา เมื่อนำมาเทียบแล้วร้องเอะอะขึ้น จึงรู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเสด็จฯกลับถึงพระนครก็โปรดฯให้สร้างเรือนขึ้นในพระราชวังดุสิด สำหรับต้อนรับ “เพื่อนต้น” ที่ทรงเชิญไปเยี่ยม โดยเพื่อนต้นบางคนยังเข้าใจว่า เป็นเพื่อนคบหาสมาคมในพระนคร ต่างหิ้วชะลอมปลาแห้งผลไม้ไปฝาก เมื่อไปถึงก็ตกใจรู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเมตตาบารมีของพระพุทธเจ้าหลวงเป็นที่สรรเสริญไปทั่วทั้งแผ่นดิน
รัชกาลที่5 โปรดฯให้ขุดคลองเจดีย์บูชา คลองนราภิรมย์ คลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระยาบรรฤา และโปรดฯให้สร้างทางรถไฟตัดเข้ามาในชุมชนแถบพระปฐมเจดีย์

รัชกาลที่6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญแก่เมืองนครปฐมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรงครองราชย์ได้ 3 เดือน มีการขุดพบแผ่นสำริด รูปกระบี่และครุฑสำหรับติดด้ามธงของพระมหากษัตริย์สมัยโบราณบริเวณวัดพระประโทนเจดีย์ เปรียบได้กับพระมหากษัตริย์ทรงได้ช้างเผือกมาสู่บารมี พระองค์ได้สร้างพระราชวังสนามจันทร์เพื่อเป็นที่ประทับแปรพระราชฐาน และทรงริเริ่มฝึกการรบแบบเสือป่า ทำให้ทรงผูกพันกับเมืองนครปฐมตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ทรงครองราชย์ทำให้เมืองนครปฐมเจริญรุ่งเรืองมาก พระราชพินัยกรรมข้อสุดท้ายยังโปรดเกล้าฯให้แบ่งพระบรมราชสรีรังคารส่วนหนึ่งมาบรรจุยังห้องพระวิหารทิศเหนือ ด้านติดกับพระร่วงโรจนฤทธิ์ และเมื่อครั้งดำรงพระยศ เป็นพระบรมโอรสาธิราชรัชกาลที่6 ก็ยังทรงรับเป็นพระราชธุระ ในการนำกระเบื้องเคลือบสีทองจากจีนมาประดับองค์พระปฐมเจดีย์ด้วย

การปฏิสังขรณ์พระเจดีย์สมัยร.๖
- โปรดให้ซ่อมแซมพระวิหารหลวง
- ให้เขียนภาพพระปฐมเจดีย์ไว้ที่ผนังด้านใน พระวิหารหลวง แสดงลักษณะองค์พระปฐมเจดีย์เมื่อแรกสร้างจนถึงปัจจุบัน
- ให้ขยายบันไดได้ทิศเหนือให้กว้างขึ้น
- ให้สร้างราวบันไดเป็นรูปพญานาคเลื้อยแผ่แม่เบี้ย
- ให้หล่อพระโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร และประดิษฐานเมื่อ มกราคม 2457 (วิหารทิศเหนือ)
- พระราชทานชื่อถนน 4ด้าน นอกบริเวณองค์พระดังนี้

ทิศ E ถนนหน้าพระ
ทิศ N ถนนซ้ายพระ
ทิศ S ถนนขวาพระ
ทิศ W ถนนหลังพระ

- ให้สร้างสะพานข้ามคลองเจดีย์บูชาซื่อสะพานเจริญศรัทธา
- ให้ตัดถนนจากหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ ตรงไปยังวัดพระประโทน

การสร้างพระราชวังสนามจันทร์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นบริเวณสระน้ำจันทร์ ซึ่งเป็นสระโบราณใกล้ซากเนินปราสาทห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันตกประมาณ 2 กม. เนื่องจากมีธรรมชาติอันรื่นรมย์งดงาม พระราชวังสนามจันทร์ประกอบด้วย พระที่นั่ง 5หลัง และพระตำหนักต่างๆ 4 หลัง มีศาลาธรรมะและเทวาลัยพระคเณศวร์ รูปแบบการก่อสร้างมีทั้งศิลปกรรมไทย ยุโรปและแบบประยุกต์ ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งพัชรีรมยา พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ พระตำหนักทัยแก้วและพระตำหนักทัยขวัญ

พ.ศ.2456 โปรดเกล้าฯให้ยกตำบลพระปฐมเจดีย์ ขึ้นเป็นอำเภอพระปฐมเจดีย์ แล้วให้เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองนครชัยศรีเป็น อ.นครชัยศรี แล้วเปลี่ยนชื่ออำเภอพระปฐมเจดีย์เป็นอำเภอเมืองนครปฐม โดยชื่อมณฑลยังคงเรียกว่ามณฑลนครชัยศรี และโปรดฯให้รวมมณฑลหลายๆมณฑลขึ้นเป็นภาคได้แก่ ภาคพายัพ ภาคตะวันตก ภาคใต้และภาคอีสาน แต่ละภาคให้มีอุปราช เป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มิได้ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย ในสมัยนี้มีการริเริ่มให้มีตลาดนัดขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประชาชน

รัชกาลที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกพระราชวังสนามจันทร์ให้ เป็นที่ตั้งของทางราชการมณฑลนครชัยศรีตั้งแต่ พ.ศ.2469 เมื่อทรงยุบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ก็ทำให้เมืองนครปฐมมีบทบทน้อยลง และโปรดให้สร้างพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์โดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติทรงออกแบบ

แหล่งน้ำ
แม่น้ำนครชัยศรี
มีต้นกำเนิดออกมาจากการแยกออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ไหลผ่าน จ.สุพรรณบุรี เรียกแม่น้ำสุพรรณ ไหลผ่านจังหวัดนครปฐม เรียกแม่น้ำนครชัยศรี และไหลผ่านจังหวัดสมุทรสาคร เรียกแม่น้ำท่าจีน ยาว 325 กม.
มรดกทางวัฒนธรรม

พระธรรมจักรศิลา และกวางหมอบ
พบจำนวนมาก ลักษณะลวดลายเป็นแบบคุปตะ และหล่อคุปตะ(พุทธศตวรรษที่ 10-11)
พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี
พระเกศาขมวดเป็นวงใหญ่ พระพักตร์แบน พระขนงทำเป็นเส้นนูนโค้งต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรโปน พระโอษฐหนา นิยมสร้างปางแสดงธรรม ปางนั่งห้อยพระบาท และปางสมาธิ
พระพุทธรูปประทับนั่ง หรือยืนเหนือพระพนัสบดี
พระพนัสบดี เป็นสัตว์มีปากเหมือนครุฑ มีเขาและหูอย่างโค มีปากเหมือนหงส์ สัตว์ทั้งสามเป็นพาหนะของพระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม
ตราประทับรูปเรือทำจากดินเผา
เหรียญเงินจารึกสมัยทวารวดี
แผ่นสำริดรูปกระบี่ และครุฑสมัยลพบุรีอายุพุทธศตวรรษที่ 16 ราษฎรขุดพบ(บางแห่งว่าพระอธิการวัดพระประโทนเป็นผู้พบ) เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์(ชม สุนทรชุน) เมื่อครั้งเป็นพระยาสุนทรบุรี สมุห์เทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2453 คราวสมโภชพระปฐมเจดีย์และพระราชวังสนามจันทร์ จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดเครื่องประกอบเป็นธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์น้อยขึ้น

โบราณสถานสำคัญ
วัดพระเมรุ(พุทธศตวรรษที่ 12-16)
ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ก่อนการขุดแต่งทางโบราณคดี สูงประมาณ 10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เมตร ต่อมาในปีพ.ศ.2404 พระปลัดทอง พระอธิการวัดกลางบางแก้ว ร่วมกับพระบุญ (ต่อมาเป็นพระพุทธวิถีเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว) ได้ขอแรงชาวบ้านไปขนอิฐจากวัดพระเมรุมาบูรณะพระปฐมเจดีย์ และได้พบพระพุทธรูปศิลาขาวขนาดใหญ่ จึงนำมาประดิษฐานยังพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรมประทับนั่งห้อยพระบาททั้งสองข้าง(ภัทรลีลาสนะ) มีฐานบัวรองรับพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลาซ้าย พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์ออก ปลายพระอังคุธุกับพระดัชนี(นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ )จรดเข้าหากันส่วนนิ้วที่เหลือกางออก รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามวัดพระเมรุใหม่ว่า “สวนนันทอุทยาน”

พ.ศ.2481-2482 กรมศิลปกรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศโดยการควบคุมของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์และนายปีแอร์ ดูปองค์ ได้ขุดแต่งวัดพระเมรุ พบว่า เป็นซากฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้างยาวด้านละ70 เมตร มีทางขึ้น 4 ด้าน มีมุขยื่นออกมา 4 มุข สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ ด้านละองค์รวม 4องค์ ปรากฏฐานพระเหลืออยู่ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ ระหว่างมุขทำเป็นระเบียงคด มีร่องรอยการมุงหลังคาโดยรอบ
ในปี 2527-2528 กรมศิลปกรได้ขุดแต่งโบราณสถานวัดพระเมรุอีกครั้งหนึ่ง

วัดพระประโทนเจดีย์
ลักษณะเป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ ร่วมสมัยวัดพระเมรุ และพระปฐมเจดีย์ สูงประมาณ 50 เมตร กว้าง 60 เมตร

เจดีย์จุลประโทน
อยู่ทางตะวันออกของพระปฐมเจดีย์ ห่างออกไปประมาณ 4-5 กม.

ตลาด
- ตลาดสายหยุด (ร.6)
- ตลาดยี่สาน(ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ที่ว่าระหว่างองค์พระกับคลองเจดีย์บูชา
- ตลาดชุมชน
- ตลาดกลางคืนที่องค์พระปฐมเจดีย์ (ด้านใต้)

พระตำหนักทับขวัญ
เป็นเรือนแบบภาคกลางสำหรับให้ชาวบ้านเข้าเฝ้าฯเดิมสร้างด้วยไม้สักทอง หลังคามุงจาก เป็นเรือนหมู่ 8 หลัง มีชานแล่นกลาง ปัจจุบันเป็นหลังคามุงกระเบื้อง

อนุสาวรีย์ย่าเหล
เป็นสุนัขโปรดของรัชกาลที่ 6 มีความเฉลียวฉลาดและจงรักภักดีมาก โปรดฯพระราชทานเงินเดือนให้ทุกเดือน เมื่อคราวสร้างเรือรบหลวงพระร่วง ย่าเหลก็บริจาคเงินสมทบด้วย ย่าเหลถูกริษยามาก ในที่สุดก็ถูกยิงตายขณะที่หนีออกไปเที่ยวนอกเขตพระราชฐาน รชกาลที่6 โปรดฯให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พร้อมพระราชนิพนธ์ไว้อาลัยที่ฐานอนุสาวรีย์

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร มีพระปฐมเจดีย์เป็นปูชนียสถาน สำคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย(จากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ) ฐานโดยรอบ 235.50 เมตร คดระเบียงโดยรอบ 562 เมตร กำแพงแก้วโดยรอบ 912 เมตร ซุ้มระฆังบนลานเจดีย์ 24 ซุ้ม ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีชั้นลดทั้ง 4ทิศ จากชั้นลดไปเป็นชั้นลานประทักษิณถัดไปเป็นฐานเขียง องค์ระฆัง ทั้ง 4ทิศ ถัดไปเป็นบังลังก์ เสาหาน บัวถลาหน้ากระดาน ปล้องไฉน(27ปล้อง) ปลียอด เม็ดน้ำค้าง นพศูล และมงกุฎ

ประวัติพระปฐมเจดีย์
คัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า “ให้พระโสณเถระกับพระอุตตรเถระ ไปยังสุวรรณภูมิ” นักวิชาการเชื่อว่า สุวรรณภูมินี้น่าจะเป็น ดินแดนที่เมืองนครปฐมโบราณตั้งอยู่
ระยะก่อสร้างและปฏิสังขรณ์
1. สมัยสุวรรณภูมิ พ.ศ.300-1000
2. สมัยทวารวดี พ.ศ.1000-1600
3. สมัยถูกทิ้งร้างจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
มีหลักฐานทางธรณีวิทยาระบุว่า มีการรื้อทำลายเจดีย์ เพื่อสร้างทางรถไฟ จากสถานีธนบุรี-นครปฐมเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 500เมตร
ปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์
มีความเชื่อว่าเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาจะเกิด ฉัพพรรณรังสีปรากฏที่องค์พระปฐมเจดีย์ ตำนานพระยากงพระยาพานกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 568 พระยาพานได้ทำปิตุฆาตโดยไม่เจตนา ปุโรหิตและอริยสงฆ์จึงกราบทูลฯให้สร้าง เจดีย์สูงใหญ่เท่านกเขาเหิร เพื่ออุทิศกุศลแก่บิดา เจดีย์ดังกล่าว สูง 42 วา 2ศอก พระยาพานได้เห็นปาฏิหารย์ฉัพพรรณรังสว่างไปทั่วบริเวณที่สร้างเจดีย์ด้วย

พ.ศ. 2374 พระวชิรญาณภิกขุได้เสด็จฯธุดงค์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ มายังเมืองนครปฐม ทรงปักกลดที่โคนต้นตะคร้อทางทิศเหนือ และเสด็จฯขึ้นสวดมนต์บนลานพระปฐมเจดีย์ แล้ว อธิษฐานว่า ถ้าพระเจดีย์องค์นี้มีพระบรมสารีริกธาตุ ขอเทพยาดาผู้รักษาจงได้แบ่งให้สัก 2องค์ เพื่อนำไปบรรจุพระพุทธรูปที่สร้างใหม่ แล้วรับสั่งให้นายรื่น มหาดเล็ก นำผอบใส่พานขึ้นตั้งไว้ ในโพรงด้านทิศตะวันออก ในตอนบ่ายวันเสด็จฯกลับก็ให้ไปอัญเชิญแต่ก็ไม่มีพระบรมสารีริกธาตุปรากฏ หนึ่งเดือนผ่านไปหลังเสด็จฯกลับ คืนหนึ่งขณะที่พระสงฆ์สวดมนต์ที่หอพระวัดมหาธาตุได้ครึ่งทาง ก็เกิดกลุ่มควันสีแดงกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นธูปพวยพุ่งออกมา พระสงฆ์ทั้งปวงลุกขึ้นไปดู ก็ไม่เห็นอะไร จึงสวดมนต์ต่อไปจนจบ พอควันจางก็ช่วยกันค้นดูว่ามีใครสุมไฟหรือไม่ ก็ไม่พบ วันรุ่งขึ้นจึงไปกราบทูลฯให้ทรงทราบ พระองค์จึงเสด็จฯทอดพระเนตรพระพุทธนวรัตน์ ที่ทรงสร้างไว้ ได้พบพระธาตุเพิ่มขึ้นจากเดิม 2องค์ รับสั่งถามผู้ใดก็ไม่มีใครทราบ จึงโปรดฯให้บรรจุไว้ในพระสัมพุทธพรรณีองค์หนึ่ง ในเจดีย์สุวรรณผลึกอีกองค์หนึ่ง และทรงเกิดศรัทธาที่จะบูรณะพระปฐมเจดีย์ ครั้นครองราชย์ได้ 2ปี ก็ทรงบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์โดยโปรดฯให้ สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นแม่กอง เมื่อถึงพิราลั้ยก็โปรดฯให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีเป็นแม่กองดำเนินการต่อไป
พ.ศ.2400 ร.4 เสด็จฯมาก่อพระเจดีย์เป็นปฐมฤกษ์แล้วโปรดฯให้ตั้ง “ขุนพุทธเกษตรานุรักษ์” และ “ขุนพุทธจักรรักษา” และ “หมื่นฐานาภิบาล”เป็นผู้ดูแล ข้าพระจำนวน 126 คน พ.ศ. 2407 เมื่อเสด็จฯมา พระราชทานผ้าพระกฐินก็ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ ฉัพพรรณรังสี ในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์

รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ พระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ.ศ 2450 ขณะประทับที่วังสนามจันทน์ พร้อมกับมหาดเล็ก และข้าราชการจำนนวน 69 คน ลักษณะเป็นรัศมีที่สว่างพราวทั้งองค์ ดูประหนึ่งว่าองค์พระทาด้วยฟอสฟอรัส ตั้งแต่ใต้คอระฆังลงมา เล็กน้อย ขึ้นไปถึงยอดมงกุฎ และมีรัศมีพวยพุ่งขึ้นไป 3-4 วา นาน 17 นาที พอดับก็มองไม่เห็นองค์พระเจดีย์ วันรุ่งขึ้นจึงทรงนิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป สวดมนต์เย็นในวิหาร

ลานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
มีเจดีย์เล็กๆบนเขามอ เป็นที่เก็บอัฐิของพลเสือป่าเชื้อบ้านเชียงราก ซึ่งเสียชีวิตจากการตกน้ำ
ขณะซ้อมรบเสือป่าที่สระน้ำใกล้พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ นอกจากนี้ยังมีต้นตะคร้อ ซึ่งเป็นที่ปักกลดของสมเด็จพระวชิรญาณภิกขุ มีแท่นหินอ่อนประดิษฐานอยู่ (มองตามช่องบันไดลงไปทางซ้ายมือ)

วิหารทิศ
วิหารN - พระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ธรรมโมภาสมหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร
วิหารE - ห้องนอกมีพระพุทธรูปปางตรัสรู้ ในซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลังเป็นจิตรกรรม สีน้ำมันรูป
ต้นโพธิ์ฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร ห้องใน ด้านE เป็นภาพพระปฐมเจดีย์ของเดิม ซ้อนในองค์ปัจจุบัน ด้าน N-S เป็น
ภาพเทวดา คนธรรพ์ ฤๅษี ครุฑ นาค ( ร.6 ให้เขียน)
วิหารS - ห้องนอกเป็นพระปางปฐมเทศนา พร้อมปัญจภาคี ห้องในเป็นปางนาคปรก ลานชั้น
ลดด้านใต้มีสิ่งสำคัญคือ พระปฐมเจดีย์จำลอง(องค์เดิม),พระพุทธรูปศิลาขาว(ขนาด
และพุทธลักษณะคล้ายพระประธานในโบสถ์)ชื่อว่า พระพุทธนรเชษฐเศวตอัศศมัยมุนี ศรีทวารวดี ปูชนียบพิตร และพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชจำลอง

ต้นไม้ในพุทธประวัติ
ไม้ศรีมหาโพธิ ดร.ยอห์น สไคว์นำเมล็ดจากต้นโพธิพุทธคยมาถวาย ร.4 ทรงปลูกหน้าวิหารพระนอน 1 ต้น(W) และมุมทิศNE SE NW SW อย่างละต้น
ไม้ราชายตนะ(ไม้เกด) พระพุทธเจ้าทรงรับสัตตูก้อนสัตตูผงของนายตปุลลภัลลิกะ หลังตรัสรู้ ได้ 48 วัน
ไม้นิโครธ พระพุทธเจ้าทรงประทับใต้ร่มไม้นี้ 7 วัน หลังจากประทับใต้ต้นโพธิ์
ไม้ มุจลินท์(จิก ) พระพุทธเจ้าประทับแล้วเกิดฝนตกหนักพญานาคทำกายคดเป็นวงล้อมไว้
ไม้พหูปุตตนิโครธ(กร่าง) พระพุทธเจ้าประทับแล้วได้พบกับพระมหากัสสป
ไม้สาละ พระพุทธเจ้าประสูติ และปรินิพพาน และประทับก่อนตรัสรู้
ไม้ชมพู(หว้า) พระพุทธเจ้าประทับเมื่อตามพระราชบิดาไปแรกนา ขณะทรงพระเยาว์
ไม้อัมพวา(มะม่วง) พระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์

ภูมิปัญญาท้องถิ่น จ. นครปฐม
เครื่องปั้นดินเผา

- บ้านโรงหวด หมู่ที่ 2 ต.งิ้วราย อ.นครชัยศรี ทำเครื่องปั้นดินเผา ที่เรียกว่า “หวด”นึ่งข้าวเหนียวปัจจุบันไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ เนื่องจากมีผู้ใช้น้อยลง
- การปั้นเตาอั้งโล่ ต.ลำเหย อ.ดอนตูม จ.นครปฐม พบทั่วไปช่างปั้นเป็นทั้งคนในท้องถิ่นและแรงงานจากอีสาน
เครื่องจักสาน
- ช่างจักสาน นิยมใช้ไผ่สีสุก เนื่องจากเนื้อเหนียวคงทนมาก ผ่าและจักเป็นตอกได้ง่าย สานเป็นกระบุง งอบ พ้อมข้าว หมวกเจ๊ก ปานเผือน(ใส่อาหารเซ่นผี) ปานขวัญ(ใส่เครื่องบูชาขวัญ) ตะข้อง กะแหล็บ(ใส่สิ่งของประจำตัวสตีเวลาออกนอกบ้าน) แอบและกล่องข้ว(บรรจุข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วเวลาออกนอกบ้าน) กระด้งฝัดข้าว สุ่มจับปลา ฯลฯ

การทอซิ่น(บ้านเกาะแรด หมู่ที่ 11 ต.บางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม)
การทอผ้าของไทยโซ่งมีทั้งทอด้วยฝ้ายและไหม แต่ผ้าทอด้วยฝ้ายนิยมมากกว่าไหม เพราะหาง่าย ราคาถูก ส่วนไหมเป็นวิถีผลิตยุ่งยาก เพราะต้องเลี้ยงไหมอง แต่ก็มีการทอไหมบ้างเล็กน้อย เพื่อนำมาประดับเป็นลวดลายบนผ้า ฝ้ายที่จะนำมาทอเป็นซิ่นต้องย้อมให้เป็นสีดำแดงและฟ้าอ่อนเสียก่อน เส้นฝ้ายสีแดงนำมาทอเป็นเส้นยืน ฝ้ายสีดำเป็นเส้นพุ่ง และฝ้ายสีอ่อนทำเป็นลายผ้าซิ่น การสลับสีทำให้ง่ายแก่การทอ เมื่อทอเป็นผืนแล้วจะไม่เห็นเส้นฝ้ายสีแดงเลย

ถลกบาตรและขาตั้งบาตร
นายสมเกียรติ ทองมูล หมู่ 8 ต.ห้วยหมอนทอง อ.กำแพงแสน ศึกษาการทำถลกบาตร และขาตั้งบาตร จากพระอาจารย์สำโรง พระธุดงค์ ซึ่งมาจากวัดจันทราวาส จ.จันทบุรี ต่อมาได้ทำเป็นอาชีพ และถ่ายทอดแก่ชาวบ้านทั่วไป

อาหารพื้นเมือง
ผลิตภัณฑ์จากหมูเช่นข้าวหมูแดง ร้านฮะเส็ง ในตลาดล่างริมสะพานเจริญศรัทธา ลูกชิ้นหมูนายเต็กกอ เป็ดพะโล้ร้านนายสมชัย(อ.นครชัยศรี) ร้านนายหนับและนายโอ (ตลาดดอนหวาย สามพราน) ไก่ย่างพื้นบ้าน หรือไก่อบฟาง ริมถนนเพชรเกษมขนมจีนน้ำยา/น้ำพริกสำเร็จรูป บ้านโคกพระเจดีย์ (นครชัยศรี) บ้านหนองดินแดง(อ.เมือง)

โต๊ะจีน
จานเย็น ไก่ต้มสับ ห้อยจ้อ ผัดผักกาดกับกุ้ง หมู ปลาหมึก ปลิงทฃะเล หูฉลามไข่นกกระทา ต้มยำกุ้ง เป็ดน้ำแดง ปลานึ่งมะนาว ข้าวผัด และขนมแปะก๊วย

ผลไม้
ผลไม้ที่มีชื่อคือ ส้มโอนครชัยศรี(ทองดี ขาวแป้น ขาวพวง ขาวน้ำผึ้ง)มีแหล่งผลิตที่นครชัยศรี และสามพราน มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่เพชรน้ำผึ้ง ส้มเขียวหวาน (สวนส้มแสงทอง) กล้วยหอม มะม่วง ขนุนเหลืองบางเตย ฝรั่งกลมสาลี่ ลำไยสวนนราภิรมย์(ลำไยทวาย)

ต้นยางสามยอดเก้าคนโอบที่ ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.นครปฐม

ข้าวหลาม

การทำสวน
นิยมทำสวนที่ฝั่งเลน(ฝั่งดินบอก) เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ มักทำสวนแบบยกร่อง รอบแปลงที่ปลูกพืช

เตาแก๊สขี้หมู
นำขี้หมูบรรจุถังขนาดใหญ่ ฝังดินก่อให้เกิดแก๊สติดไฟ นำมาเป็นเชื้อเพลิงทำอาหารได้ สามารถเติมขี้หมูได้เป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดแก๊สตลอดไป
ตลาดน้ำ ตลาดดอนหวาย (สามพราน) ตลาดลำพญา(บางเลน) แต่ละตลาดมีเรือนำเที่ยวทางน้ำด้วย โดยมีชมรม “เรารักแม่น้ำท่าจีน(นครชัยศรี)" เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

สรุปคำบรรยายเรื่องการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมที่เมืองราชบุรี

เอกสารประกอบการทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรี
รวบรวมโดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
วิชามรดกไทย


ภูมิศาสตร์
ราชบุรีตั้งอยู่ทางภาคตะวันตก ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 100 กม. มีแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายหลัก
ทิศเหนือ อ.ท่าม่วง อ.ท่ามะกา อ.เมือง (กาญจนบุรี)
ใต้ อ.เขาย้อย(เพชรบุรี)
ตะวันออก อ.สามพราน อ.บ้านแพ้ว(สมุทรสาคร) อ.เมืองสมุทรสงคราม อ.อัมพวา
(สมุทรสงคราม)
ตะวันตก อ.เมตตา อ.ทวาย(พม่า) ซึ่งมีชายแดนยาว 73 กม.

ภูมิประเทศ มี 3 ลักษณะ
ที่ราบสูง ชายแดนพม่า มีเทือกเขาตะนาวศรี และภูเขาใหญ่น้อยสลัยซับซ้อนตั้งอยู่ในเขต
อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง อ.ปากท่อ กิ่งอ.บ้านคา
ที่ราบลุ่ม ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ได้แก่ อ.เมือง อ.โพธาราม อ.บ้านโป่ง
ที่ราบต่ำ ตอนปลายของลุ่มน้ำแม่กลองมีน้ำทะเลหนุน ได้แก่ ปากแม่น้ำแม่กลอง คลองดำเนินสะดวก แม่น้ำอ้อม อยุ่ในเขตอ.บางแพ อ.วัดเพลง และ อ.ดำเนินสะดวก

แหล่งน้ำสำคัญ
แม่น้ำแม่กลอง มีต้นกำเนิดจาก แม่น้ำแควน้อยและ แควใหญ่ ไหลมาบรรจบกันที่ ต.ปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี ไหลผ่าน อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ท่าม่วง อ.ท่าเรือ,อ.ท่ามะกา สู่จ.ราชบุรี ในท้องที่อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.เมือง อ.วัดเพลง และอ.ดำเนินสะดวก แล้วไหลผ่านเขตอ.อัมพวา(สมุทรสงคราม) ไปออกอ่าวไทยความยาว 130 กม. โดยมีช่วงที่ผ่านราชบุรียาว 43-67กม.
แม่น้ำภาชี ไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีผ่านแก่งส้มแมว น้ำตกเก้าโจน ธารน้ำร้อนบ่อคลึง หล่อเลี้ยง อ.สวนผึ้ง และ อ.จอมบึง แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำแควน้อยที่อ.เมืองกาญจน์ และรวมกับแม่น้ำแควใหญ่กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง
คลองดำเนินสะดวก ขุดเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีน กับแม่น้ำแม่กลองในสมัยร.4 ระหว่างพ.ศ.2409-2411 เนื่องจากทางน้ำที่ขุดไว้แต่เดิมตื้นเขิน ทำให้การคมนาคมไม่สะดวกและขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก ร.5 โปรดให้ขุดลอกคลองระหว่าง2446-2447 โดยใช้แรงงานชาวจีน

ป่าไม้
ประมาณ 1.25 ล้านไร่ (38%ของพื้นที่จังหวัด)
แร่ธาตุ
ดีบุก ฟลูออไรด์ ควอร์ตซ์ ฟอสเฟต เฟลด์สปา ดิน หิน ฯลฯ

ข้อมูลทั่วไป
- ดินจากต.หลุมดิน อ.เมือง ใช้ปั้นโอ่งราชบุรีโอ่งมังกรราชบุรี เฟื่องฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อีกครั้งทำให้เป็นที่รู้จักทั่วทั้งประเทศ
- เลี้ยงหมูมากที่ปากท่อ และโพธาราม
- โรงงานน้ำปลามีชื่อเสียง
- มีการตัดไม้ทำเสามาก จึงมี “ท่าเสา” ส่งเสาขายโดยเฉพาะ

สมุนไพรและซากสัตว์
มีร้านขายยาแผนโบราณจำนวนมากในเมืองราชบุรี

เหมืองแร่
เฟื่องฟูมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในเขตอ.สวนผึ้ง

อุตสาหกรรมสำคัญ
น้ำตาล โรงสีข้าว โรงงานกระดาษ โรงงานทอผ้า โรงงานอาหารกระป๋อง โรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยว

ประชากร
ไทยภาคกลาง บ้านโพหัก อ.บ้านแพ
ไทยจีน พ.ศ.2454 จีนแต้จิ๋ว ไหหลำ กวางตุ้ง และฮกเกี๋ยน อพยพมาอยู่ที่ อ.เมือง อ.ดำเนินสะดวก อ.บ้านโป่งและอ.โพธาราม
ไทยยวน พ.ศ.2347 รัชกาลที่1 กวาดต้อนชาวเชียงแสนลงมา23,000คนให้อยู่ที่เชียงใหม่ลำปาง น่าน เวียงจันทน์ สระบุรี ราชบุรีและกรุงเทพฯ ในจังหวัดราชบุรีนั้นชาวเชียงแสนมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านไร่นที บ้านคูบัว บ้านดอนตะโก บ้านอ่างทอง, บ้านเจดีย์หัก บ้านหินกอง บ้านดอนแร่(อ.เมือง) บ้าน หนองโพ บ้านบางกระโด(โพธาราม) และบ้านหนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง (ฝั่งขวาแม่น้ำแม่กลอง )
ไทยมอญ ตั้งบ้านเรือนสองฝั่งแม่กลอง ในเขตโพธาราม ตั้งแต่ พ.ศ.2127(สมัยสมเด็จพระนเรศวร) บ้านโป่ง
ไทยเขมร แบ่งเป็นเขมรลาวและเขมรโพธิสัตว์ เสียมราฐ พระตะบอง รวมทั้งยังมีชาวกระเหรี่ยง โซ่ง และลาวตี้ด้วย

พัฒนาการสมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์คนยังไม่ตั้งถิ่นฐานถาวร(Hunting Gathering) หากแต่ใช้ถ้ำ เพิงผา พื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ เป็นที่พักชั่วคราวตามฤดูกาล และพึ่งแหล่งอาหารจากธรรมชาติ ครั้นสามารถเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ได้แล้ว จึงมีความเป็นอยู่แบบสังคมเกษตรกรรม ราชบุรี มีแหล่งโบราณคดีกระจายอยู่ทั่วไปเกือบทุกอำเภอ ทั้งแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ และ แหล่งสมัยประวัติศาสตร์

หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์
พบหลักฐานเครื่องมือ หินกระเทาะ ที่เพิงใกล้ถ้ำฤาษีที่เขางู ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองเมื่อ พ.ศ.2475 โดย Prof. Fritz Sarasin นักโบราณคดีชาวสวิสต์ ลักษณะเครื่องมือหินที่พบคล้ายใบมีด กะเทาะจากหินปูน เครื่องขูดทำจากหินไรโอไลต์ พบร่วมกับกระดูกสัตว์ เปลือกหอย และก้อนดินเทศสีแดง เรียกว่า “วัฒนธรรมไซแอมเมียน”

ในปีพ.ศ.2509 คณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก ขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านหนองแช่เสา ต.หินกอง อ.เมือง พบหลุมฝังศพและหลุมเสาบ้าน 6 หลุม หลุมเสาบ้านเรียงเป็นรูปวงรี ยาวประมาณ 10 เมตร หลุมเสากว้างเท่ากับกระบอกไม้ไผ่ เชื่อว่าเป็นบ้านที่มีใต้ถุนสูงเหมือนปัจจุบันนับเป็นหลักฐานซากบ้านแห่งแรกที่พบในประเทศไทย

แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
1. แหล่งโบราณคดี เหมืองลุงสิงห์ อ.สวนผึ้ง
เป็นเหมืองดีบุกโบราณ พบขวานหินขัด หินลับ จักรหินเศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหินกระเทาะ ที่อาจใช้ในการถลุงแร่
2.แหล่งโบราณคดีบ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ (ตอนปลายลุ่มแม่น้ำแม่กลอง)
เป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่(2000-3000BP) พบ48 โครงกระดูก
3.แหล่งโบราณคดีเหมืองเริ่มชัย อ.สวนผึ้ง
ขวานหินขัด กำไรหิน จักรหิน หินลับ เศษภาชนะดินเผา
4.แหล่งโบราณคดีห้วยม่วง อ.สวนผึ้ง
ขวานหินขัด กำไรหินขัด หินงบน้ำอ้อย หินลับ ขวาน หอก และกระพรวนสำริด
5.แหล่งโบราณคดีบ้านห้วยน้ำใส อ.สวนผึ้ง

เป็นแหล่งโบราณคดีที่ราบเชิงเขา เป็นเหมืองดีบุกโบราณ พบโบราณวัตถุจากการทำเหมือง ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ขวานหิน จักรหิน ลูกปัดหิน หินลับ ขวานสำริด ภาชนะสำริด ขวานหินกะเทาะ ซึ่งกำหนดให้อยู่ในวัฒนธรรมโหบินห์เนียนอายุประมาณ 12,000 ปีก่อนปัจจุบัน

แหล่งโบราณคดีในพื้นที่สูง
1.แหล่งโบราณคดีเหมืองผาปกค้างคาว อ.สวนผึ้ง
ลักษณะเป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกไปขาย (ไม่พบหลักฐานการถลุงแร่) หลักฐานที่พบ ได้แก่ ขวานหินขัด เครื่องประดับสำริด
2.แหล่งโบราณคดีเหมืองตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง
ขวานหินกระเทาะ ขวานหินขัด และใบหอกสำริด
3.แหล่งโบราณคดีบ้านห้วยสวนพลู ต.บ้านบึง กิ่งอ.บ้านคา
เป็นแหล่งโบราณคดีบนที่ราบระหว่างหุบเขาใกล้ลำห้วยสวนพลู พบ ขวานหินขัด ขวานหินรูปจงอยปากนก(คล้ายดอนตาเพชร) ลูกปัดหินอะเกต เครื่องประดับสำริด ชิ้นส่วประติมากรรมดินเผา เหล็ก ขี้แร่(Slag)
4.แหล่งโบราณคดีบ้านนาขุนแสน อ.สวนผึ้ง
เป็นแหล่งโบราณคดีในที่ราบใกล้ห้วยคลุมซึ่งไหลลงสู่ลำน้ำภาชี ลักษณะน่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแบบถาวรสืบเนื่องกันยาวนาน พบหลักฐานการหลอมโลหะ เศษภาชนะดินเผา (Earthenware, Stoneware, Blue and White) ตุ๊กตาดินเผารูปหัวสัตว์ เครื่องถ้วยชิงไป๋( ซ้อง พ.ศ.1500-1800) ขวานหินขัด ขวานหินรูปจงอยปากนก ขี้แร่ดีบุก มีด และเสียม

แหล่งโบราณคดีในที่ราบสลับสลับเขาโดด
- บ้านปากบึง อ.จอมบึง
- ไร่ชัฏหนองคา อ.จอมบึง
- ถ้ำน้ำมนต์ อ.จอมบึง
- ถ้ำหนองศาลเจ้า อ.จอมบึง
- ถ้ำเขารังเสือ อ.จอมบึง
- พุน้ำค้าง อ.โพธาราม
- ถ้ำเขาขวาก อ.โพธาราม

แหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำกลอง
- บ้านน้ำพุ อ.เมือง
- ถ้ำเขาซุ่มดง อ.เมือง
- บ้านโคกพริก อ.เมือง(2541) พบโครงกระดูกวัว ควาย เขากวางป่า ฟันหมู เปลือกหอยแครง แวดินเผา ลูกปัดหินคาร์เนเลียน
- บ้านคูบัว อ.เมือง พบกลองมโหรทึกแบบเฮเกอเรียน1 (มีรูปดาว 10แฉก บนหน้ากลอง) ประดับลวดลายวงกลมไข่ปลา ลายคล้ายนกบิน และลายเชือกที่หูกลอง

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 ราชบุรีเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ มีการติดต่อกับอินเดียและจีน ซึ่งต้องการสินค้าประเภท ทองคำ เครื่องเทศ และของป่า ชาวอินเดียเดินทางเข้ามาค้าขายและ ตั้งหลักแหล่งปะปนกับชาวพื้นเมือง เรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า “สุวรรณภูมิ”หรือ “สุวรรณทวีป” โดยนำศาสนา การปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปกรรม เข้ามาเผยแพร่ ผลที่ตามมา คือ คาบสมุทรอินโดจีนและมลายูกลายเป็นทางผ่าน และจุดแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างชาวตะวันตก ได้แก่ อินเดีย ลังกา อาหรับ เปอร์เซีย กรีก และ โรมัน จากอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับชาวตะวันออก ได้แก่ จีนและรัฐต่างๆในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรมลายู
ในพุทธศตวรรษที่ 7 การค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจริญรุ่งเรือง ส่งผลให้ชาวพื้นเมืองตั้ง “อาณาจักรฟูนัน”ขึ้นตอนล่างของคาบสมุทรอินโดจีน โดยมีศูนย์กลางที่เมืองออกแก้ว (ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เวียดนาม และ กัมพูชา) เอกสารของจีนระบุว่า ฟูนันได้ติดต่อใกล้ชิดกับชุมชนและผู้คนทางตอนใต้ของภูมิภาคโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทย ได้แก่ ตุนซุน(ตันซุน) / พันพันและจิ้นหลิน

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8-9 เกิดศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่อายุร่วมสมัยกับแคว้นฟูนันบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หลักฐานที่พบคือโบราณวัตถุคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุซึ่งพบที่เมืองออกแก้ว
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10-11 ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ได้รวมตัวเป็นชุมชนเมืองซึ่งมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีการจัดระบบสังคมและชนชั้น การปกครอง ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ศิลปกรรมตามแบบอย่างอารยธรรมอินเดีย ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรม “ทวารวดี” (พุทธศตวรรษที่11-15) ในที่ราบภาคกลางของไทย หลักฐานสำคัญที่พบ คือ เหรียญเงินมีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” ( แปลว่า บุญของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวารวดี )

เมืองโบราณสำคัญสมัยทวารวดี
เมืองนครชัยศรี
(นครปฐมโบราณ) เมืองอู่ทอง(สุพรรณบุรี) เมืองศรีเทพ(เพชรบูรณ์)
เมืองคูบัว(ราชบุรี) เมืองพงตึก(กาญจนบุรี) เมืองคูเมือง(อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี) ฯลฯ

การเดินทางไปแสวงบุญที่อินเดียในเอกสารจีน
บันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจัง(ถังซำจั๋ง)ในพุทธศตวรรษที่ 12 และบันทึกของหลวงจีนอี้จิง
พุทธศตวรรษที่ 13 เรียกแคว้นแห่งหนึ่งในที่ราบภาคกลางของประเทศไทยว่า “โถ โล โป ตี้” ซึ่งมีแคว้น“ชิลิตาซาล้อ” (ศรีเกษตร ในพม่า)อยู่ทางตะวันตก และมี “แคว้นอีซานาซาล้อ”(อีสานปุระในกัมพูชา) อยู่ทางทิศตะวันออก

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 อิทธิพลวัฒนธรรมจากกัมพูชาเข้ามาแทนแทนที่ในภาคกลางภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ และภาคตะวันตกของไทย

สมัยอารยธรรมไทย(พุทธศตวรรษที่ 18เป็นต้นมา)
- สุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 18-20
- อยุธยา พ.ศ. 1893-2310
- ธนบุรี พ.ศ. 2310-2325
- รัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-ปัจจุบัน

ราชบุรีสมัยทวารวดี(พุทธศตวรรษที่ 11-15)
เมืองคูบัว (8 กม.จากศาลากลาง) แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ขนาด 800x2000ม. ลักษณะคล้ายเมืองนครปฐมโบราณ

ในสมัยทวารวดีเมืองโบราณในจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และชลบุรี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเล เนื่องจากพบแนวชายฝั่งทะเลเดิมซึ่งเป็นแนวสันทราย อยู่ลึกเข้าไปจากแผ่นดินปัจจุบัน และสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 3.50-4.00ม.
มีการค้นพบหลักฐานเปลือกหอยแครง ปะปนกับหอยทะเลอื่นๆในชั้นดินเมืองคูบัว แสดงว่าน้ำทะเลเคยท่วมถึงบริเวณนี้

รูปแบบโบราณสถานในเมืองราชบุรี
- โบราณสถานหมายเลข 10 พบภาพปูนปั้นคล้ายเจดีย์จุลประโทน แรงบันดาลใจเกิดจากชาดกในพุทธศาสนาลัทธิสรวาสติวาท ซึ่งแพร่หลายใน South East Asia เมื่อ พุทธศตวรรษที่ 12
- โบราณสถานหมายเลข 1 พบผอบทองคำ ครอบด้วยผอบเงินบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
- โบราณสถานหมายเลข 39-40 บ้านหนองเกษตร อ.วัดเพลง พบประติมากรรมดินเผารูปโพธิสัตว์(ยืนในท่าตริภังค์) พระพุทธรูป เทวดา อมนุษย์(นาค ครุฑ คนธรรพ์ ยักษ์) มนุษย์ คนแคระ สัตว์(ช้าง สิงห์ ม้า ฯลฯ) คล้ายประติมากรรมที่พบในถ้ำอะชันตา
- โบราณสถานหมายเลข 18 (วัดโขลงสุวรรณคีรี) แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเสาและซุ้มซึ่งเคยประดิษฐานรูปโพธิสัตว์ ลักษณะฐานคล้ายโบราณสถานเขาคลังในเมืองศรีเทพ พบรูปพระโพธิสัตว์ขนาดเล็ก คล้ายกับที่พบบริเวณคาบสมุทรทางภาคใต้ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิ วัชรยานจากอินเดียและชวาภาคกลาง กำหนดอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15

แหล่งโบราณคดีบนเทือกเขางู
ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัด 6 กม. ห่างจากเมืองคูบัว 14 กม. (ต. เกาะพลับพลา อ.เมือง)พบหลักฐานประวัติศาสตร์ในถ้ำ 4 แห่ง อายุพุทธศตวรรษที่ 12-13 สร้างเพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติธรรม ประกอบด้วยโบราณสถานดังนี้

- ถ้ำฤาษี
เชิงเขาสลักพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทมือว้ายวางหงายบนตัก มือขวาแสดง ปางวิตรรกะ(แสดงธรรม)อิทธิพลศิลปะหลังคุปตะ

- ถ้ำจีน
พุทธศตวรรษที่ 12-13 มีจารึกอักษร ปัลลวะ ภาษาสันสกฤต “ปุญกรมชระ ศรีสมาธิคุปต(ะ)” แปลว่า “พระศรีสมาธิคุปตะ เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ”

- ถ้ำจาม
อยู่สูงขึ้นไปทางตะวันตก
- ทิศเหนือ มีรูปแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่สาวัตถี
- ทิศใต้และตะวันออก รูปบุคคล ขี่คอซ้อนขึ้นไป
- ทิศตะวันตก พระพุทธรูปไสยาสน์ มีลวดลายต้นสาละ(ปรินิพพาน) ถือเป็นปางไสยาสน์ที่
เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

- ถ้ำฝาโถ
ห่างจากถ้ำฤาษีไปทางตะวันตก 250 ม. ทางใต้มีภาพ ผนังทิศใต้เป็นรูป พระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่ มี ประภามณฑล หลังพระเศียร เหนือขึ้นไปเป็นเทพชุมนุมและภาพปูนปั้นต้นไม้ ทางเหนือมีภาพสลักสาวก 2 องค์ ลักษณะคล้ายถ้ำจามตอนปรินิพพาน รูปพระพุทธรูป และสาวก คล้ายถ้ำอชันตา ลายผ้าที่พริ้วไหวคล้ายศิลปะจีน สูงขึ้นไป 60เมตร มี ปูนปั้นติดผนัง ด้านในปางปฐมเทศนา ด้านนอก เหลือครึ่งองค์ สมัย อยุธยา

ในสมัยทวารวดีอิฐจะมีลักษณะเป็นทรงปริมาตร กว้าง 17 ซม. ยาว 35 ซม. หนา 10 ซม. กว้าง 20ซม.

ความเสื่อมของวัฒนธรรมทวารวดีที่เมืองราชบุรี(พุทธศตวรรษที่ 15-16 )
เกิดจากปัจจัยดังนี้
1. วัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามา
2. แม่น้ำอ้อมเปลี่ยนทางเดินเป็นแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เมืองคูบัวแห้งแล้ง การคมนาคมตืดต่อกับภายนอก ไม่สะดวก ชายทะเลอยู่ห่างออกไปจากชุมชนมากขึ้น
3. เกิดศูนย์กลางทางการค้าแห่งใหม่บนคาบสมุทร ภาคใต้ของไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15 (ไชยา นครชัยศรี สทิงพระ /สงขลา )ทำให้การค้าในภาคกลางซบเซา
4. ชุมชนย้ายไปตั้งใหม่ที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง ปลายพุทธศตวรรษที่ 15-16 เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ เหมาะสมกว่าเมืองคูบัว

ราชบุรีในพุทธศตวรรษที่ 16-18
อิทธิพลเขมรเริ่มมีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-16 แต่ปรากฏชัดเจนในพุทธศตวรรษที่ 17-18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1760)
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสนับสนุนการเผยแพร่พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานไปยังชุมชนต่างๆ จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุว่า พระองค์พระราชทานพระชัยพุทธมหานาถไปยังศาสนสถานตามเมืองต่างๆ 23 แห่ง ได้แก่ เมืองในราชบุรี 2 แห่ง คือ ศัมพูกปัฏฏนะ(โกสินารายณ์) และ ชัยราชปุระ (ราชบุรี) ซึ่งมีพระ ปรางค์วัดมหาธาตุ เป็นศูนย์กลางบนฝั่งเดียวกับเมืองคูบัวขนาด 750x2250ม. (รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า)และเทือกเขางู

ราชบุรีในพุทธศตวรรษที่ 18-ต้นพุทธศักราชที่19

สมัยสุโขทัย
จารึกหลักที่ 1 กล่าวถึง อาณาเขตของสุโขทัย ว่ามีราชบุรีเป็นบริวาร ทางทิศหัวนอนร่วมกับเมือง คนฑี พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช
จารึกเขากบ (หลักที่ 11) ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 กล่าวถึงการเดินทางจากลังกาไปสุโขทัยของพระศรีศรัทธาราชจุฬามณีผ่าน เใองต่างๆ ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี อยุธยา ศรีรามเทพนคร ในช่วงนี้นักประวัติศาตร์เชื่อว่า ราชบุรีเป็นเมืองสำคัญระดับรองของแคว้นสุพรรณภูมิ เช่นเดียวกับเพชรบุรี และ สิงห์บุรีก่อนที่เสียนจะรวมกับหลอหู

ในจังหวัดราชบุรีมีเจดีย์ที่วัดเจติยาราม ลักษณะเป็นเจดีย์แบบฐานแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังทรงกลม คล้ายเจดีย์แบบเมืองสรรค์ (อ.สรรค์บุรี จ.ชัยนาท) คล้ายเจดีย์ แบบสุพรรณภูมิ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดพระรูป วัดพระอินทร์ และวัดร้างในวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี

สมัยอยุธยา
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง(พ.ศ.1893-1913) เมืองราชบุรี มีฐานะเป็นเมืองในมณฑล ราชธานี
ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(พ.ศ.1991-2111) พระองค์โปรดฯให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น และราชบุรีก็ถูกแบ่งบางส่วนไปรวมกับสุพรรณบุรี แล้วตั้งเป็นเมืองนครชัยศรีเพื่อรองรับพลเมืองที่รวบรวมมาทำศึกกับพม่า
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์(พ.ศ.2199-2231) ราชบุรีเป็นเมืองที่พร้อมจะเกณฑ์คนเข้าทัพหลวงที่ราชธานียามสงคราม
สมเด็จพระเพทราชา(2231-2246) เมืองราชบุรีอยู่ภายใต้สังกัดพระคลังมี หลวงยกกระบัตรดูแล ส่วยที่เก็บได้จากราชบุรี คือ ศิลาปากนก งาช้าง ดินประสิว กำมะถัน เสื่อ ฝาง ไม้แดง ไม้ดำ ผ้าแดง
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์(พ.ศ.2299-2310) ราชธานีส่งหลวงยกกระบัตร(นายทองค้วง)มาดูแล ต่อมาหลวงยกกระบัตรสมรสกับธิดาเศรษฐีแห่งเมืองอัมพวา (สมุทรสงคราม)

ราชบุรีสมัยธนบุรี
ในปีพ.ศ.2310 เกิดศึกบางกุ้ง ในเขตเมืองราชบุรี พระเจ้าตากโปรดฯให้พระมหามนตรีเข้าตีทัพพม่าที่ค่ายบางกุ้งแตก
พ.ศ.2317 เกิดศึกบางแก้ว อะแซหวุ่นกี้ให้ยุงอคงหวุ่น ยกทัพเข้ามาตามจับครัวมอญภายใต้การนำของพระยาเจ่งทางด่านเจดีย์สามองค์ และเข้ามาปล้นทรัพย์จับเชลยแถบราชบุร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี

ศึกครั้งนี้พระเจ้าตากสิน ทรงยกมาตั้งค่ายทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่ บ้านเขาพระ แล้วทรงให้พระองค์เจ้าจุ้ย(เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์) กับพระยาธิเบศร์บดี ตั้งค่ายที่โคกกระต่ายเพื่อรักษาเมืองราชบุรี แรกทีเดียวนั้น ทหารพม่าประมาทและดูหมิ่นฝ่ายไทย และพูดจาเป็นทำนองว่า ต่อให้กองทัพไทยตั้งค่ายเสร็จก่อนแล้วค่อยจับเป็นเชลย ปรากฏว่ากองทัพไทยสามารถปิดล้อมค่ายพม่าได้นานถึง 47 วัน พม่าขอเจรจา 7 ครั้ง แล้วจึงยอมแพ้ทั้ง 3 ค่าย

ราชบุรีสมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์เมืองราชบุรีรวมอยู่กับกาญจนบุรี ในฐานะ “ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก” มีเจ้าพระยามหาเสนา สมุหกลาโหมดูแล
ในสงครามเก้าทัพซึ่งพระเจ้าปดุงทรงนำทัพยกมานั้น ส่วนทัพที่สองของพม่าเข้าทางด้านบ้องตี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯให้เจ้าพระยายมราช และเจ้าพระยาธรรมายกมารักษาเมืองราชบุรี เพื่อรักษาเส้นทางลำเลียงเสบียงแก่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งตั้งทัพใหญ่อยู่ที่เมืองกาญจนบุรี แต่แม่ทัพทั้ง 2 ประมาท ทำให้พม่ารุกเข้ามาถึงทุ่งจอมบึง และด่านเจ้าเขว้าริมแม่น้ำภาชี หลังเสร็จศึกจึงให้แม่ทัพทั้งสองไปตีเชียงแสนชดใช้ความผิด

ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงย้ายเมืองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองไปฝั่งตะวันออกเมื่อพ.ศ. 2360 เมืองงใหม่มีขนาด 200x800 ม. ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมทหารช่าง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดฯให้ขุดคลองดำเนินสะดวก เชื่อมระหว่างเมืองสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรีเมื่อพ.ศ. 2409 โดยเริ่มจากปากคลองบางยาง(แม่น้ำท่าจีน)ปัจจุบันคือคลองมหาชัย เมืองสมุทรสาคร เชื่อมกับคลองบางนกแขวก( แม่น้ำแม่กลอง) ติดเขตเมืองราชบุรีเสร็จเมื่อ พ.ศ.2411 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ขณะเป็นที่พระประสิทธ์ที่ สมุหกลาโหม)เป็นแม่กอง และเมื่อพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแล้ว ท่านก็มักไปอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันจวนของสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ เป็นอาคารจัดแสดงของพพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2409 ไล่เลี่ยกับการขุดคลองดำเนินสะดวก ชาวบ้านเรียกชื่อตลาดน้ำดำเนินสะดวกแตกต่างออกไป ได้แก่ “ตลาดน้ำปากคลองราชบุรี” “ตลาดนัดปากคลองลัดพลี” “ตลาดนัด 5 ห้อง” “ตลาดนัดศาลาแดง” และ “ตลาดนัดหลัก 8”
ตลาดแห่งนี้เป็นที่พักของคนงานขุดคลองและผู้คนทั่วไป ต่อมาเป็นตลา ดน้ำสำคัญคู่กับตลาดน้ำปากคลอง ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำแม่กลองก่อนการขุดคลองดำเนินสะดวก
ในอดีตการจัดตลาดนัด แบ่งเป็น ตลาดนัดในและตลาดนัดนอก

ตลาดนัดนอก จัดในวัน 1ค่ำ 6ค่ำ 11ค่ำ
ตลาดนัดใน จัดในวัน 2ค่ำ 7ค่ำ 12ค่ำ
**ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม โดยเริ่มขายบ่ายโมง-บ่ายแก่ๆ** ปัจจุบันตลาดน้ำดำเนิน
สะดวกเริ่มขายสินค้าแก่ตั้งแต่เวลา ๘ โมงเช้า

โอ่งมังกรและเครื่องปั้นดินเผา
มีโรงงานทั้ง หมด 42 แห่ง ใช้ดินเหนียวจากท้องนา บริเวณเขางู ได้รับความนิยมมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนชื่อ จือเหม็ง แซ่อึ้ง และพวกตั้งโรงงานเถ้าเซ่งหลีบริเวณสนามบิน เมื่อ พ.ศ.2476 (มีทุนเริ่มต้น 3,000บาท) สินค้าได้แก่ ไห กระปุก และโอ่งบรรจุของดองเค็ม ระยะหลังหุ้นส่วนแยกไปตั้งโรงงานเองจึงมีทั้งหมด 42 แห่ง

สวนองุ่น
เริ่มทดลองปลูกครั้งแรกในตำบลหลักหก เมื่อ พ.ศ.2503 ช่วงแรกเป็นการทดลองปลูก นำสายพันธ์มาจาก USA.,Canada,Europe พนธุ์ที่นิยมปลูกเหลือเพียง 2พันธ์ คือพันธุ์องุ่นแดง(คาร์ดินัล)และพันธุ์องุ่นเขียวขาว(ไวท์มะละกา)
การทำสวนองุ่น ต้องใช้ทุนสูง วิธีทำ เริ่มจาก เปิดร่องสวน ซื้อพันธุ์มาปักชำ ทำร้านให้ต้นไต่ ใส่ปุ๋ย ฮอร์โมน สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ระยะปลูกไปจนถึงเก็บในระยะ2ปี ค่าใช้จ่ายต่อไร่ราว 50,000 บาท ถ้าจะให้คุ้มค่าต้องปลูกอย่างน้อย 10 ไร่

สวนมะพร้าวและน้ำตาลมะพร้าว
เกษตรกรนิยมทำสวนมะพร้าวคู่กับกล้วยน้ำว้า นิยมปลูกมะพร้าวอ่อนพันธุ์นครชัยศรี ส่วนมะพร้าวแกงจะส่งที่ตลาดเทเวศร์
ในการทำน้ำตาลมะพร้าวนั้น เมื่อมะพร้าวเริ่มตกจั่น ชาวสวนจะเลือกจั่นมะพร้าวอายุประมาณ 1 เดือน บริเวณห่างจากปลายจั่น 3 นิ้ว แล้วโน้มจั่นทุกวัน รวมทั้งปาดหน้าจั่นทุกเช้า-เย็น เมื่อน้ำตาลหยดดีแล้วจึงเอากระบอกไปรองปลายจั่น

กระบอกรองตาล ทำจากไม้ไผ่ ตัดพอดีปล้อง ใต้ข้อลงมา ปอกผิวออกแล้วเจาะรูเล็กๆ ที่ปากกระบอก 1รู ร้อยเชือก เพื่อผูกที่จั่นมะพร้าวและร้อยเชือกหิ้ว ภายในกระบอกใส่ ไม้พยอมหรือไม้ตะเคียนหรือไม้เคี่ยมชิ้นเล็กๆ เพื่อป้องกันมิให้น้ำตาลบูด
เมื่อได้น้ำตาลมา ชาวสวนจะนำไปเคี่ยวในกระทะบนเตา เตาตาลแบ่งเป็น เตาแบบดั้งเดิมและเตาปล่องแบบหลายเตา ซึ่งประหยัดเวลาและค่าเชื้อเพลิง ทำให้เนื้อน้ำตาลมีสีขาวสวยสะอาด เนื้อแกร่ง เมื่อเก็บน้ำตาลจากต้นมะพร้าวพอสมควร ก็จะเทน้ำตาลสดลงปี๊บ จากนั้นเทออกจากปี๊บลงกระชอนที่รองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อกรองเปลือกไม้ก้นกระบอกออกก่อนเคี่ยว ขั้นตอนต่อไป คือ ใส่ไฟในเตาให้ลุกสม่ำเสมอ จนเดือดเป็นฟอง ช้อนฟองออกวิธี ป้องกันน้ำตาลล้นออกนอกกะทะ ต้องใช้ลอมหรือกงคลุมปากกะทะ เคี่ยวน้ำตาลจนงวดเหลือ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 7 ก็ยกลอมออก แล้วเคี่ยวต่อไปจึงยกกะทะลง และใช้ขดลวดเหล็กตีและหมุนน้ำตาลไปเรื่อยๆ เพื่อให้น้ำตาลอุ้มอากาศ เป็นลักษณะจากใสเป็นขุ่นขาว และแข็งตัว แล้วจึงเทใส่ปี๊บหรือภาชนะที่เตรียมไว้ส่งขาย ปัจจุบัน เตาตาลที่รถทัวร์พานักท่องเที่ยวไปทัศนศึกษา ๔ เตา ได้แก่ เตาตาลดี เตาตาหวาน เตาออร์คิดและเตาไทยเดิม

สวนมะม่วง
มีชมรมผู้ปลูกมะม่วงส่งออกตลาดเอเชีย พันธุ์ต่างๆที่ปลูก ได้แก่ น้ำดอกไม้ เขียวเสวย แรด ทองดำ หนังกลางวัน
เทคนิคการส่งออก คือ ชุบน้ำร้อนกำจัดโรคและไข่แมลงวันทอง ปลูกมากที่ อ.ดำเนินสะดวก อ.บ้านโป่ง อ.เมือง อ.ปากท่อ อ.จอมบึง อ.วัดเพลง อ.สวนผึ้ง อ.โพธารามและอ.บางแพ

มะละกอ
มะละกอ เป็นพืชเศรษฐกิจ มีพันธุ์ แขกนวล สายน้ำผึ้ง โกโก้ และแขกดำ ปลูกแบบร่องสวน
เทคนิคการคัดต้นมะละกอของชาวราชบุรี คือ คัดให้เหลือแต่ต้นกระเทย โดยตัดต้นตัวผู้
และตัวเมียเมื่ออายุได้ 6-7 เดือน ซึ่งเริ่มออกดอก โดยสังเกตดอก
เกษตรกรบางรายเสียดาย ต้นตัวเมียซึ่งให้ลูกดก แต่กลมป้อม จึงนำไปขายเป็นมะละกอดิบ ส่วนโรคและแมลงมีน้อย

กล้วยไม้
ปลูกมากในอำเภอเมือง อ.บ้านโป่ง และอ.ดำเนิน(เล็กน้อย) เกษตกรส่งออกพันธุ์หวายลูกผสม ชื่อทางการ คือ “หวายปอมปาดัวร์” พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์มาจากออสเตรเลีย ส่งไปผสมพันธุ์ที่ฝรั่งเศส ต่อมาเรียกชื่อเพี้ยนไปว่า “มาดาม”

ไม้แคระ / บอนไซ
ปี 2515 นาย มานพ อำมฤคขจร เริ่มชำต้นบ่อย มาทำบอนไซจนแพร่หลายทั่วไป

ข้าวแห้ง
อาหารพื้นบ้านราชบุรี ชาวจีนเป็นต้นตำหรับ ทำขายกันแค่ในเขต อ.ดำเนินสะดวก เลยไปถึงสมุทรสงคราม โดยเฉพาะในราชบุรีมีขายในตลาดน้ำคลองต้นเข้มและร้านค้าในคลองลัดพลี สืบทอดสูตรเด็ดมาตั้งแต่รุ่นพ่อ
ข้าวแห้งคือข้าวสวยราดด้วยน้ำไก่ปรุงรสจากการนำไก่ทั้งตัวมาต้มเลาะกระดูกออก หั่นเป็นชิ้นๆ ผัดกับกระเทียม ซีอิ๊วขาว และเกลือ จนน้ำไก่ขึ้นแล้วจึงเติมน้ำธรรมดา ใส่เลือด ซึ่งต้องหมั่นช้อนฟองออกเมื่อเดือด มิฉะนั้นจะเสียง่าย จากนั้นราดกระเทียมเจียว โรยตั้งฉ่าย ผักชีต้นหอม ขึ้นฉ่าย และกุ้งทอดกรอบ หรือหนังปลาทอด หรือเห็ดนางฟ้าทอด

สรุปคำบรรยายเรื่องการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมที่เมืองกาญจนบุรี

เอกสารประกอบการเดินทางทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี โครงการศึกษาภาคปฏิบัติ วิชามรดกไทย ภาคเรียนที่๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๐
รวบรวมโดย
พิทยะ ศรีวัฒนสาร

จังหวัดกาญจนบุรี
ภูมิประเทศ
ป่าเขาและที่ราบสูง สลับหุบเขาแคบๆ ตามแนวเหนือ-ใต้ ทำให้เกิดแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงที่ราบตอนใต้และทางตะวันออกของจังหวัด นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณดีก่อนประวัติศาสตร์
กาญจนบุรี เป็นเมืองหน้าด่าน สมัยอยุธยา เป็นสถานที่เกิดประวัติศาสตร์ซึ่งมีชื่อเสียงทั่วโลก เป็นเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขนาดใหญ่เป็นที่รวมทรัพยากรธรรมชาติ และ วัฒนธรรมไว้ด้วยกันอย่างอุดมสมบูรณ์

พื้นที่
ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากเชียงใหม่และนครราชสีมา ห่างจากกรุงเทพฯ 129 กม. หรือ 133กม. (รถไฟ)
ทางเหนือ - ตาก,อุทัยธานี
ทางตะวันออก - สุพรรณบุรี นครปฐม
ทางใต้ - ราชบุรี
ตะวันตก - พม่า

ภูเขา
ถนนธงชัย ตะนาวศรี
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ทุ่งใหญ่นเรศวร
ระดับความสูงของพื้นที่
ภูเขาสูง 1000 ม. อยู่ทางเหนือของจังหวัด
ภูเขาสูง 400-1000 ม. อยู่ในลุ่มน้ำ แคใหญ่ และ แควน้อย สังขละ ทองผาภูมิ ศรีสวัสดิ์ อ.เมือง
ภูเขาสูง 100-400 ม. ไทรโยค+ศรีสวัสดิ์

ที่ราบลูกฟูก ด้านตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในพื้นที่ อ.บ่อพลอย อ.เลาขวัญ อ.พนมทวน
ที่ราบลุ่มแม่น้ำกลอง อยู่ทางใต้ ได้แก่ อ.เมือง อ.พนมทวน อ.ท่าม่วง อ.ท่ามะกา
อากาศ ฝนเมืองร้อน
ปริมาณน้ำฝน ค่อนข้างน้อยเฉลี่ย 1048 มม. ฝนตกประมาณ 84วัน ตกน้อยสุด 670 มม.

แม่น้ำสำคัญ แควน้อย(ไทรโยค) ยาว 315 กม. ไหลจากธารเล็กๆชื่อ รันตี ซองกาเลียและบิคลี่(อ.สังขละบุรี และทอง ผาภูมิ )ไหลมาบรรจบกันที่สามสบ เมื่อไหลมาบรรจบกับแควใหญ่กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง ที่ ต.ปากแพรก อ. เมืองกาญจนบุรี
- แควใหญ่ มีต้นกำเนินจากภูเขาชายแดนในเขต อ.อุ้มผาง ยาว 380 กม. แม่น้ำสาขาคือ ห้วยขาแข้ง
- แม่กลอง ไหลผ่าน อ. เมือง อ.ท่าม่วง อ.ท่ามะกา อ.ราชบุรี แล้วไหลลงทะลที่ อ. เมืองจ.สมุทรสงคราม ยาว 130 กม.
- ลำตะเพิน ไหลผ่านที่ราบด้านตะวันออกของจังหวัด บรรจบแควใหญ่ที่ ต.ท่าเสา ยาว 85 กม.

ประชากร
ไทย, ไทย-จีน, ไทย-มอญ(สังขละ ทองผาภูมิ เมือง), ไทย-กระเหรี่ยง (สังขละ ทองผาภูมิ เมืองกาญจน์ ศรีสวัสดิ์ ไทรโยค) พวกนี้มาตั้งถิ่นฐานที่เพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี
เขตการปกครอง เดิมแบ่งออก เป็น 3 อำเภอ คือ
อ.เมือง (ในเขตกำแพงเมือง)
อ.ใต้ (ท่าไม้รวก, ม่วงชุม, ริมฝั่งแม่กลอง)
อ.เหนือ
ปัจจุบัน มี 13 อำเภอ

แร่ธาตุ
ดีบุก วุลแฟรม ซีไลต์ ตะกั่ว เงิน สังกะสี พลวง ฟลูออไรด์ โดไลไมต์ ฟอสเฟต ดินขาว เฟลด์สปาร์ แกรนิต หินปูน หินอ่อน พลอย นิล
พืชเศรษฐกิจ
อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด มะม่วง มะขามหวาน กล้วย ขนุน ส้มโอ

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณกว่า 10,000 ปีมาแล้ว ลักษณะการตั้งถิ่นฐานดังกล่าวมีการดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่า ล่าสัตว์ เกษตรกรรม เทคโนโลยีโลหะโบราณ
ดร. แวน.ฮิกเกอเรน (H.R.van Heekeren) เชลยสงครามชาวดัชต์ ได้พบเครื่องมือแบบหินกรวด กะเทาะหน้าเดียว และ ขวานหินขัดรูปสามเหลี่ยม จึงเก็บซ่อนไว้ เมื่อสงครามสงบจึงนำไปตรวจสอบที่พิพิธภัณฑ์พีบอดี้ ม. ฮาร์วาร์ด USA.
ดร. Hallem .H. Movius Jr. ระบุว่าเป็นเครื่องมือสมัยหินเก่า คล้ายกับที่พบในสหพันธรัฐมลายา อินโดนีเซีย และจีน
พ.ศ.2499 Karl G.Heider ได้รับทุน Sheldon Travelling Fellowship มาขุดค้นระหว่างสถานนีรถไฟบ้านเก่า และสถานีท่ากิเลน ร่วมกับอาจารย์ ชิน อยู่ดี และนายเจริญ ผานุธิ
พบเครื่องมือหินกรวด สะเก็ดหิน ขวานหินขัด เศษภาชนะดินเผาสมัยหินใหม่(หลายชั้น) ศาสตร์ตราจารย์โมเวียสเรียกว่า “วัฒนธรรมแควน้อย(Fingnoean)”
พ.ศ.2503-2505คณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก รายงานผลการขุดหลักฐานโบราณคดีในเขตเมืองกาญจนบุรี ดังนี้

สมัยหินเก่า
เร่ร่อน เก็บของป่า ล่าสัตว์ อาศัยในถ้ำและเพิงผา รวมถึงที่ราบริมแควน้อย เครื่องที่ใช้คือ หินกรวดกะเทาะหน้าเดียวแบบหยาบๆ พบที่บ้านเก่า(อ.เมือง นอกจากนี้ยังพบในเขตอ.ทองผาภูมิ ไทรโยค ศรีสวัสดิ์)

สมัยหินกลาง
เครื่องมือหินกะเทาะประณีตขึ้น คล้ายวัฒนธรรมโหบินห์เนียน ใช้เครื่องปั้นดินเผาง่ายๆ พบหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์และสัตว์ ตั้งถิ่นฐานทั่วไปใกล้แหล่งน้ำ มีพิธีศพโดยฝังเครื่องมือ,เครื่องใช้,อาหารไว้ด้วยกัน แล้วโรยดินเทศบนโครงกระดูก พบที่ถ้ำพระไทรโยค ถ้ำทะลุบ้านเก่า อ. เมือง
หินใหม่
อายุ 4,000 ปีลงมา พบขวานหินขัด เครื่องปั้นดินเผา เครื่องจักสาน เครื่องประดับ โครงกระดูกคน สมัยนี้รู้จักการเพาะปลูก และ เลี้ยงสัตว์ มีการฝังศพแบบนอนหงาย พบในถ้ำเขาทะลุ ถ้ำหีบ ริมแม่น้ำแควน้อย บ้านวังด้ง (อ.เมือง) ฯลฯ

สมัยโลหะ
รู้จักทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะสำริด และ เหล็ก พบที่ดอนตาเพชร(พนมทาน) เคื่องที่ใช้ได้แก่ ภาชนะดินเผา เครื่องมือเหล็ก กำไลสำริด ตุ้มหู,แหวน ลูกปัด สำริดมีส่วนผสมของผสมดีบุก 21%

ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ถ้ำรูป(ไทรโยค)
ถ้ำผาแดง(อ.ศรีสวัสดิ์)
ถ้ำตาด้วง(อ. เมือง)

เมืองกาญจน์ในฐานะเมืองหน้าด่าน
ด่านบ้องตี้ ตั้งอยู่ที่ชายแดน อ.ไทรโยค
ด่านพระเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรีจากหงสาวดีสู่ด่านพระเจดีย์สามองค์ ทองผาภูมิ ข้ามแม่น้ำแควน้อยที่ผาอ้น ผ่านไทรโยค ตัดเข้าแม่น้ำแควใหญ่ ที่เมืองท่ากระดาน เข้ากาญจนบุรีเก่า แล้วเดินทัพสู่สุพรรณบุรี วิเศษไชยชาญ ป่าโมก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สู่ พระนครศรีอยุธยา กองทัพขนาดใหญ่ยกผ่านด่านพระเจดีย์สามองค์ มากกว่า 12ครั้ง ต้องผ่านเมืองกาญจนบุรีก่อนทุกครั้ง ไทยรบกับพม่า 24 ครั้ง (สมัยอยุธยา) รบที่เมืองกาญจนบุรีถึง 17 ครั้ง

สงครามเสียกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้ามังระแห่งพม่า ให้เนเมียวสีหบดีคุมพลผ่านเชียงใหม่
มังมหานรธาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์ ตีเมืองกาญจนบุรีแตกล่องมาตามลำน้ำ แม่กลอง ตั้งค่ายที่ ต. ลูกแก ต.คอกละออม และบ้านดงรัก หนองขาว
เนเมียวสีหบดี คอยปล้นคนตั้งแต่ ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณ ถึงธนบุรีผ่านวิเศษไชยชาญและบางระจัน ปี 2310 ตีอยุธยาสำเร็จ กวาดต้อนผู้คนผ่านด่านเจดีย์สามองค์มุ่งสู่อังวะ
สมัยกรุงธนบุรี
ทัพไทยมาตั้งที่ บ้านหนองขาว บริเวณ วัดส้มใหญ่คงรัง เมื่อทัพพระเจ้าตากสินยกทัพมาหนุน ก็ตีพม่าที่ล้อมบ้านหนองขาวแตกพ่ายไป

สรุป
สมัยอยุธยา รบพม่าครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2018 (ไชยราชา)
รบพม่าครั้งสุดท้าย เมื่อ พ.ศ.2397 (ร.4)
รวม 316 ปี รบกัน 44ครั้ง
สมัยธนบุรี รบ 10 ครั้ง
สมัยรัตนโกสินทร์ รบ 10 ครั้ง

กาญจนบุรีในวรรณคดี ขุนช้างขุนแผน
ขุนไกรอยู่ย่านเขาชนไก่ (ต.ลาดหญ้า)ริมลำตะเพิน มีอาจารย์คงสอนเวทมนต์ และได้เรียนต่อกับอาจารย์บุญ ขุนไกรมีชื่อเสียงไปทั่วกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อยุธยาด้านการเป็นนายพรานและการต้อนควายป่า ต่อมาสมเด็จพระพันวสา(สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) ให้ขุนศรี คนเมืองกาญจนบุรีมาชวนรับราชการ ในเมืองสุพรรณ ขุนไกรแต่งงานกับทองประศรี ครั้งหนึ่งสมเด็จพระพันวสาทอดพระเนตรขุนไกรต้อนควายป่า ขุนไกรต้อนไม่เข้าคอกเลยเกิดโทสะ เอาหอก แทงควายป่าตายหลายตัว สมเด็จพระพันวสาพิโรธสั่งให้ประหารที่ “ซัดหัวเสียบ” ยังปรากฏชื่อสถานที่นี้อยู่ในปัจจุบัน เมื่อขุนแผนทำผิดวินัย ถูกจำคุก เมื่อมีศึกเชียงใหม่ ขุนนางจึงกราบทูลให้ขุนแผนไปรบ เมื่อรบชนะแล้วจึงได้เป็นเจ้าเมือง กาญจนบุรี (พระสุรินทรฤาไชย) ขุนแผนได้ขอดาบฟ้าฟื้นและม้าสีหมอก (นำพันธุ์มาจากเมืองมะริด)จากเจ้าเมืองพิจิตร ตำแหน่งขุนแผนแสนสะท้านปรากฏหลักฐานว่าเป็นปลัดในกรม พระตำรวจภูบาล

ยุทธศาสตร์ป้องกันกรุงรัตนโกสินทร์จากกองทัพพม่า
เมื่อทราบข่าวพม่ายกเข้าไทย ร.1 ทรงประชุมกับเสนาบดี ,อำมาตย์ และ พระบรมวงศานุวงศ์ สรุปว่าควรนำกำลังไปสกัด ข้าศึก ณ ตำบลสำคัญ ที่ใดไม่สำคัญปล่อยไว้ก่อน หลังจากนั้นค่อยมาป้องกันทีหลัง
ยกทัพตรึงข้าศึกที่มาจากทางเหนือ มิให้เข้าถึงกรุงเทพฯ
จัดทัพสกัดทัพที่มุ่งเข้ากรุงเทพฯ ทางด่านเจดีย์สามองค์ ทำลายให้ได้และขับไล่ออกไป
จัดทัพป้องกันปีกให้กองกำลังที่จะไปกวาดล้างข้าศึกที่เมืองกาญจนบุรีและป้องกันมิให้ข้าศึกยึดเพชรบุรี ราชบุรี แล้วไปรวมกำลังกันที่ทางใต้ มีกำลังส่วนหนึ่งคอยหนุนกองทัพต่างๆในกรณีจำเป็น แต่พื้นที่ทางใต้ให้เจ้าเมือง รักษาเมืองของตนจนสุดกำลังความสามารถ ไปก่อน เมื่อขับไล่ข้าศึกทางกาญจนบุรีแล้ว จะเข้าไปช่วยภายหลัง จุดสำคัญคือเมืองกาญจนบุรีเพราะใกล้กรุงเทพฯ จึงต้องใช้กลยุทธ์รุกเชิงรับ/ตั้งรับโดยวิธีรุก

การจัดกองกำลังของฝ่ายไทย พ.ศ.2328
ฝ่ายไทยมีกำลังพล 70,000คน โดยแบ่งเป็น 4 ทัพ

กองทัพที่ 1
กรมพระราชวังหลัง(กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) คุมกำลังพล 15,000 คน อยู่ที่นครสวรรค์

กองทัพที่ 2
กรมพระราชวังบวร สกัดทัพหลวงพม่า คุมกำลัง 30,000 คน อยู่ที่เหนือทุ่งลาดหญ้า 20 กม.

กองทัพที่ 3
เจ้าพระยาธรรมา(บุญรอด)เป็นแม่ทัพ เจ้าพระยายมราช(ผู้ช่วย)กำลัง 5,000คน ป้องกันปีกของทัพ 2 สกัดพม่าที่ด่านบ้องตี้ ซึ่งจะเข้าตี ราชบุรี, เพชรบุรี เพื่อบรรจบกันที่ชุมพร

กองทัพที่ 4
เป็นกองทัพหลวง มีกำลังพล 20,000คน เตรียมไว้ที่กรุงเทพมหานคร เป็นกองหนุน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ทรงบังคับบัญชา

สงครามรบพม่าที่ท่าดินแดง(เขต อ.สังขละบุรี)
พระเจ้าปดุงจะแก้ตัวใหม่ มาจัด เตรียมเสบียงที่ท่าดินแดง และสามสบ ร.1 และ กรมพระราชวังบวร ไม่รอให้พม่ายกเข้ามา เมืองกาญจนบุรีได้ นำทัพเข้าคลองบางกอกน้อย เข้ามาแม่น้ำท่าจีน,คลองหมาหอนออกลำน้ำแม่กลอง ถึงแม่น้ำแควน้อย และ เมืองไทรโยค จากนั้นยกทัพเข้าถึงเมืองขนุน(สังขละบุรี)
- กรมพระราชวังบวรฯตีสามสบใต้ด่านพระเจดีย์สามองค์ลงมา
- ร.1 เข้าตีพม่าที่ท่าดินแดง พร้อมกันทั้ง 2 ทัพรบ 3 วัน 3 คืน ตีจับเฉลยได้จำนวนมาก
- พันตรี ไมเคิล ไชน์ ชาวอังกฤษ บาทหลวงอิตาลีชื่อ ซัน เยอมาโน กล่าวตรงกันว่า พระเจ้าปดุง แพ้ไทยทำให้ชาวพม่าแตกตื่นตกใจ บาทหลวงซันเยอมาโน กล่าวว่า ถ้ากองทัพไทยตามตีต่อไป คงจะยึดอังวะได้แน่

ร.1 ทรงบรรยายในเพลงยาวนิราศท่าดินแดงว่า

อ้ายพม่าตั้งอยู่ท่าดินแดง ตกแต่งค่ายรายไว้ถ้วนถี่
ทั้งเสบียงอาหารสารพัดมี ดังสร้างสรรค์ธานี ทุกประการ
มีทั้งพ่อค้ามาขาย ร้านรายกระท่อมพลทุกสถาน
ด้านหลังทำทางวางสะพาน ตามละหานห้วยธารทุกตำบล
ร้อยเส้นมีฉางระหว่างค่าย ถ่ายเสบียงอาหารทุกแห่งหน
แล้วแต่กองร้อยอยู่คอยคน จนตำบลสามสบครบครัน
อันค่ายประตูหอรบ ตบแต่งสารพัดเป็นที่มั่น
ตั้งขวากหนามเขื่อนคูป้องกัน เป็นชนชั้นอันดับมากมาย
......................................................................................................................................
(ตั้งใจจะอุปถัมภ์ภก ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบพันธสีมา จะรักษาประชาชนและมนตรี)

ทางรถไฟสายมรณะ
สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2485 -2486 ยาว 415 กม. อยู่ในเขตไทย 303.95 กม.อยู่ในเขตพม่า 111.05 กม. เชลย: อังกฤษ,อินโดนีเซีย,ออสเตรเลีย,ฮอลันดา, 60000 คนกรรมกร: แขกมลายู,อินเดีย,จีน,ญวณ,อินโดนีเซีย,ไทย,พม่า,ฯลฯ รวม 200,000คน(มีวิศวกร,ทหาร ของญี่ปุ่น คุมเชลย 15,000 คน) เมืองกาญจนบุรีจึงเต็มไปด้วยค่ายทหาร ค่ายเชลยกรรมการ(แยกหนองปลาดุก,บ้านโป่ง,ลูกแก,ท่าเรือ,ท่าม่วง,เขาดิน,ปากแพรก,สะพานข้ามแม่น้ำแคว)

กาญจนบุรีกับสงครามมหาเอเชียบรูพา
สมัยสงครามมหาเอเชียบรูพา(พ.ศ.2484-2488) ญี่ปุ่นบุกเพิร์ลฮาเบอร์ รัฐฮาวาย เมื่อ 8 ธันวาคม 2484 ในเวลาเดียวกันนั้นก็ได้ยกพลขึ้นบกที่บางปู(สมุทรปราการ),ประจวบ,ชุมพร สุราษฎร์ฯ,นครชัยศรี,สงขลา,ปัตตานี,ปราจีนบุรี(อรัญประเทศ) นายพล นากามูระ เป็นแม่ทัพใหญ่ของญี่ปุ่นในไทยสร้างทางรถไฟเพื่อลำเลียง ยุทโธปกรณ์ จากไทยไปพม่า โดยใช้แรงงานเชลยศึก อังกฤษ ออสเตรเลีย ฮอลันดา สหรัฐอเมริกา

ทำไมไทยไม่แพ้สงคราม
1. ไทยจำต้องทำสงครามกับพันธมิตร(ภาวะจำยอม)
2. คนไทยต่างแดนไม่เห็นด้วยกับ การประกาศสงครามกับ อังกฤษ และ สหรัฐ จึงตั้งขบวนการเสรีไทย
3. มีขบวนการเสรีไทย ในประเทศ(ปรีดี พนมยงค์ และ จอมพล ป. ทำงานใต้ดิน)
4. สหรัฐ ไม่ถือว่าไทยเป็นคู่สงคราม

แรงงานสร้างทางรถไฟ
ญี่ปุ่น 15,000 ตาย 1,000 คน
เชลย 50,000 คน(บางที่ว่า 60,000 คน) ตาย 10,000คน
กรรมกร 100,000 คน ตาย 30,000 คน
รวม 165,000 คน ตาย 41,000 คน

สุสาน
ดอนรัก 6,982 ศพ
เขาปูน 1,740 ศพ
ไม่ทราบสุสานรวม 300 ศพ
อนุสาวรีย์ กรรมกร และ ... นิรนาม 4,500 กว่าศพ

ข้อมูลใหม่
กรรมกรเอเชีย 200,000 คน ตาย 80,000 คน
อังกฤษ 30,000 คน ตาย 6,500 คน
ฮอลันดา 18,000 คน ตาย 2,830 คน
ออสเตรเลีย 13,000 คน ตาย 2,710 คน
สหรัฐ 700 คน ตาย 365 คน
ญี่ปุ่น 15,000 คน ตาย 1,000 คน
เกาหลี 15,000 คน ตาย 1,000 คน

ขุมทองเมืองกาญจนบุรี
มีเสียงเล่าลือเกี่ยวกับทองญี่ปุ่น “ขุมทองโกโบริ” ระหว่างสงครามโลกครั้งที่2 ทำให้ระหว่างพ.ศ.2538-2541 นาย เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการสั่งให้เข้าไปสำรวจอย่างจริงจัง แต่ไม่พบหลักฐาน สาเหตุที่มีคนเล่าลือเรื่องขุมทองโกโบริ เนื่องจากเหตุผลดังนี้
- มีการสร้างทางรถไฟแยกออกไปจากแนวรางหลัก
- นักข่าวญี่ปุ่นมาจ.กาญจนบุรีพร้อมกับแผนที่โบราณ
- ต้นไม้,ถ้ำ ในป่า.กาญจนบุรี มีภาษา ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี นักวิชาการคัดค้านการสำรวจหาทองญี่ปุ่น เพราะไม่มีหลักฐานยืนยันและเป็นการทำลายทรัพยากร

มรดกทางวัฒนธรรม
10,000 ปี
เก็บของป่า,ล่าสัตว์ที่ถ้ำ/เชิงผา
4,000 ปี
มีการทำเกษตรกรรม รวมตัวกันเป็นชุมชน ใกล้แหล่งน้ำ เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ หินขัด ภาชนะดินเผา เริ่มเป็นสังคมเมือง เริ่มมีผู้นำ รู้จักใช้โลหะสำริด และ เหล็กมีความเชื่อแบบ Animism
2,000 ปี
มีการติดต่อกับชุมชนที่ห่างไกล/ดินแดนภายนอก มีความเชื่อทางศาสนา หลังจากนั้นจึงพัฒนาสู่สมัยทวารวดี ลพบุรี อยุธยา รัตนโกสินทร์ ถึงปัจจุบัน

โบราณวัตถุสำคัญที่พบในเมืองกาญจนบุรี
ขวานหิน
- เครื่องมือหินกะเทาะ จากหินกรวดแม่น้ำ ทำจากหินควอตซ์ ,หินเชิร์ต์, หินแจสเปอร์(มีทั้งกะเทาะหน้าเดียวและสองหน้า)
- เครื่องมือหินขัด(มีบ่า,ไม่มีบ่า)
ลูกปัดหินบ้านดอนตาเพชร อ.พนมทวน
- หินคาร์เนเลียนรูปสิงห์ และ แบบต่างๆ
- อะเกต สีส้ม,น้ำตาล,ดำ บางเม็ดมีลายในเนื้อ ลูกปัดแก้วสีดำมีลายสีขาวฝังในเนื้อนำมาจากอินเดีย
หม้อสามขา
พบที่บ้านเก่าโดยคณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก พ.ศ.2505 มีการเจาะรูให้อากาศผ่าน หม้อมีสันที่ไหล่ กำหนดอายุอยู่ในสมัยหินใหม่ อายุ 4,000ปี คล้ายวัฒนธรรมลุงซานของจีน เป็นสัญลักษณ์ของแหล่งโบราณคดีแหล่งนี้

ตะเกียงโบราณสำริด
บ้านพงตึก อ.ท่ามะกา เดิมเชื่อว่าน่าจะนำเข้ามาจาก เมืองอเล็กซานเดรีย ประเทศอียิปต์ (ค.ศ.250-350) เชื่อว่าน่าจะมาจากอาณาจักรไบแซนไทน์(ค.ศ.400-600) โดยเปรียบเทียบกับตะเกียงสำริดซึ่งพบในประเทศกรีซให้อิทธิพลแกตะเกียงทวารวดี(พบเพียงชิ้นเดียวในไทย)

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เปล่งรัศมี(สูง162 ซม.)
- พบที่ปราสาทเมืองสิงห์ อ.ไทรโยค
- พระหัตถ์หักหาย หน้าผากมีอุณหิศ เกล้าผมมวยทรงกระบอก มีแนวรูปประคำคาดประดับพระวรกายท่อนบน และตั้งแต่พระอุระขึ้นไปจนถึงพระอังสาสลักรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะสมาธิขนาดเล็ก เรียงเป็นแถวโค้งเข้าหาจุดศูนย์กลางคือพระอมิตาภะที่ส่วนบนของพระเศียร
- กึ่งกลางพระอุระ และบั้น พระองค์สลักรูปบุคคล กางแขนออกสองข้างถือดอกบัวในมือ
- ผ้าทรงเป็นผ้าสั้นคล้ายกางเกงขาสั้น ไม่มีชายพก แต่มีชายผ้าคล้ายสมอเรือ หรือหางปลาชั้นเดียว ห้อยตกลงมาทั้งข้างหน้าข้างหลัง ริ้วผ้านุ่งเป็นขีดบางๆ ขอบล่างของผ้าป็นลายลูกประคำ เข็มขัดเป็นลายดอกไม้ขนาดใหญ่ และมีลายอุบะประดับใต้แนวเข็มขัด เทียบได้กับโพธิสัตว์เปล่งพระรัศมีที่ปราสาทเปรี๊ยะถกล ศิลปะบายน พุทธศตวรรษที่ 18

ในประเทศไทยพบรูปโพธิสัตว์เปล่งพระรัศมี 5 องค์ คือ 1. ถ้ำคูหาสวรรค์ อ. เมืองลพบุรี(พอกแปลงเป็นทวารบาล)2องค์ 2. ปราสาทกำแพงแลง เพชรบุรี 1 องค์(อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี จ.เพชรบุรี) 3. จอมปราสาท เมืองโกสินารายณ์ บ้านโป่ง ราชบุรี (พิพิธภัณฑ์ฯราชบุรี)
โบราณสถาน

เมืองโบราณ 6 แห่ง
- พงตึก บ้านคงสัก ต.พงตึก อ.ท่ามะกา
- เมืองกลอนโด บ้านกลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย
- เมืองสิงห์ บ้านท่ากิเลน อ.ไทรโยค
- เมืองครุฑ ห่างจากเมืองสิงห์ไปทางตะวันออก ห่างจากแม่น้ำแควน้อย 5 กม.(สมัยลพบุรี พุทธศตวรรษที่ 18)
- เมืองกาญจนบุรีเก่า บ้านท่าเสา ต.ลาดหญ้า อ.เมือง (สมัยอยุธยา)
- เมืองกาญจนบุรีใหม่ บ้านปากแพรก อ.เมือง (สมัยรัตนโกสินทร์ ร.3)
ย้ายเมื่อประมาณพ.ศ 2330 ห่างจากเมืองเก่า ประมาณ 18 กม.ตั้งบริเวณปากแพรก ซึ่งมีแม่น้ำแม่กลองมาบรรจบ กับแม่น้ำแควใหญ่
- รูปเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 200x440 ม. ก่ออิฐถือปูนในสมัย ร.3(8 มีนาคม 2374 ลงศิลาฤกษ์ สร้างโดยพระยาประสิทธิ์สงครามภักดี ป้อม 4 ประตู 8)
- ร.3ให้สร้าง มีวัดญวณ ชื่อวัดคั้นถ่อตื้อ ทางตะวันออก ซึ่ง ร.5 เปลี่ยนเป็น วัดถาวรวราราม
แหล่งโบราณคดีในถ้ำเมืองกาญจนบุรี
ถ้ำองบะ 11,000-2,080 ปีมาแล้ว
ถ้ำพระ โครงกระดูกมนุษย์ สำริด ลูกปัดหินคาร์เนเลียน
ถ้ำรูป ไทรโยค ภาพเขียน คน สัตว์ มือ
ถ้ำตาด้วง ช่องสะเดา อ.เมือง จ.กาญจนบุรี คนแบกกลอง ประกอบด้วยภาพคน 18 คน แรกๆเข้าใจว่าเป็นลายแทงสมบัติ
ผนังถ้ำภูผาแดง เป็นรูปบุคคลคล้ายถ้ำตาด้วง
เขาชนไก่ เครื่องมือหินกรวดแม่น้ำ ขวานหินกะเทาะ โซ่คล้องช้าง

แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า
ตั้งริมแม่น้ำแควน้อย อ.เมือง คณะสำรวจ ไทย- เดนมาร์กขุดค้นระหว่างพ.ศ. 2503-2505 พบภาชนะดินเผา สีดำ และน้ำตาล ภาชนะสีดำขัดมัน และหม้อสามขา ซึ่งพบที่จ.สุราษฏรธานี นครศรีธรรมราช และ มาเลเซียด้วย
โครงกระดูกที่พบถูกฝังเหยียดยาว แขนเหยียดตรง ฝังเครื่องปั้นดินเผาสีดำ เหนือศีรษะ หว่างขา และปลายเท้า ขวานหินขัด และเปลือกหอยแครงเจาะรู พบหลักฐานการถอนฟัน/กรอฟัน เมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาว เสียชีวิตก่ออายุ 30 ปี ชายสูง 160-176 ซม. หญิง 146-161 ซม.

บ้านดอนตาเพชร(ขุดค้นพ.ศ. 2519)
พบภาชนะดินเผา ภาชนะสำริดเนื้อบางพิเศษ เครื่องมือเหล็ก กำไลสำริด ต่างหู แหวน ลูกปัด ภาชนะสำริดมี ดีบุก ผสม 21% ทำให้มีสีคล้ายทองคำ หลุมฝังศพที่พบ ฝังเป็นกลุ่ม(แบบฝังครั้งที่ 2) มีการใส่สิ่งของไว้ในหลุมศพ

เมืองโบราณบ้านพงตึก
ราชบัณฑิตยสถานขุดเมื่อ 2470

อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ต.สิงห์ อ.ไทรโยค
เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทยตั้งอยู่ในเมืองสิงห์ บ่งชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมแบบขอมเคยแพร่เข้ามาระหว่างพ.ศ. 1400-1700 โบราณสถานที่พบมีขนาดเล็ก เมืองสิงห์อาจทิ้งร้างสมัยอยุธยา ร.1 สถาปนาเมืองสิงห์ขึ้นใหม่ เป็นเมืองหน้าด่านเล็กๆ ขึ้นตรงต่อเมืองกาญจนบุรี แต่เจ้าเมืองไปพำนักที่บ้านโป่ง เพราะกันดารส่งพลตระเวนมาตรวจตราเท่านั้น ร.4 พระราชทานนามเจ้าเมืองว่า พระสมิงสิงห์บุรินทร์ จนถึง ร.5 เปลี่ยนการปกครองเป็น มณฑลเทศาภิบาลจึงมีฐานะเป็นตำบลสิงห์มาถึงปัจจุบัน

โบราณสถานเมืองสิงห์
ประกอบด้วยสถาปัตยกรรม/จารึก/โบราณวัตถุ/ประติมากรรม ศาสนาพุทธมหายาน พุทธศตวรรษที่ 18 ได้รับศิลปะเขมรแบบบายน สมัยชัยวรมันที่ 7 จารึกปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึงการพระราชทานพระชัยพุทธมหานาถไปยังเมืองต่างๆ 23 เมืองหนึ่งในนั้นคือเมืองศรีชัยสิงห์ปุระ อาจเป็นเมืองสิงห์หรือไม่ ยังไม่มีข้อยุติ

เมืองสิงห์มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งริมแม่น้ำแควน้อย ซึ่งไหลผ่านทางใต้ของตัวเมือง ขยายไปทางใต้และอาจใช้ลำน้ำเป็นคูเมืองด้านนี้ด้วย
กำแพงเมืองสิงห์ก่อด้วยศิลาแลงขนาด 880ม.x1,400ม. สูง 5 ม. ด้านในเป็นลาดกำแพง กำแพงมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ด้านเหนือและตะวันออก มีคันดิน 3ชั้น ด้านตะวันตกมีคันดิน7 ชั้น

โบราณสถานหมายเลข 1
ทางเข้ายกพื้นเป็นรูปกากบาทขนาดใหญ่ ก่อด้วยศิลาแลง มีกำแพงแก้ว โคปุระกลางระเบียงคด ด้าน ตะวันออก ซุ้มประตูชั้นที่ 3 กำแพงแก้ว 81x104 ม. ระเบียงและซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน มีหลังคาคลุมและผนังกั้น มีรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ผนัง ซุ้มประตูมีมุขยื่นออกทั้ง นอก และ ใน ซุ้มทิศ ตั้งอยู่ตามมุมระเบียงคด บรรณาลัย อยู่มุมทิศตะวันออก ใต้ของปรางค์ประธาน หันหน้าไปทางตะวันตก ปราสาทประธาน ตั้งบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม มีมุขยื่นออกไปรับกับมุขของซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน มุขด้านตะวันตกเจาะเป็นช่อง ภายในองค์ประธานมีผังพื้นเป็นรูปกากบาท แบ่งเป็น 5 ห้อง ห้องครรภคฤหะ เป็นห้องใหญ่ และห้องมุข 4 ด้าน

โบราณสถานหมายเลข 2
ก่อด้วยศิลาแลง ประดับลวดลายปูนปั้น บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซ้อนกัน 2 ชั้น ฐานชั้นล่างขนาด 33.90x54.20 สูง 0.80ม. ตรงกลางอัดด้วยลูกรัง ทางขึ้นด้านตะวันตก เป็นลานสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 6.50x10ม. ภายในเป็นห้องรูปกากบาท มีทางขึ้น 4 ทิศ ด้านหน้ามีปรางค์ 3 องค์ ตั้งบนฐานเดียวกัน กว้าง 15.50x22.20ม.
อุทยานปราสาทเมืองสิงห์ เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 3 เม.ย 2530

ด่านพระเจดีย์สามองค์
ตั้งอยู่ที่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี อยู่ห่างจากตัวอำเภอ 25 กม. เป็นด่านสำคัญทางตะวันตก ประวัติการก่อสร้างไม่ชัดเจน น่าจะประมาณ สมัยพระนเรศวรทรงเดินทัพผ่าน ปัจจุบันเป็นรูปทรงแบบ เจดีย์มอญขนาดเท่าๆกัน สูง 6 เมตร

สะพานข้ามแม่น้ำแคว (The Bridge Over the River Krawi)
ญี่ปุ่นผู้สร้างทางรถไฟจากหนองปลาดุก ถึงสถานีตันอูบีซายัต เริ่มสร้างสะพานไม้ชั่วคราวเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2485 เสร็จเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2486 (3 เดือน) สะพานชั่วคราวนี้ อยู่ห่างจากสะพานเหล็กไปทางปลายแม่น้ำประมาณ 100 ม. ลงมือขณะน้ำลด
ต่อมามีการลงมือสร้างสะพานถาวรโดยใช้ปูนซิเมนต์หล่อตอม่อสะพาน โดยนำเหล็กลำเลียงมาจากมลายูเป็นชิ้นๆ ประกอบสะพานเหล็กเป็นช่วงๆ 12 ช่วง ยาวประมาณ 300 ม.
สร้างเสร็จเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2486 ใช้เวลาสร้าง 1 เดือน เศษ แล้วรื้อสะพานไม้ออก
และเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ 2486
สะพานแห่งนี้ถูกฝ่ายพันธมิตรโจมตีครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2487 ครั้งที่ 2 วันที่ 3 2487 ครั้งที่- วันที่ 23 มกราคม พ.ศ..2588 แต่ไม่เสียหายมาก มีครั้งหนึ่งคอสะพานขาด 3 ช่วง คือช่วงที่ 4-6

สะพานถ้ำกระกระแซ
เป็นสะพานทางรถไฟช่วงหนึ่งของเส้นทางรถไฟสายมรณะเริ่มต้นจาก จ.กาญจนบุรี ไปน้ำตกเขาพัง(ไทรโยคน้อย)เป็นช่วงอันตรายที่สุด เพราะสร้างเลียบเขาสูงชัน ลัดเลาะไปตามโค้งภูเขา ด้านหนึ่งชิดภูเขา ด้านหนึ่งเป็นลำแควน้อย อันเชี่ยวกราก ความสูง และ ความคดเคี้ยว ทำให้ได้ชื่อว่า โค้งมรณะ ลักษณะเป็นสะพานไม้เสริมเหล็กเลีบยเขาเลาะน้ำ ผ่านถ้ำแห่งเดียวในประเทศไทย คนงานล้มตาย เพราะไข้ป่าและอหิวาต์ มีผู้เปรียบเทียบว่า ไม้หมอนรถไฟ 1 ท่อน แลกกับคนงาน 1 ศพ

พระแท่นดงรัง
ขนาด4.90x2.25x90 สัณนิษฐานว่ามีขึ้นสมัยอยุธยา เป็นส่วนหนึ่งของบริโภคเจดีย์ในประเทศไทย แห่งอื่นๆ ได้แก่ พระแท่นศิลาอาสน์(อ.ทุ่งยั้ง อุตรดิตถ์) พระศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรีและพระพุทธฉาย จ.สระบุรี

วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เที่ยวชุมชนบ้านหนองขาว อ.ท่าม่วงและสัมผัสป่าชุมชนบ้านห้วยสะพาน ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี

โดย อาจารย์ พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ที่ปรึกษาชมรมท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชนถ่ายทอดเรื่องราว พระครูถาวรกาญจนนิมิตรเจ้าอาวาสวัดอินทาราม(วัดหนองขาว)ผู้มีเมตตาธรรมในการจุดประกายให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงชุมชนที่บ้านหนองขาว และได้ชักชวนเยาวชนบ้านหนองขาวในการอนุรักษ์ดนตรีไทยและการร้องเพลงพื้นบ้าน อันกลายเป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรท่องเที่ยวที่บ้านหนองขาว นอกเหนือจากการแสดงละครร่วมสมัยเรื่อง "อ้ายบุญทองบ้านหนองขาว" ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี ชาวบ้านหนองขาวจากเดิมที่เคยมีชื่อเสียงเลื่องลือในเรื่องความใจถึงทุกด้านก็เปลี่ยนไปเป็นคนที่เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยน้ำใจที่เปี่ยมล้น

เที่ยวชุมชนบ้านหนองขาว

ชมรมท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ประกอบด้วยกรรมการชมรม สมาชิกชมรม อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมได้จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงชุมชนเพื่อศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวบ้านหนองขาว ต.หนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี และชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคี ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ในภาคเรียนที่1 ปีการศึกษา2551 โดยได้ติดต่อไปยังอาจารย์ อุบล อำนวยและอาจารย์มนู อำนวย ผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองขาว เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดการต้อนรับสมาชิกชมรม


อาจารย์อุบล อำนวยและอาจารย์มนู อำนวย (ที่1แล2จากซ้ายมาขวา)จัดรถเกษตรกรรม(รถนางแต๋น)มาเป็นพาหนะเที่ยวชมรอบๆชุมชน อาจารย์ พิทยะ ศรีวัฒนสาร ที่ปรึกษาชมรมก็ร่วมทางไปด้วย อิ๋ว ยืนซ้าย แอม ยืนขวา สุวรรณ อายุโย (เสื้อดำ) กรรมการชมรมฯ นั่งชูนิ้ว 2 นิ้ว บ่งบอกความรู้สึกภายใน


บ้านหนองขาวเป็นชุมชนโบราณร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งกองทัพพม่ายกเข้ามารุกราน ชาวบ้านหนองขาวก็มีส่วนร่วมในการรบป้องกันมาตุภูมิ สมาชิกชมรมท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน ได้อาศัยรถของเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนบ้านหนองขาว พาพวกเราไปทุกพื้นที่ของบ้านหนองขาวด้วยรถนางแต๋นทั้งย่านบ้านเก่า คลองชลประทาน ร้านผลิตเครื่องประดับจากพลอยหลากสี ร้านโอทอป ร้านทอผ้าขาวม้าร้อยสี ฯลฯ


ข้าวต้มผัดพื้นบ้านรสอร่อยฝีมือใครเอ่ย..? ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของน้องๆเหล่านี้ที่ใช้เวลาว่ามาอบรมทำขนมต่างๆแบ่งออกเป็นสถานีข้าวต้มมัด สถานีข้าวเกรียบว่าว สถานีข้าวเหนียวเผือก-กล้วย สถานีขนมดอกจอก สถานีขนมตาล สถานีข้าวเกรียบปากหม้อ เป็นต้น ในช่วงสำรวจก่อนพาสมาชิกชมรมมาเยี่ยมชาวบ้านหนองขาว คณะกรรมการชมรมก็มีโอกาสเห็นความตั้งอกตั้งใจเข้าร่วมการอบรมของเด็กๆเหล่านี้พวกเรากำลังจะไปดูหม้อยายซึ่งลูกสาวของชาวบ้านหนองขาวทุกหลังคาต้องนำไปบูชาเมื่อถึงวัยแยก ครอบครัว และมีโอกาสชิมขนมตาลกับน้ำตะไคร้ในชุมชนอย่างเต็มอิ่ม
หม้อยายที่บ้านหนองขาว ที่พึ่งทางใจและเชื่อมโยงคนในอดีตเข้ากับคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน
การบูชาหม้อยายถือเป็นสวัสดิมงคลที่ชาวบ้านหนองขาวยึดถือปฏิบัติมาแต่โบราณนับร้อยๆปี ผ้าขาวม้าร้อยสีทอจากผ้าฝ้ายหลากสี ราคาสมคุณภาพที่บ้านหนองขาว
เที่ยวป่าชุมชนบ้านห้วยสะพาน
ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานตำบลหนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี อยู่ห่างบ้านบ้านหนองขาวประมาณ 10 กิโลเมตร ในภาพลุงประยงค์ แก้วประดิษฐ์ ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานสามัคคีกำลังเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของป่าชุมชนบ้านห้วยสะพานให้เราฟังว่า ป่าชุมชนแห่งนี้เคยถูกนายทุนฮุบไปเป็นพื้นที่กว่า 700 ไร่ ชาวบ้านได้ร่วมใจกับต่อสู้ด้วยกระบวนการแบบชุมชนเข้มแข็ง จนมีชัยชนะสามารถนำทรัพยากรของชาติกลับคืนมาเป็นของชุมชนอีกครั้ง แลกกับชีวิตของญาติมิตรที่ร่วมต่อสู้กันมาจำนวนหนึ่ง ต่อมาก็ได้รับความไว้วางใจจากกรมทรัพยากรป่าไม้ให้ดูแลพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 2,000 ไร่ (พี่ผึ้ง ดีใจมาก ชูสี่นิ้ว บอกว่า อยากศึกษาธรรมชาติที่บ้านห้วยสะพานต่ออีก 4 วัน)

ชาวบ้านตำบลห้วยโรง3-4หมู่บ้านร่วมกันกำหนดระเบียบในการใช้พื้นที่ป่า เช่น ห้ามจับสัตว์ ห้ามล่าสัตว์ ห้ามขุดแย้ ห้ามขุดบึ้ง ห้ามตัดไม้ ห้ามตีผึ้ง เป็นต้น แต่ก็สามารถใช้ประโยชน์จากป่าในกรณีอื่นได้ เช่น เก็บผักหวาน มะขาวป้อม ตะคร้อ หรือพืชยาสมุนไพรได้ นอกจากนี้ยังสามารถเก็บเห็ดโคนในช่วงปลายฝนต้นหนาว เห็ดโคนที่นี่มีชุกชุม ดอกใหญ่ รสชาติดี และมีชื่อเสียงระดับแนวหน้าของเมืองกาญจนบุรี

ในพื้นที่ป่าชุมชนมีสถานที่ตั้งแคมป์ เรียนรู้คุณค่าพืชสมุนไพรนานาชนิด สิปป์ภัสส์ โล้กูลประกิต นั่งตะเบ๊ะ พี่ต้น(ฤาชา ประมาคะตัง)ประธานชมรม พกโทรโข่งไปด้วย แบ๊งค์ จากนิเทศศาสตร์หมดแรง บิ๊กนั่งขวาสุด ที่นี่มีนักศึกษาและนักวิชาการทั้งในและต่างประเทศจากหลายสถาบันมาดูงานตลอดปี บ้างก็มาฝึกทำนา เกี่ยวข้าว ทอผ้า ฯลฯ
พี่อิ๋ว สาวเมืองราชบุรี ใส่ส้นสูงไปลุยป่าชุมชน จนเกิดรอยทรายคล้ายรูบึ้ง กำลังยืนฟังบรรยาย หนุ่มวีรวัฒน์ วรพฤกษกิจ เสื้อแดง ยืนด้านหลัง

เห็นชุมชนมีคติเรื่องการปลูกป่าสัญญาใจ สมาชิกของเราไม่รอช้า......

สีสวย..แต่กินไม่ได้ เจ้านี่คือเห็ดกาบหมาก เห็ดพิษชนิดหนึ่ง

เสื้อแดงใส่หมวกเอียงหน่อยๆคือพี่ผึ้ง เหตุที่ทางบ้านเรียกว่าผึ้งเนื่องจากสามารถร้องพลงของพุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้อย่างไพเราะ ยืนกอดอกด้านหลังคือคุณนายมะเหมี่ยว(ยุพา ศรีขาว) นายราเชน ชูเชิด หัวเหลืองสไตล์อัลเทอร์เนทีฟ ยืนเสียบข้างๆอาจารย์ สุวรรณ อายุโย(เสื้อดำ) กับทินพันธุ์ (เสื้อลายขวาง) กับหลายๆคนกำลังยืนดูต้นตะเคียนที่ลุงประยงค์บอกว่า เขาไม่ใช้สร้างบ้านเพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง มิฉะนั้นภูมิปัญญาด้านการสร้างเรือนของเราจะสูญหายไปเพราะกว่าจะได้สร้างบ้านทีก็กินเวลานานหลายชั่วอายุคน นายตู่ยืนท้าวเอวเอียงข้างหน้าสุด

มะกล่ำตาหนู มีพิษถึงตายถ้ากินเข้าไป
พี่ต้น(ใส่แว่นกันแดด)เอาเปรียบเพื่อนเรียนจบไปก่อนเลยได้ไปฝึกปรือวิทยายุทธ์ต่อที่ร้านสุกี้ชื่อดังและร้านโดนัทมีชื่อเช่นกันตามลำดับ สุวณ สิปป์ภัสส์และวีรวัฒน์กำลังไล่ตามออกไป
กล้วยเต่ากลิ่นหอมคล้ายกล้วยรสออกเปรี้ยวอมหวานชุ่มคอ ผลไม้ของพรานป่า
เยาวชนดีเด่นของบ้านห้วยสะพาน(นักศึกษาสาขาไอทีของม.กรุงเทพ)กำลังสร้างแรงบันดาลในการอนุรักษ์ป่าให้สมาชิกชมรมท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน ม.ธุรกิจบันฑิตย์ฟังอย่างสนุกสนาน
ด้วยความประทับใจ ... เราจึงสัญญากับคนที่บ้านห้วยสะพานว่า ถ้ามีโอกาสจะกลับมาสัมผัสชีวิตชนบทที่นี่อีกครั้งในวันข้างหน้า

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

กุหลาบที่พระตำหนักภูพิงค์

เที่ยววัดพันเตา เชียงใหม่

เที่ยวหมู่บ้านโปรตุเกสสมัยอยุธยา

“แผนที่แสดงชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่กรุงศรีอยุธยาค.ศ.1688(พ.ศ.2231)”ของลาลูแบร์เอื้อเฟื้อจาก http://www.southeastasianarchaeology.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง

โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

โปรตุเกสเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๐๕๔ ทูตคนแรก คือ ดูอาร์ตึ แฟร์นันเดช (Duarte Fernandes) ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การเจริญทางพระราชไมตรีกับราชสำนักสยามในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่2 (พ.ศ.2034-2072 /ค.ศ.1491-1529) และเสนอสิทธิพิเศษแก่กรุงศรีอยุธยาหากสามารถยึดครองมะละกาได้ หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน โปรตุเกสก็ยึดมะละกาสำเร็จ

ต่อมาในพ.ศ.2055(ค.ศ.1512) อัลฟองซู ดึ อัลบูแกร์กึส่งอันตอนิอู ดึ มิรันดา ดึ อาซึเวดู (Antonio de Miranda de Azevedo) เป็นทูตโปรตุเกสคนที่สอง โดยมีมานูเอล ฟรากูซู (Manuel Fragoso)ร่วมเดินทางมาด้วย ฟรากูซูพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยาประมาณ 2 ปี เขาบันทึกพิกัดที่ตั้งของกรุงศรีอยุธยาและเมืองท่าต่างๆ รวมทั้งสินค้า การแต่งกาย ขนบธรรมประเพณีของชาวสยามด้วย วัตถุประสงค์ของคณะทูตโปรตุเกสชุดที่สอง คือ การเจรจาให้กรุงศรีอยุธยาส่งเรือไปค้าขายที่มะละกา โดยโปรตุเกสจะให้ความช่วยเหลือด้านการทหารและกองเรือแก่กรุงศรีอยุธยาหากตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็น

ในพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) อาไลซู ดึ เมเนซึช (Aleixo de Meneses)กัปตันแห่งมะละกา ได้แต่งตั้งดูอารตึ คูเอลญู(Duarte Coelho)เป็นทูตคนที่สามเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา ทำให้มีการทำสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างโปรตุเกสและกรุงศรีอยุธยา สัญญาดังกล่าวระบุถึงการอนุญาตให้มีการตั้งถิ่นฐานของพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยาด้วย แม้ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ อ้างตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ชุมชนโปรตุเกสก่อตัวขึ้นในปีพ.ศ.2083(ค.ศ.1540) กล่าวคือ“ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีฝรั่งโปรตุเกสเข้ามาหากินที่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 130 คน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชจะเสด็จยกกองทัพหลวงไปปรบพม่าที่เมืองเชียงกราน ทรงเกณฑ์ชาวโปรตุเกสเป็นทหารรักษาพระองค์ 120 คน พวกโปรตุเกสได้รบพุ่งพวกข้าศึกแข็งแรง ครั้นชนะศึกมีความชอบ สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานอนุญาตให้พวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในพระราชอาณาจักร และทำวัดวาตามลัทธิศาสนาของตนได้ดังปรารถนา”

พิทยะ ศรีวัฒนสาร ในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ชุมชนโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2059-2310(ค.ศ.1516-1767)” เสนอว่า ชุมชนโปรตุเกสเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างน้อยในปีพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) โดยอ้างตามสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสพ.ศ.2059(ค.ศ.1516) ซึ่งระบุถึงการอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสสามารถเดินทางเข้ามาค้าขาย ตั้งบ้านเรือนและปฏิบัติศาสนกิจในกรุงศรีอยุธยา แลกเปลี่ยนกับการที่ทางการโปรตุเกสดำเนินการจัดหาปืนและกระสุนดินดำแก่กรุงศรีอยุธยา และอนุญาตให้ชาวสยามเดินทางไปค้าขายที่มะละกา จึงถือว่า พ.ศ.2059(ค.ศ.1516)เป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกของชุมชนโปรตุเกสในเมืองพระนครศรีอยุธยา

จดหมายเหตุของมองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ (M. de La Loubère) เรียกชุมชนโปรตุเกสว่า “ค่ายโปรตุเกส-Camp of Portuguese” ตรงกับภาษามาเลย์ว่า “Campong” และธีรวัติ ณ ป้อมเพชรระบุว่า“Campo” แปลว่า “บ้าน” หรือ “หมู่บ้าน” ในภาษาสยาม คำดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับคำว่า “Camp- ค่าย” และในคำประกาศเกียรติคุณของชาวโปรตุเกสที่ร่วมศึกพระยาตาก(สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)ขับไล่ทหารพม่าออกจากสยามเมื่อพ.ศ.2310(ค.ศ.1767) เรียกที่ตั้งของชุมชนโปรตุเกสที่กรุงธนบุรีว่า “ Bandel หรือ Bamdel dos Portuguezes” แปลว่า “บ้านของชาวโปรตุเกส” อันอาจสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมก่อนหน้านั้นได้เช่นกัน

หมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่บนที่ลุ่มชายฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศตะวันตก ห่างจากเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาไปทางใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร ศูนย์กลางของชุมชน คือ บริเวณโบสถ์ซานโดมินิกัน(โบสถ์ซานเปโตร) แผนที่ซึ่งเขียนโดยชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ อาทิ แผนที่อยุธยาของบาทหลวงคูร์โตแลง(Père Courtaulin)ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แสดงให้เห็นว่าค่ายโปรตุเกสในอดีตมีพื้นที่คล้ายรูปสามเหลี่ยม แต่การสำรวจเพื่อทำแผนผังประกอบการขุดแต่งโบราณสถานโบสถ์ซานเปโตรในปีพ.ศ.2527(ค.ศ.1983) แสดงลักษณะทางกายภาพของหมู่บ้านโปรตุเกสคล้ายรูปฝักมะขามตามสภาพการตั้งชุมชนปัจจุบันที่ขนานไปตามริมน้ำ และคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ โดยมีขนาดกว้างประมาณ 170 เมตร ยาวประมาณ 2000 เมตร

“แผนที่แสดงชุมชนหลากหลายเชื้อชาติที่กรุงศรีอยุธยา ค.ศ.1688(พ.ศ.2231)” ยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า ในสมัยอยุธยาชุมชนโปรตุเกสตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนนานาชาติ ได้แก่ ชุมชนจีน(ซึ่งมีทั้งในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง) ชุมชนโคชินจีน(เวียดนาม) ชุมชนมาเลย์ ชุมชนมากัสซาร์และชุมชนพะโค ส่วนทางฟากตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยชุมชนอังกฤษ ชุมชนฮอลันดา ชุมชนญี่ปุ่นและชุมชนจีนไล่ลงมาตามลำดับ ซึ่งรวมถึงชุมชนชาวสยามซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในเมืองพระนครศรีอยุธยา

วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ไปชมการแสดงที่สวนสามพราน(Rose Garden)กับอาจารย์พิทยะ

เที่ยวบ้านฮอลันดาสมัยอยุธยา

ฮอลันดาเป็นชาติมหาอำนาจซึ่งเข้ามามีบทบาทราชสำนักอยุธยาเป็นอันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองต่อเนื่องมาถึงต้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หมู่บ้านฮอลันดาตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากวัดพนัญเชิงประมาณ300 เมตร นักท่องเที่ยวต้องขับรถเข้าไปในทางแคบๆผ่านอู่ต่อเรือเอกชน สิ่งที่ตั้งเด่นในเขตโบราณสถานแห่งนี้ คือ อนุสรณ์สถานก่ออิฐถือปูนมีจารึก(ใหม่)เป็นภาษาดัทช์






กรมศิลปากรเคยอนุมัติโครงการขุดแต่งโบราณสถานหมู่บ้านฮอลันดาสมัยอยุธยา 2 ครั้ง พบหลักฐานชิ้นส่วนเครื่องเคลือบดินเผาแบบยุโรปจำนวนมาก เหรียญฮอลันดา กล้องยาสูบดินเกาลินเคลือบสีขาว กล้องสูบฝิ่น ฯลฯ





รากฐานอาคารโรงสินค้าฮอลันดา ซึ่งในบันทึกของชาวต่างประเทศระบุตรงกันว่า เป็นชุมชนชาวต่างชาติเพียงแห่งเดียวที่มีกำแพงและคูน้ำล้อมรอบอย่างมั่นคงแข็งแรง มีการสร้างทางระบายน้ำก่ออิฐถือปูนอย่างแข็งแรงมั่นคง








จารึกข้างต้นอ่านได้ความรวมๆว่า "สถานที่แห่งนี้ระหว่างค.ศ.1634-1767 เคยเป็นที่ตั้งของบริษัท อินเดียตะวันออก (VOC - Vereenigde คือ united / Oostindische คือ East India /Compagnie คือ Company)" ชาวสยามเคยเรียกชาวฮอลันดาว่า ชาววิลันดา ซึ่งเป็นคำที่ชาวโปรตุเกสใช้เรียกชาวฮอลันดามาแต่เดิมว่า "uitelander" (อ้างจากวิทยานิพนธ์เรื่องชุมชนชาวโปรตุเกสสมัยกรุงศรีอยุธยา, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541 โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร)

เที่ยวหมู่บ้านชาวญี่ปุ่นสมัยอยุธยา


สวนญี่ปุ่นในโบราณสถานหมู่บ้านญี่ปุ่น ดูแล้วชวนให้เกิดความรู้สึกสงบ สันติและสุภาพแบบนิกายเซ็น

โบราณสถานหมู่บ้านญี่ปุ่นแห่งนี้ ปัจจุบันมีนักธุรกิจญี่ปุ่นจากตระกูลยามาดะ เข้ามาทำร้านขายของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยว สงสัยหรือไม่ว่า ทำไมจึงเป็นตระกูลนี้ ลองนึกย้อนไปถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จะพบว่ามีชาวญี่ปุ่นผู้หนึ่งเดินทางเข้ามารับราชการในราชสำนักสยาม ตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข นามเดิมคือ ยามาดะ จิซายิมองโนโจ นางามาสา ซึ่งแม้ว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ่อค้าชาวญี่ปุ่นในกรุงศรีอยุธยาจะถูกขับไล่ออกไปจากปัญหาการเมืองในราชสำนักสยาม แต่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ก็ยังปรากฏหลักฐานว่ามีชาวญี่ปุ้นเดินทางกลับเข้ามาอีกครั้งจำนวน๖๐-๗๐ คน จากที่เคยมีมากถึง๖๐๐ คนในสมัยพรระเจ้าทรงธรรม(ปชพ.ล.๑๓น.๑๕๕)















อาคารจัดแสดงสร้างอย่างงดงามเรียบง่ายสไตล์ญี่ปุ่น






ฝั่งตรงข้ามเป็นเกาะโปรตุเกสด้านหน้า(ทิศตะวันออก)เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหลัง(ทิศตะวันตก)เป็นคลองเทศหรือคลองวัดแจ้ง ซึ่งขณะนี้ก็ยังแลเห็นร่องรอยอยู่





รั้วไม้ไผ่เทียมแบบญี่ปุ่นอาจก่อให้เกิดแรงบันดาลใจให้หลายคนสร้างรั้วเรียบง่ายเช่นนี้


แผนที่ในบันทึกของลาลูแบร์ตีพิมพ์ปลายคริสต์ศตวรรษที่17 แสดงที่ตั้งหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น ซึ่งตั้งเยื้องไปทางใต้คนละฝั่งกับชุมชนโปรตุเกส ประชุมพงศาวดารเล่ม๑๓ เรื่องทางพระราชไมตรีระหว่างไทยกับญี่ปี่น รวบรวมโดย เซอร์ เออร์เนส ซาโตว (Sir Earnest Satow)อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงเทพฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ระบุว่า ยามาดะ จิซายิมองโนโจ นางามาสา เคยได้รับความไว้วางใจเป็นผู้แต่งเรือให้คณะทูตสยามจำทูลพระสุพรรณราชสาส์นไปเจริญพระราชไมตรีไมตรีกับราชสำนักโชกุนอิเยยัสสุ(ปชพ. เล่ม๑๓ น.๑๔๗)และยังเขียนหนังสือแนะนำราชทูตสยามแก่ขุนนางญี่ปุ่นหลายครั้ง อาทิ ในปีพ.ศ.๒๑๖๔ และพ.ศ.๒๑๗๒(ปชพ. ล.๑๓ น.๑๗๗)



เคยหลายท่านคงเคยทราบมาจากเอกสารฝ่ายไทยว่า ท่านยามาดะ นางามาสาผู้นี้ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเป็น ออกญาเสนาภิมุข เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น ตำแหน่งหลังสุดก่อนถึงแก่มรณกรรม คือ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช แต่เซอร์ เออร์เนสท์ ซาโตว ลำดับให้เห็นว่า หลักฐานหลายชิ้นของพ่อค้าอังกฤษในญี่ปุ่น เช่น จดหมายเหตุของก๊อก เรียกตำแหน่งของยามาดะ นางามาสา ต่างกันออกไป ได้แก่ ออมพระ(Ompra) ออบพระ(Oppra) อัมปิรา(Ampira) และออมพู(Ompu) คำดังกล่าว เซอร์ซาโตว อ้างข้อเสนอของมร.เฟรนช์(E.H.French)เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ณ กรุงสยามว่า กลุ่มคำข้างต้น อาจหมายถึงนายอำเภอในภาษาไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่หนังสือของสังฆราชปัลเลอร์กัวอธิบายว่า "เป็นตำแหน่งฝ่ายนครบาล ควบคุมราษฎรชั่วเขตหมู่บ้านหนึ่ง"(ปชพ.ล.๑๓น.๑๗๗) และเป็นตำแหน่งหัวหน้าคนต่างชาติในสยามด้วย อาทิ นายอำเภอจีน นายอำเภอญี่ปุ่น และนายอำเภออังกฤษ โดยนายอำเภอจะทำหน้าที่คล้ายกงศุลดูแลผลประโยชน์ของชนชาติตน(ปชพ.ล.๑๓น.๑๘๑

ภาพเขียนของยามาดะ จิซายิมองโนโจ นางามาสา(เอื้อเฟื้อจากwikipedia.com ขอขอบคุณอย่างยิ่ง)

แม้หนังสือของเซอร์ซาโตว(ปชพ.ล.๑๓น.๒๔๐)จะพยายามบอกให้ทราบว่า เมื่อสิ้นกรุงกรุงศรีอยุธยาในพ.ศ.๒๓๑๐ บ้านเรือนใน "ค่ายญี่ปุ่น" รวมถึงบรรดาลูกหลานก็พากันสูญหายไปจนหมดสิ้น กระนั้นก็ตาม จารึกพระราชทานที่ดินแก่ชาวโปรตุเกสซึ่งมีบทบาทช่วยเหลือพระเจ้าตากสินในการขับไล่พม่าออกไปจากเมืองบางกอก ภาษาโปรตุเกส ศักราช ๑๗๖๘ (พ.ศ.๒๓๑๑)ซึ่งพบจากการบูรณะวัดซางตาครูส (บ้านกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี)ระบุถึงชื่อของ "Catharina do Rozr.viuva(หม้าย)กับหลานชาย (Netto)ชื่อ Pedro Jamada " (P. Manuel Teixeira, Portugal na Tailandia, 1983 p.80-84)บ่งชี้ว่า แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาถึงรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว แต่ลูกหลานของคนในสกุล "ยามาดะ" ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านญี่ปุ่นและยังคงมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับคนในค่ายโปรตุเกส ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันมาโดยตลอด