จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การบรรยายพิเศษปฐมนิเทศสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน

ที่ห้องประชุม๑-๑ อาคารสนม สุทธิพิทักษ์
วันศุกร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕
โดย อ.พิทยะ ศรีวัฒนสาร
กลุ่มวิชาวัฒนธรรมไทย หมวดวิชาศึกษาทั่วไป
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน

สวัสดีประธานกรรมการและคณะกรรมการกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน สมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม และสมาชิกใหม่ของกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชนผู้มีเกียรติทุกท่าน ผมรู้สึกเป็นเกียรติและปลื้มปิติ ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมปฐมนิเทศกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชนของพวกเรา และขอต้อนรับทุกท่านอย่างเป็นทางการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

กลุ่มของเราเป็นกลุ่มคนทำกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ ที่มีค่อนข้างมีอนาคตสดใส อนุมานจากความสนใจสมัครในการเข้าร่วมทำกิจกรรมของสมาชิกจำนวนเกือบ๔๐๐คน แม้จะเพิ่งเปิดตัวใหม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงขอกล่าวถึงแนวคิดในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชนดังประเด็นต่อไปนี้
ความเป็นมา

กลุ่มCBSTC(Community -based Sustainable Tourism Club)หรือกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน ก่อตัวขึ้นจากความสนใจร่วมกันของสมาชิกกลุ่มหนึ่ง ที่จุดประกายความคิดเมื่อประมาณกลางปีพ.ศ.๒๕๔๔ว่า ทรัพยากรท่องเที่ยวทั้งหลายในท้องถิ่นทุกภูมิภาคของเรา ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาทตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๐ จนเกือบถึงสามแสนล้านบาทในปัจจุบัน และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะมีความมั่นคงและยั่งยืนสืบไปถึงอนุชนในยุคหน้าได้นั้น ประชาชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว จะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการลงทุน บริหารและจัดการแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ สอดคล้องกับแนวความคิดการอนุรักษ์และพัฒนาการท่องเที่ยวในโลกปัจจุบัน ที่เน้นให้ชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการทรัพยากรท่องเที่ยวของตน

การมีส่วนได้ ส่วนเสียในทรัพยากรท่องเที่ยว เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว เกิดความรู้สึกหวงแหนมรดกศิลปวัฒนธรรมและทรัพยากรท่องเที่ยวของตน และนำผลประโยชน์ที่ได้จากการจัดการทรัพยากรท่องเที่ยว มาเป็นทุนในการเข้าร่วมรณรงค์ ปกป้อง ทะนุบำรุง อนุรักษ์และพัฒนามรดกทรัพยากรท่องเที่ยวของตนอย่างจริงจัง

ความเคลื่อนไหวของการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรท่องเที่ยวของชุมชน มีองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)เป็นหน่วยงานท้องถิ่นหลักที่รับผิดชอบดูแล เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ และบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆอย่างค่อนข้างเต็มตัว อาทิ การจัดเก็บค่ารถรับส่งขึ้นชมทุ่งดอกกระเจียวและอุทยานแห่งชาติป่าหินงาม อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งมีระเบียบเคร่งครัดว่า ห้ามนำรถอื่นผ่านเข้าไปในวันหยุด ยกเว้นวันธรรมดา หรือได้รับอนุญาตจากหัวหน้าอุทยานป่าหินงามและแม้นักท่องเที่ยวจะมาเป็นหมู่คณะก็ไม่สามารถเหมารถเข้าไปชมได้

เมื่อถามว่ากระบวนการผูกขาดเก็บค่าโดยสารเข้าชมมีขั้นตอนการนำส่งรายได้และนำย้อนกลับมาพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างไร มีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด ใครเป็นเจ้าของรถโดยสาร ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงหรือสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเพียงกลุ่มหนึ่ง คำถามอย่างนี้เป็นสิ่งน่าสนใจทั้งสิ้น เพราะเมื่อขึ้นไปชมอุทยานป่าหินงามบางท่านอาจได้พบเศษขยะกระจายหลงหูหลงตาอยู่ไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งก้าวเข้ามามีบทบาทในการสื่อความหมายและอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ให้เห็นความเคลื่อนไหวแง่มุมต่างๆอย่างรอบด้าน เพื่อให้การท่องเที่ยวเพื่อชุมชนมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวคืออะไร
เราทราบกันดีว่า ทรัพยากรท่องเที่ยวในประเทศไทยจำแนกเป็น ๓ ประเภทคือ
๑)ทรัพยากรท่องเที่ยวที่เกิดเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ทะเล ภูเขา น้ำตก ถ้ำ แม่น้ำลำธาร ป่าไม้ ฯลฯ
๒)ทรัพยากรท่องเที่ยวที่เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณี ได้แก่ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี เครื่องมือเครื่องใช้ ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานโบราณ ฯลฯ
๓)ทรัพยากรท่องเที่ยวที่มนุษย์ทำขึ้น ได้แก่ สวนสัตว์ สวนสนุก อุทยานแนวคิด(Theme Parks) ฯลฯ

ทรัพยากรท่องเที่ยวเหล่านี้ บางแห่งอยู่ในการดูแลของเอกชน บางแห่งกรมป่าไม้ดูแล บางแห่งกรมศิลปากรดูแล ฯลฯ โดยที่ประชาชนในท้องถิ่นไม่มีโอกาสเข้าร่วมบริหารจัดการและแบ่งปันผลประโยชน์โดยตรง ทำให้ชุมชนมิได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรท่องเที่ยวในท้องถิ่นของตน เมื่อแหล่งท่องเที่ยวถูกย่ำยีก็ไม่มีผู้ใดอ้างตัวรับผิดชอบ

ความหมายของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อชุมชน
เมื่อรัฐธรรมนูญพ.ศ.๒๕๔๐ กำหนดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายในการบริหาร จัดการทรัพยากรต่างๆในท้องถิ่นของตน ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมของชาติด้วยความชอบธรรม จึงเปิดโอกาสให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ได้แก่ อบต. และอบจ. เข้ามีส่วนร่วมในส่วนแบ่งที่เกิดขึ้นจากธุรกิจท่องเที่ยวในเขตรับผิดชอบของตนอย่างกว้างขวาง

ปรัชญาและปณิธานของกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน
กระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชนขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการบริหาร การจัดการทรัพยากรท่องเที่ยวและการแบ่งปันผลประโยชน์ในชุมชนต่างๆทุกภูมิภาค ทั้งในประเทศไทย ในภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเป็นแนวทางในการอธิบายและทำความเข้าใจกับการกระบวนการอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทยให้มีความยั่งยืน โดยกระบวนการสำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยวิถีชีวิต ภูมิปัญญา การทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน รวมถึงการอธิบายสภาพปัญหาและความเป็นไปต่างๆที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนต่างๆทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณี รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ แม่น้ำ ทะเล ภูเขา ถ้ำ-ผา ป่าไม้ โบราณสถาน สวนเกษตร สวนสัตว์ อุทยานแนวคิด โฮม สเตย์ ฯลฯ

นอกจากนี้กลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชนยังพยายามที่จะเผยแพร่แนวความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศรูปแบบต่างๆ อาทิ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวผจญภัย การไต่หน้าผา การดูนก และการท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติรวมถึงปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อการท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชนในรูปของการออกไปจัดนิทรรศการทางวิชาการในสถานที่ต่างๆ การเสนอบทความ การทำงานวิจัยภาคสนาม การถ่ายทอดเทคนิค ประสบการณ์และกลยุทธ์ต่างๆในด้านการนำเที่ยว อันอาจนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินอาชีพมัคคุเทศก์ ไม่ว่าสมาชิกจะศึกษาในสาขาวิชาใดก็ตาม การทำกิจกรรมต่างๆดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะส่งผลดีต่อชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของกลุ่มและมหาวิทยาลัยให้ยั่งยืนต่อไปด้วย

ชุมชนคืออะไร
ชุมชนหมายถึงกลุ่มชนซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เดียวกันเป็นเวลานาน มีความสัมพันธ์กันทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและวัฒนธรรม เป็นเจ้าของทรัพยากรและมีการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ร่วมกัน
การอธิบายถึงชุมชน ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจองค์ประกอบและปัญหาของชุมชนต่าง ๆให้แจ่มชัด พื้นฐานวัฒนธรรมของชุมชน พิจารณาจากปัจจัยต่างๆคือ ความสามารถในการยังชีพ ขนาดของการพึ่งพาธรรมชาติ ระบบการผลิตเชิงพาณิชย์แบบเข้มข้น ระบบประกอบการขนาดเล็ก การพึ่งพาการรับจ้างทั้งในและนอกภาคการเกษตร ลักษณะการพัฒนาของรัฐในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง ผลจากการขยายตัวของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมสู่ชุมชน เป็นต้น และจากการศึกษาชุมชนในภาคเหนือเป็นตัวตั้ง อาจกล่าวโดยภาพรวมได้ว่า โดยทั่วไปแล้วชุมชนในประเทศไทยจำแนกได้ ๕ รูปแบบดังนี้

๑.ชุมชนที่ยังมีปัญหาในการยังชีพ เป็นชุมชนซึ่งชาวบ้านมีที่นาน้อย เฉลี่ยครัวเรือนละไม่ถึง 2 ไร่ และผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำ ทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งป่าธรรมชาติเพื่อตัดไม้หารายได้ หาอาหาร และทำข้าวไร่
๒.ชุมชนที่พึ่งพาการซื้อข้าวบริโภค ชาวบ้านส่วนหนึ่งยังปลูกข้าวไม่พอบริโภคไม่มีระบบเหมืองฝายและมักมีปัญหาฝนแล้ง ที่นาส่วนใหญ่เป็นของเป็นของนายทุน ชาวบ้านอยู่ได้ด้วยการบุกเบิกทำไร่ ปลูกพืชเพื่อการค้าที่ใช้ทุนสูง เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง มะเขือเทศ ขิง และถั่วแขก ทำให้ต้องเลือกทำสัญญาขายผูกพันล่วงหน้า เพราะพ่อค้าเป็นผู้ออกทุนบางส่วนให้ทำเกษตรกรรม
๓.ชุมชนที่ขายข้าวและรับจ้าง มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ปลูกพืชไร่เล็กน้อย กลุ่มคนที่มีนามากและปานกลางจะมีข้าวเหลือขาย แต่บางปีชาวบ้านส่วนหนึ่งขาดข้าวเนื่องจากฝนแล้ง ต้องออกไปหางานทำต่างถิ่น เพราะไม่มีทุนปลูกพืชพาณิชย์หรือผลิตพืชผลอย่างอื่น ชาวบ้านหลายคนต้องเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ กลายเป็นปัญหาสังคมที่ชุมชนต้องหันมาสนใจมาก
๔.ชุมชนเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์แบบเข้มข้น ชุมชนมีระบบเหมืองฝายที่ดี ทำให้ปลูกข้าวและถั่วได้ปีละ 3 ครั้ง คนไม่มีที่นาประมาณร้อยละ 40 จะมีรายได้จากการทำนาเช่าและรับจ้างทำการเกษตรในชุมชน ทำให้ออกไปทำงานต่างถิ่นน้อย บางส่วนปลูกพืชที่ใช้ทุนสูง เช่น แตงและขิง
๕.ชุมชนการเกษตรก้าวหน้าที่กำลังเผชิญกับกระแสทุนจากภายนอก ชุมชนกลุ่มนี้สามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง มีระบบชลประทานเหมืองฝายดี ปลูกข้าวและพืชพาณิชย์ ไม่พึ่งพาการทำไร่ ชาวบ้านบางส่วนมีรายได้จากสวนลำไยแบบก้าวหน้า ใช้ปัจจัยการผลิตอย่างเข้มข้น และจ้างแรงงานแบบเบ็ดเสร็จ ทำให้มีฐานะดี บางส่วนทำธุรกิจขนาดเล็กนอกภาคเกษตร เช่น โรงงานทำอิฐ บางส่วนค้าขายพืชผลทางการเกษตร แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีที่ดิน ต้องเช่าที่นาและรับจ้าง จึงมีฐานะยากจนต้องซื้อข้าวกิน มีหนี้สินจากการลงทุนในการผลิตเพื่อขาย ชาวบ้านที่มีที่นาขนาดเล็กมีฐานะพอมีพอกิน แต่ก็มีหนี้สินมากเพราะต้องเสี่ยงกับการปลูกพืชพาณิชย์แบบเข้มข้น

จากพื้นฐานข้างต้นจะเห็นว่า ชุมชนมีสิ่งที่น่าสนใจหลากหลายไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญา วัฒนธรรมการหากินหาอยู่และวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชน และสิ่งต่างๆที่เป็นตัวตนของชุมชน และชุมชนมอบให้เป็นมรดกทรัพยากรท่องเที่ยวจำแนกได้ดังนี้

ก. การดำเนินธุรกิจต่อเนื่องการเกษตรและธุรกิจนอกภาคนอกการเกษตรของชุมชน ได้แก่
-ผลิตภัณฑ์จากผ้า เช่น การทำผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ ผ้าไหม มัดหมี่ ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง และกระเป๋าผ้าชนิดต่าง ๆ
-ผลิตภัณฑ์ตัดเย็บเสื้อผ้า เช่น การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้านและสำนักงาน และเสื้อผ้าเครื่องแบบของพนักงานบริษัทและข้าราชการ
-ผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่และหวาย เช่น ตะกร้า เข่ง กระจาด เสื่อหวาย กระติ๊บข้าว กระด้ง และหัตถกรรมไม้ไผ่อีกมาก
-ผลิตภัณฑ์ดอกไม้ประดิษฐ์ เช่น การทำดอกไม้ ผลไม้ และไม้ประดิษฐ์จากกระดาษชนิดต่าง ๆ
-ผลิตภัณฑ์อาหารและการแปรรูป เช่น ผัก ผลไม้ ที่ปลอดสารเคมี ผลิตภัณฑ์จากผลไม้พร้อมดื่ม หัวเชื้อเครื่องดื่มเข้มข้นไวน์จากผลไม้ชนิดต่าง ๆ (เช่น มะยม มะเฟือง มะขาม สับประรด เป็นต้น) สมุนไพรผง ข้าวสารปลอดสารพิษ และน้ำตาลก้อนปลอดสารเคมี
- ผลิตภัณฑ์วัสดุ เช่น เครื่องปั้นดินเผา ผลิตภัณฑ์โลหะ (เช่น มีด เสียม เคียว ขวาน จอบ) ผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้าง ( เช่น อิฐบล็อก อิฐทนไฟ กระเบื้องมุงหลังคา และกรอบประตูหน้าต่างเหล็ก)

ข.กิจกรรมธุรกิจเกษตรผสมผสานของชุมชน จำแนกเป็น
-กิจกรรมลานค้าชุมชน ได้แก่ การจัดหาพื้นที่ให้สมาชิกนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นการเกษตร ต่อเนื่องการเกษตร และนอกการเกษตร สู่ตลาดเพื่อซื้อ – ขายสินค้า ในกรณีนี้ ลูกค้าของลานค้าชุมชนอาจได้แก่เกษตรกร คนชนบท นักท่องเที่ยว คนเมือง และอื่น ๆ ลานค้านี้อาจตั้งในตลาดชนบท ตลาดเมือง สี่แยกที่ชุมนุมการสัญจรโดยปลอดการเสียค่าธรรมเนียม

-กิจกรรมร้านค้าชุมชน ได้แก่ การส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำธุรกิจชุมชนด้วยการตั้งร้านค้าเพื่อขายผลิตภัณฑ์ของตน ธุรกิจแนวนี้มักมีความเกี่ยวพันกับกิจกรรมการออมทรัพย์ การระดมหุ้นการระดมทุน การผลิต และการแปรรูป ซึ่งจัดตั้งขึ้นแล้วในหลายจังหวัด
-ศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ( One – Stop – Service) ตามพระราชดำริที่ว่า ควรมีสถานที่ที่เกษตรกรสามารถแสวงหาข้อมูล คำแนะนำในการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์บก สัตว์น้ำ การใช้น้ำ การบำรุงดิน การป้องกันและปราบศัตรูพืช การลงทุน การตลาด การแปรรูปผลผลิต ฯลฯ

ในมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวนั้น ผลผลิตที่ชุมชนเป็นเจ้าของจะถูกนำออกมานำเสนอในรูปแบบต่างๆให้ศึกษาดังนี้
๑.การจำหน่ายสินค้าเอกลักษณ์ของชุมชน(Product Sales)อาทิ สินค้าหัตถกรรม อาหารประจำถิ่น ทั้งนี้หมายถึง ทรัพยากรการท่องเที่ยวอื่นๆ ของชุมชนนั้นด้วยเช่นผลไม้ตามฤดูกาล เป็นต้น
๒.กิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรม(Cultural Shows) เช่น การฟ้อนรำ การละเล่นพื้นบ้านและ การแสดงดนตรีเฉพาะชุมชนเป็นต้น
๓.กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงหมู่บ้าน (Village Based Activities) หมายถึงกิจกรรมทางการท่องเที่ยว อาทิ การจัดกิจกรรมเดินป่าชมธรรมชาติในบริเวณหมู่บ้านหรือบริเวณใกล้เคียงพร้อมมัคคุเทศก์นำทางโดยคิดค่าใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยว
๔.กิจกรรมพักค้างแรมในหมู่บ้าน สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในชุมขน กิจกรรมการพักแรมในหมู่บ้านมีหลายรูปแบบ ได้แก่
1.1 การจัดแคมป์ (Camping)
1.2 การกิจกรรมที่พักแรม Homestay
1.3 การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกและที่พักแรมในหมู่บ้าน(Operated Accommodation เป็นต้น

สถานภาพของสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชนบนเวทีกิจกรรมมธบ.
เมื่อเรารู้จักชุมชนกันแล้ว ทีนี้ก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองดูว่าWho are we? เราเป็นใคร
คำตอบก็คือ เราเป็นทั้งนักท่องเที่ยว นักจัดรายการนำเที่ยว นักธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ นักค้นคว้า นักวิจัยด้านการท่องเที่ยว นักสำรวจแหล่งท่องเที่ยว นักวิชาการวัฒนธรรมและนักประชาสัมพันธ์ แต่กิจกรรมที่เราจะเน้นคือการติดตามความเป็นไป ทิศทาง และแนวโน้ม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีชุมชนต่างๆเข้ามาดูแลรับผิดชอบดำเนินการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรท่องเที่ยว ด้วยความรู้สึกหวงแหนที่มีต่อสมบัติมรดกทรัพยากรท่องเที่ยว ซึ่งเราในฐานะที่เป็นสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชนทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ในฐานะประชาชนไทยและในฐานะของสมาชิกประชาคมโลก

เมื่อเราออกทำกิจกรรมสัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยว ผลที่เราจะได้รับคือความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดีและภูมิปัญญาท้องถิ่นในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆอันจะทำให้เรามีความสุข เพราะการทำกิจกรรมของเราคือการท่องเที่ยว การค้นคว้า สำรวจ วิจัย และศึกษาแบบแผนการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆของชุมชน เสน่ห์ของการเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติและวิถีชิวิตชุมชนอันหลากหลาย จะเป็นประสบการณ์ที่ทำให้คนทำกิจกรรมอย่างพวกเรา ตระหนักถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ของทรัพยากรท่องเที่ยวของเรา ของภูมิภาคและของโลกอย่างลึกซึ้ง

ประโยชน์ของการทำกิจกรรมจะทำให้เรารู้จักการเสนอความคิดเห็น รู้จักสังเกตจดจำ รู้จักแก้ปัญหา และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น อันเป็นคุณธรรมสำคัญของการผนึกกำลังเป็นหมู่คณะในสภาพแวดล้อมจริง

กิจกรรมปีการศึกษา๒๕๔๕
๑)โครงการเปิดโลกกิจกรรม(๙-๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕)
๒)โครงการปฐมนิเทศสมาชิกชมรม วันที่๑๒ กรกฎาคม ๒๕๔๕
๒)โครงการท่องเที่ยวเพื่อศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อชุมชนที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาและปริมณฑล เป็นกิจกรรมลำดับต่อมา โดยจะมีการออกเดินทางสำรวจ ศึกษาและเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชุมชนภาคกลาง ซึ่งนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูป เพิ่มมูลค่าของสินค้า รวมถึงการล่องเรือ ศึกษาสภาพชีวิตของชาวเมืองพระนครศรีอยุธยาที่พึ่งพาสายน้ำเจ้าพระยาเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต สืบมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งหลังการเดินทางจะมีการจัดทำรายงานการสำรวจศึกษา ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาต่อไป และเนื่องจากสมาชิกกลุ่มของเรามีจำนวนมากจึงอาจจำเป็นต้องจำกัดที่นั่งในการเดินทาง และอาจจำเป็นต้องผลัดกันไปในรอบต่อๆไปอย่างเท่าเทียมกันสำหรับสมาชิกที่พลาดโอกาสในครั้งนี้โดยกรรมการกลุ่มฯคงจะประกาศให้ทราบภายหลัง
๓)โครงการจัดสัมมนาทางวิชาการเรื่องอาหารไทยกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน เรื่องอาหารไทยกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสำคัญมาก ปัจจุบันร้านอาหารไทยกระจายออกไปสร้างรายได้ทั่วโลกและยังมีแนวทางในการประกอบอาชีพได้อย่างสดใสอีกนาน ซึ่งหากเป็นไปได้วันนั้นเราอาจมีอาหารไทย ขนมไทยมาให้ชิมกัน สำหรับวัน เวลาและวิทยากรที่จะมาให้ความรู้นั้น กำลังติดต่อดำเนินการอยู่และจะประกาศให้ทราบภายหลัง ขอให้สมาชิกเข้าร่วมสัมมนาโดยพร้อมเพรียงกัน
๔)โครงการงานวิจัยภาคสนามเพื่อสำรวจ ศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวด้านต่างๆที่ชุมชนเป็นผู้บริหารและจัดการในช่วงปิดภาคฤดูร้อนปีการศึกษา๒๕๔๕ โครงการนี้จะมีการขอทุนวิจัยและสมาชิกสามารถผลัดกันเข้ามาร่วมเก็บข้อมูลในงานวิจัยนี้ได้เช่นกัน จะแจ้งขั้นตอนให้ทราบต่อไปเช่นกัน

สรุป
ผลที่เราจะได้รับจากการเป็นสมาชิกคือ ประสบการณ์ในการร่วมทำกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วยการเสนอความคิดเห็น การถกเถียงด้วยเหตุผล การติดต่อกับบุคคลและองค์กร การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นเมื่อเราสามารถผลิตผลงานออกมา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราสามารถก้าวออกไปสู่โลกภายนอกอย่างรู้เท่าทัน และมีความมั่นใจในการต่อสู้กับสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นทุกองค์กร

8 ความคิดเห็น:

  1. http://kanmanee-dpuas530105030257.blogspot.com/

    ส่งงานย่อ บทที่ 1-7 ค่ะ

    นางสาว กาญจน์มณี จรุงพรสวัสดิ์

    530105030257

    คณะ ศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
    สาขา การโรงแรมท่องเที่ยว

    กลุ่ม 004

    ตอบลบ
  2. http://turismindustrydpu0004papatsorn.blogspot.com/

    ส่งงานย่อ บทที่ 1-7 ค่ะ

    นางสาว ปภัสสร ประสพเหมาะ

    530105030209

    คณะ ศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
    สาขา การโรงแรมท่องเที่ยว

    กลุ่ม 004

    ตอบลบ
  3. http://tumrismsariya.blogspot.com/

    ส่งงาน "ย่อบทที่ 1-7"

    น.ส. สาริญา สุภานิช -- 530105030227

    ตอบลบ
  4. ส่งงานค่ะ ... ย่อบทที่ 1-7

    น.ส. พัทยา โพธิ์ตะโก 530105030195

    http://tumrismpattaya.blogspot.com/

    ตอบลบ
  5. ส่งงานค่ะ ย่อบทที่ 1-7 และ รายงาน ค่ะ

    นางสาวอภิสรา พัฒนสุข 530105030183

    http://tourismindustrydpu004apisarapattanasu.blogspot.com/

    ตอบลบ
  6. ส่งงานค่ะ ย่อบทที่ 1-7 และรายงานค่ะ

    นางสาวชนาพร อาพันธนุพงศ์ 530105030249


    http://tourismindustrydpu004chanaponarpantha.blogspot.com/2010_09_01_archive.html

    ตอบลบ
  7. ส่งงาน ย่อบทที่ 1-7 ค่ะ .. !!

    น.ส.ณิชาภัค พิไลโชค --- 530105030202

    http://tumrism0004nichapak.blogspot.com/

    ตอบลบ
  8. ส่งงาน ย่อบทที่ 1-7

    http://turismindustrydpu0004parinyaporn.blogspot.com/2010/09/1-mice-1.html

    นางสาวปริญญาพร อินทนนท์ 530105030186

    ตอบลบ