จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นิยาม แนวคิด ปัญหา และอุปสรรคของการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ความหมายของ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน”
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน( Sustainable Tourism) เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งนักวิชาการด้านการท่องเที่ยวได้ให้ความสนใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกันมากขึ้น เนื่องจากความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการท่องเที่ยวที่หันมานิยมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีผู้กล่าวถึงความหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไว้หลายทรรศนะ ดังนี้

การประชุม Globe’90 (พ.ศ. 2533) ให้คำจำกัดความว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หมายถึงการท่องเที่ยวที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและเป็นเจ้าของท้องถิ่นในปัจจุบัน โดยมีการปกป้องและสงวนรักษาทรัพยากรของอนอนุชนรุ่นหลังด้วย

องค์การ Eastern Caribbean States (OECS) ให้คำจำกัดความว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หมายถึงการใช้ประโยชน์สูงสุดในทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาคและการเลี้ยงดูตนเอง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้มาเยือน และเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิต โดยความร่วมมือของหลายๆ ฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในท้องถิ่นนั้นๆ

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ขอให้ราชบัณฑิตยสถานช่วยบัญญัติคำจำกัดความของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยราชบัณฑิตยสถานได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า หมายถึง การพัฒนาทรัพยากรท่องเที่ยวเพื่อตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสุนทรีภาพ โดยใช้ทรัพยากรอันทรงคุณค่าอย่างชาญฉลาด สามารถรักษาเอกลักษณ์ของธรรมชาติและวัฒนธรรมไว้ได้นานที่สุด เกิดผลกระทบน้อยที่สุดและใช้ประโยชน์ได้ยาวนานที่สุด

จากทัศนะต่างๆ ที่กล่าวมา พอสรุปได้ว่า การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หมายถึง การท่องเที่ยวที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้เป็นเจ้าของท้องถิ่น ภายใต้ขีดความสามารถของธรรมชาติที่จะรองรับได้ และตระหนักถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีต่อกระบวนการท่องเที่ยว อีกทั้งประชาชนทุกส่วนต้องได้รับผลประโยชน์ที่เกิดจากการท่องเที่ยวอย่างเสมอภาคกัน รวมถึงมีการจัดการทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศของท้องถิ่นนั้นไว้ได้

แนวคิดในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) เป็นต้นมานั้น เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวที่มีเป้าหมายนำเงินตราต่างประเทศโดยสร้างงานสร้างอาชีพให้เศรษฐกิจเจริญก้าวหน้าและเติบโตอย่างรวดเร็ว นับจากปี พ.ศ. 2525 เรื่อยมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีความเจริญทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นลำดับ สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่งมากกว่าสินค้าส่งออก ทั้งสินค้าสิ่งทอและสินค้าเกษตรกรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2530 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประกาศเป็นปีท่องเที่ยว (Visit Thailand Year) เป็นครั้งแรก

แม้ว่า ททท. ได้วางแผนพัฒนาการส่งเสริมการท่องเที่ยวไว้ เพื่อป้องกันผลประทบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยวที่อาจเกิดคู่กัน โดยมีนโยบายหลักในข้อ 3 ว่า “อนุรักษ์และฟื้นฟูสมบัติวัฒนธรรมทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของไทยไว้ด้วยดีที่สุด” แต่ผู้ประกอบการหลายรายมิได้ปฏิบัติตามแผนฯ แต่กลับมุ่งใช้ทรัพยากรกันอย่างฟุ่มเฟือย ขาดจิตสำนึกต่อการรักษาสิ่งแวดล้อม ขาดการรับผิดชอบ การเสียสละต่อส่วนรวม ละเลย และละเมิดต่อกฎระเบียบ กฎหมาย ในที่สุดประมาณ ปี พ.ศ. 2528 – 2529 เมืองหลักทางการท่องเที่ยวหลายแห่ง ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเช่น ปัญหาขยะ ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาสิ่งสาธารณูปโภค (น้ำ ไฟ โทรศัพท์) ไม่เพียงพอในเมืองต่างๆ เช่น เมืองพัทยา เกาะเสม็ด

ตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535-2539) ททท. ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม เพื่อลดผลกระทบมลพิษทางสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับแผนแม่บทของโลก คือ แผนปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) ที่กำหนดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการบริโภค ประชากร และความสามารถในการรองรับของโลกต่อการค้ำจุนสิ่งมีชีวิต (Earth’s life Supporting Capacity) รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคต่างๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ขณะเดียวกันนั้นได้มีการจัดการทรัพยากรอย่างระมัดระวัง การพัฒนาอย่างยั่งยืนมุ่งเน้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวม ปรับสภาพการจัดการเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ของกระแสโลกที่เปลี่ยนไปจากสังคมบริโภคนิยมสู่ยุคสมัยสังคมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

สำหรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540-2544) กำหนดให้การพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างมีเสรีภาพ มั่นคงและสมดุลเสริมสร้างโอกาสการพัฒนาศักยภาพของคนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและได้รับผลจากการพัฒนาที่เป็นธรรม อันเป็นการพัฒนาที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างงานสร้างรายได้แล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสังคมวัฒนธรรมธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นโยบายการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของททท. ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 8 ในข้อที่ 1. ส่งเสริมอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม และทรัพยากรการท่องเที่ยวควบคู่กับสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงคุณภาพของการพัฒนาท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในระยะยาวและคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์และมรดกของชาติสืบไป

ปัญหา และอุปสรรคในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะดำเนินไปได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการประสานงานจากองค์ประกอบของการท่องเที่ยวในทุกด้านและเป็นไปอย่างสอดคล้องกัน ไม่เพียงเฉพาะการผสมผสานความต้องการและการตอบสนองแก่นักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญต่อการดูแลรักษาความเป็นธรรมชาติและเอกลักษณ์ของทรัพยากรท่องเที่ยวเป็นหลักควบคู่กันไป แต่ในปัจจุบันแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 กำลังจะสิ้นสุดในปีนี้ การพัฒนาไม่สามารถดำเนินไปตามแผนได้ ด้วยปัญหาและอุปสรรคดังนี้

1. การบริหารจัดการ
ในส่วนขององค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการอันได้แก่ ททท. กรมป่าไม้ กรมการปกครอง การควบคุมมลพิษ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม รวมทั้งองค์กรชุมชนในท้องถิ่น หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน แต่ที่ผ่านมาการพัฒนามักเป็นการดำเนินการแบบ “ต่างคนต่างทำ” การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานนำไปซึ่งปัญหาการบริหารจัดการในท้องถิ่นนั้นๆ

2. แหล่งท่องเที่ยวกับกิจกรรม
ปัจจุบันการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวบางชนิดไม่คำนึงความเหมาะสม หรือผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยว มุ่งแต่ผลประโยชน์หรือด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนทำให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของแหล่งท่องเที่ยว นอกจากนี้แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งยังมิได้กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity)

3. การบริการ
เป็นองค์ประกอบสำคัญในการอำนวยความสะดวก ส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ดูแล ให้นักท่องเที่ยวบรรลุวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยว การบริการการท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ที่พัก ร้านอาหาร การบริการนำเที่ยว เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาการบริการดังกล่าวไม่ได้รับการบริการจัดการที่ควร จึงกลายเป็นปัญหาการบริการที่ไม่มีมาตรฐาน

4. สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิทัศน์
แบบส่งเสริมคุณค่าและสวยงามให้แก่แหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ แต่ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งกลับถูกทำลายโดยสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิทัศน์ดังกล่าว ด้วยเหตุของการขาดการบริหารจัดการจากผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้น จึงกลายเป็นปัญหาการสร้างสิ่งแปลกปลอมหรือการทำลายทรัพยการในการท่องเที่ยว

5. นักท่องเที่ยว
ถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาและการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวเป็นผู้ต้องการหรืออุปสงค์ (Demand) ของการท่องเที่ยว อีกทั้งนักท่องเที่ยว คือ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา และอุปสรรคในการพัฒนาการท่องเที่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม หรือวัตถุประสงค์ของการท่องเที่ยว การขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์ทรัพยากร มีส่วนทำให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว

6. ชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว
มีบทบาทและความสัมพันธ์ต่อการท่องเที่ยวในหลายรูปแบบ เช่น ความเป็นเจ้าของ ผู้จำหน่ายสินค้า ผู้ให้บริการ รวมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น ความสำคัญดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกในกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน แต่ด้วยความเป็นชุมชนนั้นก็ก่อให้เกิดปัญหาในการพัฒนาการท่องเที่ยวได้ด้วยเหตุของการขาดความรู้ความเข้าใจ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการพัฒนา จึงทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนล่าช้า

แนวทางการแก้ไขปัญหา และอุปสรรคของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
การพัฒนาเพื่อนำไปสู่การเติบโตการดำรงอยู่และการสืบทอดต่อไปจำเป็นต้องพัฒนาแบบครบวงจร ดำเนินการไปพร้อมกันในทุกองค์ประกอบในด้านต่างๆ ดังนี้

1. การบริหารจัดการต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ดำเนินไปด้วยกัน
2. การกำหนดกิจกรรมให้เหมาะสมกับแหล่งท่องเที่ยว
พอเพียงต่อขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งท่องเที่ยว และก่อให้เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด
3. การส่งเสริม สนับสนุนการบริหารและให้บริการที่มีคุณภาพ
โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า เป็นระบบ และยั่งยืน
4. การสร้างความสัมพันธ์ของชุมชนในการมีส่วนร่วม
และจิตสำนึกของการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ถ่องแท้ในคุณค่าของทรัพยากรกับกระบวนการการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยตระหนักถึงความพึงพอใจและความต้องการของชุมชนด้วย
5. การสร้างเสริมและเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ
จิตสำนึกของนักท่องเที่ยวและเจ้าของท้องถิ่น ในความรัก หวงแหน และรับผิดชอบต่อทรัพยากรท่องเที่ยว รวมถึงการพึ่งพากันในความต้องการและตอบสนองอย่างรู้คุณค่าของการใช้ไปและการฟื้นฟู รักษาทรัพยากรการท่องเที่ยวไว้ให้ยั่งยืน

การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนนั้น ประชาชนในท้องถิ่น ผู้เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวจะต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำกับพหุภาคี โดยคำนึงถึงเป้าหมายต่อการพัฒนา คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ได้นานที่สุด มีปัญหาหรือผลกระทบน้อยที่สุด นั่นคือการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น