จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สรุปคำบรรยายเรื่องการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมที่เมืองราชบุรี

เอกสารประกอบการทัศนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดราชบุรี
รวบรวมโดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร
วิชามรดกไทย


ภูมิศาสตร์
ราชบุรีตั้งอยู่ทางภาคตะวันตก ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ 100 กม. มีแม่น้ำแม่กลองเป็นแม่น้ำสายหลัก
ทิศเหนือ อ.ท่าม่วง อ.ท่ามะกา อ.เมือง (กาญจนบุรี)
ใต้ อ.เขาย้อย(เพชรบุรี)
ตะวันออก อ.สามพราน อ.บ้านแพ้ว(สมุทรสาคร) อ.เมืองสมุทรสงคราม อ.อัมพวา
(สมุทรสงคราม)
ตะวันตก อ.เมตตา อ.ทวาย(พม่า) ซึ่งมีชายแดนยาว 73 กม.

ภูมิประเทศ มี 3 ลักษณะ
ที่ราบสูง ชายแดนพม่า มีเทือกเขาตะนาวศรี และภูเขาใหญ่น้อยสลัยซับซ้อนตั้งอยู่ในเขต
อ.สวนผึ้ง อ.จอมบึง อ.ปากท่อ กิ่งอ.บ้านคา
ที่ราบลุ่ม ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ได้แก่ อ.เมือง อ.โพธาราม อ.บ้านโป่ง
ที่ราบต่ำ ตอนปลายของลุ่มน้ำแม่กลองมีน้ำทะเลหนุน ได้แก่ ปากแม่น้ำแม่กลอง คลองดำเนินสะดวก แม่น้ำอ้อม อยุ่ในเขตอ.บางแพ อ.วัดเพลง และ อ.ดำเนินสะดวก

แหล่งน้ำสำคัญ
แม่น้ำแม่กลอง มีต้นกำเนิดจาก แม่น้ำแควน้อยและ แควใหญ่ ไหลมาบรรจบกันที่ ต.ปากแพรก อ.เมืองกาญจนบุรี ไหลผ่าน อ.เมืองกาญจนบุรี อ.ท่าม่วง อ.ท่าเรือ,อ.ท่ามะกา สู่จ.ราชบุรี ในท้องที่อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม อ.เมือง อ.วัดเพลง และอ.ดำเนินสะดวก แล้วไหลผ่านเขตอ.อัมพวา(สมุทรสงคราม) ไปออกอ่าวไทยความยาว 130 กม. โดยมีช่วงที่ผ่านราชบุรียาว 43-67กม.
แม่น้ำภาชี ไหลจากเทือกเขาตะนาวศรีผ่านแก่งส้มแมว น้ำตกเก้าโจน ธารน้ำร้อนบ่อคลึง หล่อเลี้ยง อ.สวนผึ้ง และ อ.จอมบึง แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำแควน้อยที่อ.เมืองกาญจน์ และรวมกับแม่น้ำแควใหญ่กลายเป็นแม่น้ำแม่กลอง
คลองดำเนินสะดวก ขุดเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีน กับแม่น้ำแม่กลองในสมัยร.4 ระหว่างพ.ศ.2409-2411 เนื่องจากทางน้ำที่ขุดไว้แต่เดิมตื้นเขิน ทำให้การคมนาคมไม่สะดวกและขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก ร.5 โปรดให้ขุดลอกคลองระหว่าง2446-2447 โดยใช้แรงงานชาวจีน

ป่าไม้
ประมาณ 1.25 ล้านไร่ (38%ของพื้นที่จังหวัด)
แร่ธาตุ
ดีบุก ฟลูออไรด์ ควอร์ตซ์ ฟอสเฟต เฟลด์สปา ดิน หิน ฯลฯ

ข้อมูลทั่วไป
- ดินจากต.หลุมดิน อ.เมือง ใช้ปั้นโอ่งราชบุรีโอ่งมังกรราชบุรี เฟื่องฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อีกครั้งทำให้เป็นที่รู้จักทั่วทั้งประเทศ
- เลี้ยงหมูมากที่ปากท่อ และโพธาราม
- โรงงานน้ำปลามีชื่อเสียง
- มีการตัดไม้ทำเสามาก จึงมี “ท่าเสา” ส่งเสาขายโดยเฉพาะ

สมุนไพรและซากสัตว์
มีร้านขายยาแผนโบราณจำนวนมากในเมืองราชบุรี

เหมืองแร่
เฟื่องฟูมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในเขตอ.สวนผึ้ง

อุตสาหกรรมสำคัญ
น้ำตาล โรงสีข้าว โรงงานกระดาษ โรงงานทอผ้า โรงงานอาหารกระป๋อง โรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยว

ประชากร
ไทยภาคกลาง บ้านโพหัก อ.บ้านแพ
ไทยจีน พ.ศ.2454 จีนแต้จิ๋ว ไหหลำ กวางตุ้ง และฮกเกี๋ยน อพยพมาอยู่ที่ อ.เมือง อ.ดำเนินสะดวก อ.บ้านโป่งและอ.โพธาราม
ไทยยวน พ.ศ.2347 รัชกาลที่1 กวาดต้อนชาวเชียงแสนลงมา23,000คนให้อยู่ที่เชียงใหม่ลำปาง น่าน เวียงจันทน์ สระบุรี ราชบุรีและกรุงเทพฯ ในจังหวัดราชบุรีนั้นชาวเชียงแสนมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านไร่นที บ้านคูบัว บ้านดอนตะโก บ้านอ่างทอง, บ้านเจดีย์หัก บ้านหินกอง บ้านดอนแร่(อ.เมือง) บ้าน หนองโพ บ้านบางกระโด(โพธาราม) และบ้านหนองปลาหมอ อ.บ้านโป่ง (ฝั่งขวาแม่น้ำแม่กลอง )
ไทยมอญ ตั้งบ้านเรือนสองฝั่งแม่กลอง ในเขตโพธาราม ตั้งแต่ พ.ศ.2127(สมัยสมเด็จพระนเรศวร) บ้านโป่ง
ไทยเขมร แบ่งเป็นเขมรลาวและเขมรโพธิสัตว์ เสียมราฐ พระตะบอง รวมทั้งยังมีชาวกระเหรี่ยง โซ่ง และลาวตี้ด้วย

พัฒนาการสมัยก่อนประวัติศาสตร์
สมัยก่อนประวัติศาสตร์คนยังไม่ตั้งถิ่นฐานถาวร(Hunting Gathering) หากแต่ใช้ถ้ำ เพิงผา พื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ เป็นที่พักชั่วคราวตามฤดูกาล และพึ่งแหล่งอาหารจากธรรมชาติ ครั้นสามารถเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ได้แล้ว จึงมีความเป็นอยู่แบบสังคมเกษตรกรรม ราชบุรี มีแหล่งโบราณคดีกระจายอยู่ทั่วไปเกือบทุกอำเภอ ทั้งแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ และ แหล่งสมัยประวัติศาสตร์

หลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์
พบหลักฐานเครื่องมือ หินกระเทาะ ที่เพิงใกล้ถ้ำฤาษีที่เขางู ต.เกาะพลับพลา อ.เมืองเมื่อ พ.ศ.2475 โดย Prof. Fritz Sarasin นักโบราณคดีชาวสวิสต์ ลักษณะเครื่องมือหินที่พบคล้ายใบมีด กะเทาะจากหินปูน เครื่องขูดทำจากหินไรโอไลต์ พบร่วมกับกระดูกสัตว์ เปลือกหอย และก้อนดินเทศสีแดง เรียกว่า “วัฒนธรรมไซแอมเมียน”

ในปีพ.ศ.2509 คณะสำรวจไทย-เดนมาร์ก ขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านหนองแช่เสา ต.หินกอง อ.เมือง พบหลุมฝังศพและหลุมเสาบ้าน 6 หลุม หลุมเสาบ้านเรียงเป็นรูปวงรี ยาวประมาณ 10 เมตร หลุมเสากว้างเท่ากับกระบอกไม้ไผ่ เชื่อว่าเป็นบ้านที่มีใต้ถุนสูงเหมือนปัจจุบันนับเป็นหลักฐานซากบ้านแห่งแรกที่พบในประเทศไทย

แหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์
1. แหล่งโบราณคดี เหมืองลุงสิงห์ อ.สวนผึ้ง
เป็นเหมืองดีบุกโบราณ พบขวานหินขัด หินลับ จักรหินเศษภาชนะดินเผา เครื่องมือหินกระเทาะ ที่อาจใช้ในการถลุงแร่
2.แหล่งโบราณคดีบ้านโคกพลับ ต.โพหัก อ.บางแพ (ตอนปลายลุ่มแม่น้ำแม่กลอง)
เป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่(2000-3000BP) พบ48 โครงกระดูก
3.แหล่งโบราณคดีเหมืองเริ่มชัย อ.สวนผึ้ง
ขวานหินขัด กำไรหิน จักรหิน หินลับ เศษภาชนะดินเผา
4.แหล่งโบราณคดีห้วยม่วง อ.สวนผึ้ง
ขวานหินขัด กำไรหินขัด หินงบน้ำอ้อย หินลับ ขวาน หอก และกระพรวนสำริด
5.แหล่งโบราณคดีบ้านห้วยน้ำใส อ.สวนผึ้ง

เป็นแหล่งโบราณคดีที่ราบเชิงเขา เป็นเหมืองดีบุกโบราณ พบโบราณวัตถุจากการทำเหมือง ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา ขวานหิน จักรหิน ลูกปัดหิน หินลับ ขวานสำริด ภาชนะสำริด ขวานหินกะเทาะ ซึ่งกำหนดให้อยู่ในวัฒนธรรมโหบินห์เนียนอายุประมาณ 12,000 ปีก่อนปัจจุบัน

แหล่งโบราณคดีในพื้นที่สูง
1.แหล่งโบราณคดีเหมืองผาปกค้างคาว อ.สวนผึ้ง
ลักษณะเป็นแหล่งผลิตแร่ดีบุกไปขาย (ไม่พบหลักฐานการถลุงแร่) หลักฐานที่พบ ได้แก่ ขวานหินขัด เครื่องประดับสำริด
2.แหล่งโบราณคดีเหมืองตะโกปิดทอง อ.สวนผึ้ง
ขวานหินกระเทาะ ขวานหินขัด และใบหอกสำริด
3.แหล่งโบราณคดีบ้านห้วยสวนพลู ต.บ้านบึง กิ่งอ.บ้านคา
เป็นแหล่งโบราณคดีบนที่ราบระหว่างหุบเขาใกล้ลำห้วยสวนพลู พบ ขวานหินขัด ขวานหินรูปจงอยปากนก(คล้ายดอนตาเพชร) ลูกปัดหินอะเกต เครื่องประดับสำริด ชิ้นส่วประติมากรรมดินเผา เหล็ก ขี้แร่(Slag)
4.แหล่งโบราณคดีบ้านนาขุนแสน อ.สวนผึ้ง
เป็นแหล่งโบราณคดีในที่ราบใกล้ห้วยคลุมซึ่งไหลลงสู่ลำน้ำภาชี ลักษณะน่าจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแบบถาวรสืบเนื่องกันยาวนาน พบหลักฐานการหลอมโลหะ เศษภาชนะดินเผา (Earthenware, Stoneware, Blue and White) ตุ๊กตาดินเผารูปหัวสัตว์ เครื่องถ้วยชิงไป๋( ซ้อง พ.ศ.1500-1800) ขวานหินขัด ขวานหินรูปจงอยปากนก ขี้แร่ดีบุก มีด และเสียม

แหล่งโบราณคดีในที่ราบสลับสลับเขาโดด
- บ้านปากบึง อ.จอมบึง
- ไร่ชัฏหนองคา อ.จอมบึง
- ถ้ำน้ำมนต์ อ.จอมบึง
- ถ้ำหนองศาลเจ้า อ.จอมบึง
- ถ้ำเขารังเสือ อ.จอมบึง
- พุน้ำค้าง อ.โพธาราม
- ถ้ำเขาขวาก อ.โพธาราม

แหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำกลอง
- บ้านน้ำพุ อ.เมือง
- ถ้ำเขาซุ่มดง อ.เมือง
- บ้านโคกพริก อ.เมือง(2541) พบโครงกระดูกวัว ควาย เขากวางป่า ฟันหมู เปลือกหอยแครง แวดินเผา ลูกปัดหินคาร์เนเลียน
- บ้านคูบัว อ.เมือง พบกลองมโหรทึกแบบเฮเกอเรียน1 (มีรูปดาว 10แฉก บนหน้ากลอง) ประดับลวดลายวงกลมไข่ปลา ลายคล้ายนกบิน และลายเชือกที่หูกลอง

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 ราชบุรีเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ มีการติดต่อกับอินเดียและจีน ซึ่งต้องการสินค้าประเภท ทองคำ เครื่องเทศ และของป่า ชาวอินเดียเดินทางเข้ามาค้าขายและ ตั้งหลักแหล่งปะปนกับชาวพื้นเมือง เรียกดินแดนบริเวณนี้ว่า “สุวรรณภูมิ”หรือ “สุวรรณทวีป” โดยนำศาสนา การปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี และศิลปกรรม เข้ามาเผยแพร่ ผลที่ตามมา คือ คาบสมุทรอินโดจีนและมลายูกลายเป็นทางผ่าน และจุดแลกเปลี่ยนสินค้า ระหว่างชาวตะวันตก ได้แก่ อินเดีย ลังกา อาหรับ เปอร์เซีย กรีก และ โรมัน จากอ่าวเบงกอล ทะเลอาหรับ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับชาวตะวันออก ได้แก่ จีนและรัฐต่างๆในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรมลายู
ในพุทธศตวรรษที่ 7 การค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เจริญรุ่งเรือง ส่งผลให้ชาวพื้นเมืองตั้ง “อาณาจักรฟูนัน”ขึ้นตอนล่างของคาบสมุทรอินโดจีน โดยมีศูนย์กลางที่เมืองออกแก้ว (ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เวียดนาม และ กัมพูชา) เอกสารของจีนระบุว่า ฟูนันได้ติดต่อใกล้ชิดกับชุมชนและผู้คนทางตอนใต้ของภูมิภาคโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทย ได้แก่ ตุนซุน(ตันซุน) / พันพันและจิ้นหลิน

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8-9 เกิดศูนย์กลางการค้าแห่งใหม่อายุร่วมสมัยกับแคว้นฟูนันบริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน ได้แก่ เมืองโบราณอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หลักฐานที่พบคือโบราณวัตถุคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุซึ่งพบที่เมืองออกแก้ว
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 10-11 ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ได้รวมตัวเป็นชุมชนเมืองซึ่งมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีการจัดระบบสังคมและชนชั้น การปกครอง ศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม ศิลปกรรมตามแบบอย่างอารยธรรมอินเดีย ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรม “ทวารวดี” (พุทธศตวรรษที่11-15) ในที่ราบภาคกลางของไทย หลักฐานสำคัญที่พบ คือ เหรียญเงินมีจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” ( แปลว่า บุญของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวารวดี )

เมืองโบราณสำคัญสมัยทวารวดี
เมืองนครชัยศรี
(นครปฐมโบราณ) เมืองอู่ทอง(สุพรรณบุรี) เมืองศรีเทพ(เพชรบูรณ์)
เมืองคูบัว(ราชบุรี) เมืองพงตึก(กาญจนบุรี) เมืองคูเมือง(อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี) ฯลฯ

การเดินทางไปแสวงบุญที่อินเดียในเอกสารจีน
บันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจัง(ถังซำจั๋ง)ในพุทธศตวรรษที่ 12 และบันทึกของหลวงจีนอี้จิง
พุทธศตวรรษที่ 13 เรียกแคว้นแห่งหนึ่งในที่ราบภาคกลางของประเทศไทยว่า “โถ โล โป ตี้” ซึ่งมีแคว้น“ชิลิตาซาล้อ” (ศรีเกษตร ในพม่า)อยู่ทางตะวันตก และมี “แคว้นอีซานาซาล้อ”(อีสานปุระในกัมพูชา) อยู่ทางทิศตะวันออก

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 16-18 อิทธิพลวัฒนธรรมจากกัมพูชาเข้ามาแทนแทนที่ในภาคกลางภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนล่าง ภาคใต้ และภาคตะวันตกของไทย

สมัยอารยธรรมไทย(พุทธศตวรรษที่ 18เป็นต้นมา)
- สุโขทัย พุทธศตวรรษที่ 18-20
- อยุธยา พ.ศ. 1893-2310
- ธนบุรี พ.ศ. 2310-2325
- รัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325-ปัจจุบัน

ราชบุรีสมัยทวารวดี(พุทธศตวรรษที่ 11-15)
เมืองคูบัว (8 กม.จากศาลากลาง) แผนผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน ขนาด 800x2000ม. ลักษณะคล้ายเมืองนครปฐมโบราณ

ในสมัยทวารวดีเมืองโบราณในจังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี และชลบุรี ตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเล เนื่องจากพบแนวชายฝั่งทะเลเดิมซึ่งเป็นแนวสันทราย อยู่ลึกเข้าไปจากแผ่นดินปัจจุบัน และสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 3.50-4.00ม.
มีการค้นพบหลักฐานเปลือกหอยแครง ปะปนกับหอยทะเลอื่นๆในชั้นดินเมืองคูบัว แสดงว่าน้ำทะเลเคยท่วมถึงบริเวณนี้

รูปแบบโบราณสถานในเมืองราชบุรี
- โบราณสถานหมายเลข 10 พบภาพปูนปั้นคล้ายเจดีย์จุลประโทน แรงบันดาลใจเกิดจากชาดกในพุทธศาสนาลัทธิสรวาสติวาท ซึ่งแพร่หลายใน South East Asia เมื่อ พุทธศตวรรษที่ 12
- โบราณสถานหมายเลข 1 พบผอบทองคำ ครอบด้วยผอบเงินบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
- โบราณสถานหมายเลข 39-40 บ้านหนองเกษตร อ.วัดเพลง พบประติมากรรมดินเผารูปโพธิสัตว์(ยืนในท่าตริภังค์) พระพุทธรูป เทวดา อมนุษย์(นาค ครุฑ คนธรรพ์ ยักษ์) มนุษย์ คนแคระ สัตว์(ช้าง สิงห์ ม้า ฯลฯ) คล้ายประติมากรรมที่พบในถ้ำอะชันตา
- โบราณสถานหมายเลข 18 (วัดโขลงสุวรรณคีรี) แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเสาและซุ้มซึ่งเคยประดิษฐานรูปโพธิสัตว์ ลักษณะฐานคล้ายโบราณสถานเขาคลังในเมืองศรีเทพ พบรูปพระโพธิสัตว์ขนาดเล็ก คล้ายกับที่พบบริเวณคาบสมุทรทางภาคใต้ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิ วัชรยานจากอินเดียและชวาภาคกลาง กำหนดอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15

แหล่งโบราณคดีบนเทือกเขางู
ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัด 6 กม. ห่างจากเมืองคูบัว 14 กม. (ต. เกาะพลับพลา อ.เมือง)พบหลักฐานประวัติศาสตร์ในถ้ำ 4 แห่ง อายุพุทธศตวรรษที่ 12-13 สร้างเพื่อให้พระสงฆ์ปฏิบัติธรรม ประกอบด้วยโบราณสถานดังนี้

- ถ้ำฤาษี
เชิงเขาสลักพระพุทธรูปนั่งห้อยพระบาทมือว้ายวางหงายบนตัก มือขวาแสดง ปางวิตรรกะ(แสดงธรรม)อิทธิพลศิลปะหลังคุปตะ

- ถ้ำจีน
พุทธศตวรรษที่ 12-13 มีจารึกอักษร ปัลลวะ ภาษาสันสกฤต “ปุญกรมชระ ศรีสมาธิคุปต(ะ)” แปลว่า “พระศรีสมาธิคุปตะ เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ”

- ถ้ำจาม
อยู่สูงขึ้นไปทางตะวันตก
- ทิศเหนือ มีรูปแสดงยมกปาฏิหาริย์ที่สาวัตถี
- ทิศใต้และตะวันออก รูปบุคคล ขี่คอซ้อนขึ้นไป
- ทิศตะวันตก พระพุทธรูปไสยาสน์ มีลวดลายต้นสาละ(ปรินิพพาน) ถือเป็นปางไสยาสน์ที่
เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

- ถ้ำฝาโถ
ห่างจากถ้ำฤาษีไปทางตะวันตก 250 ม. ทางใต้มีภาพ ผนังทิศใต้เป็นรูป พระพุทธไสยาสน์ ขนาดใหญ่ มี ประภามณฑล หลังพระเศียร เหนือขึ้นไปเป็นเทพชุมนุมและภาพปูนปั้นต้นไม้ ทางเหนือมีภาพสลักสาวก 2 องค์ ลักษณะคล้ายถ้ำจามตอนปรินิพพาน รูปพระพุทธรูป และสาวก คล้ายถ้ำอชันตา ลายผ้าที่พริ้วไหวคล้ายศิลปะจีน สูงขึ้นไป 60เมตร มี ปูนปั้นติดผนัง ด้านในปางปฐมเทศนา ด้านนอก เหลือครึ่งองค์ สมัย อยุธยา

ในสมัยทวารวดีอิฐจะมีลักษณะเป็นทรงปริมาตร กว้าง 17 ซม. ยาว 35 ซม. หนา 10 ซม. กว้าง 20ซม.

ความเสื่อมของวัฒนธรรมทวารวดีที่เมืองราชบุรี(พุทธศตวรรษที่ 15-16 )
เกิดจากปัจจัยดังนี้
1. วัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามา
2. แม่น้ำอ้อมเปลี่ยนทางเดินเป็นแม่น้ำแม่กลอง ทำให้เมืองคูบัวแห้งแล้ง การคมนาคมตืดต่อกับภายนอก ไม่สะดวก ชายทะเลอยู่ห่างออกไปจากชุมชนมากขึ้น
3. เกิดศูนย์กลางทางการค้าแห่งใหม่บนคาบสมุทร ภาคใต้ของไทยระหว่างพุทธศตวรรษที่ 14-15 (ไชยา นครชัยศรี สทิงพระ /สงขลา )ทำให้การค้าในภาคกลางซบเซา
4. ชุมชนย้ายไปตั้งใหม่ที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง ปลายพุทธศตวรรษที่ 15-16 เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ เหมาะสมกว่าเมืองคูบัว

ราชบุรีในพุทธศตวรรษที่ 16-18
อิทธิพลเขมรเริ่มมีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-16 แต่ปรากฏชัดเจนในพุทธศตวรรษที่ 17-18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1760)
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสนับสนุนการเผยแพร่พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานไปยังชุมชนต่างๆ จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุว่า พระองค์พระราชทานพระชัยพุทธมหานาถไปยังศาสนสถานตามเมืองต่างๆ 23 แห่ง ได้แก่ เมืองในราชบุรี 2 แห่ง คือ ศัมพูกปัฏฏนะ(โกสินารายณ์) และ ชัยราชปุระ (ราชบุรี) ซึ่งมีพระ ปรางค์วัดมหาธาตุ เป็นศูนย์กลางบนฝั่งเดียวกับเมืองคูบัวขนาด 750x2250ม. (รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า)และเทือกเขางู

ราชบุรีในพุทธศตวรรษที่ 18-ต้นพุทธศักราชที่19

สมัยสุโขทัย
จารึกหลักที่ 1 กล่าวถึง อาณาเขตของสุโขทัย ว่ามีราชบุรีเป็นบริวาร ทางทิศหัวนอนร่วมกับเมือง คนฑี พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช
จารึกเขากบ (หลักที่ 11) ปลายพุทธศตวรรษที่ 20 กล่าวถึงการเดินทางจากลังกาไปสุโขทัยของพระศรีศรัทธาราชจุฬามณีผ่าน เใองต่างๆ ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี อยุธยา ศรีรามเทพนคร ในช่วงนี้นักประวัติศาตร์เชื่อว่า ราชบุรีเป็นเมืองสำคัญระดับรองของแคว้นสุพรรณภูมิ เช่นเดียวกับเพชรบุรี และ สิงห์บุรีก่อนที่เสียนจะรวมกับหลอหู

ในจังหวัดราชบุรีมีเจดีย์ที่วัดเจติยาราม ลักษณะเป็นเจดีย์แบบฐานแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังทรงกลม คล้ายเจดีย์แบบเมืองสรรค์ (อ.สรรค์บุรี จ.ชัยนาท) คล้ายเจดีย์ แบบสุพรรณภูมิ ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดพระรูป วัดพระอินทร์ และวัดร้างในวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี

สมัยอยุธยา
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง(พ.ศ.1893-1913) เมืองราชบุรี มีฐานะเป็นเมืองในมณฑล ราชธานี
ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(พ.ศ.1991-2111) พระองค์โปรดฯให้สร้างเมืองใหม่ขึ้น และราชบุรีก็ถูกแบ่งบางส่วนไปรวมกับสุพรรณบุรี แล้วตั้งเป็นเมืองนครชัยศรีเพื่อรองรับพลเมืองที่รวบรวมมาทำศึกกับพม่า
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์(พ.ศ.2199-2231) ราชบุรีเป็นเมืองที่พร้อมจะเกณฑ์คนเข้าทัพหลวงที่ราชธานียามสงคราม
สมเด็จพระเพทราชา(2231-2246) เมืองราชบุรีอยู่ภายใต้สังกัดพระคลังมี หลวงยกกระบัตรดูแล ส่วยที่เก็บได้จากราชบุรี คือ ศิลาปากนก งาช้าง ดินประสิว กำมะถัน เสื่อ ฝาง ไม้แดง ไม้ดำ ผ้าแดง
รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์(พ.ศ.2299-2310) ราชธานีส่งหลวงยกกระบัตร(นายทองค้วง)มาดูแล ต่อมาหลวงยกกระบัตรสมรสกับธิดาเศรษฐีแห่งเมืองอัมพวา (สมุทรสงคราม)

ราชบุรีสมัยธนบุรี
ในปีพ.ศ.2310 เกิดศึกบางกุ้ง ในเขตเมืองราชบุรี พระเจ้าตากโปรดฯให้พระมหามนตรีเข้าตีทัพพม่าที่ค่ายบางกุ้งแตก
พ.ศ.2317 เกิดศึกบางแก้ว อะแซหวุ่นกี้ให้ยุงอคงหวุ่น ยกทัพเข้ามาตามจับครัวมอญภายใต้การนำของพระยาเจ่งทางด่านเจดีย์สามองค์ และเข้ามาปล้นทรัพย์จับเชลยแถบราชบุร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี

ศึกครั้งนี้พระเจ้าตากสิน ทรงยกมาตั้งค่ายทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่ บ้านเขาพระ แล้วทรงให้พระองค์เจ้าจุ้ย(เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์) กับพระยาธิเบศร์บดี ตั้งค่ายที่โคกกระต่ายเพื่อรักษาเมืองราชบุรี แรกทีเดียวนั้น ทหารพม่าประมาทและดูหมิ่นฝ่ายไทย และพูดจาเป็นทำนองว่า ต่อให้กองทัพไทยตั้งค่ายเสร็จก่อนแล้วค่อยจับเป็นเชลย ปรากฏว่ากองทัพไทยสามารถปิดล้อมค่ายพม่าได้นานถึง 47 วัน พม่าขอเจรจา 7 ครั้ง แล้วจึงยอมแพ้ทั้ง 3 ค่าย

ราชบุรีสมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัตนโกสินทร์เมืองราชบุรีรวมอยู่กับกาญจนบุรี ในฐานะ “ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก” มีเจ้าพระยามหาเสนา สมุหกลาโหมดูแล
ในสงครามเก้าทัพซึ่งพระเจ้าปดุงทรงนำทัพยกมานั้น ส่วนทัพที่สองของพม่าเข้าทางด้านบ้องตี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดฯให้เจ้าพระยายมราช และเจ้าพระยาธรรมายกมารักษาเมืองราชบุรี เพื่อรักษาเส้นทางลำเลียงเสบียงแก่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งตั้งทัพใหญ่อยู่ที่เมืองกาญจนบุรี แต่แม่ทัพทั้ง 2 ประมาท ทำให้พม่ารุกเข้ามาถึงทุ่งจอมบึง และด่านเจ้าเขว้าริมแม่น้ำภาชี หลังเสร็จศึกจึงให้แม่ทัพทั้งสองไปตีเชียงแสนชดใช้ความผิด

ในสมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงย้ายเมืองจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลองไปฝั่งตะวันออกเมื่อพ.ศ. 2360 เมืองงใหม่มีขนาด 200x800 ม. ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกรมทหารช่าง

ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดฯให้ขุดคลองดำเนินสะดวก เชื่อมระหว่างเมืองสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และราชบุรีเมื่อพ.ศ. 2409 โดยเริ่มจากปากคลองบางยาง(แม่น้ำท่าจีน)ปัจจุบันคือคลองมหาชัย เมืองสมุทรสาคร เชื่อมกับคลองบางนกแขวก( แม่น้ำแม่กลอง) ติดเขตเมืองราชบุรีเสร็จเมื่อ พ.ศ.2411 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ขณะเป็นที่พระประสิทธ์ที่ สมุหกลาโหม)เป็นแม่กอง และเมื่อพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแล้ว ท่านก็มักไปอยู่ที่เมืองราชบุรีเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันจวนของสมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ เป็นอาคารจัดแสดงของพพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี

ตลาดน้ำดำเนินสะดวก
ตลาดน้ำดำเนินสะดวก เกิดขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2409 ไล่เลี่ยกับการขุดคลองดำเนินสะดวก ชาวบ้านเรียกชื่อตลาดน้ำดำเนินสะดวกแตกต่างออกไป ได้แก่ “ตลาดน้ำปากคลองราชบุรี” “ตลาดนัดปากคลองลัดพลี” “ตลาดนัด 5 ห้อง” “ตลาดนัดศาลาแดง” และ “ตลาดนัดหลัก 8”
ตลาดแห่งนี้เป็นที่พักของคนงานขุดคลองและผู้คนทั่วไป ต่อมาเป็นตลา ดน้ำสำคัญคู่กับตลาดน้ำปากคลอง ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำแม่กลองก่อนการขุดคลองดำเนินสะดวก
ในอดีตการจัดตลาดนัด แบ่งเป็น ตลาดนัดในและตลาดนัดนอก

ตลาดนัดนอก จัดในวัน 1ค่ำ 6ค่ำ 11ค่ำ
ตลาดนัดใน จัดในวัน 2ค่ำ 7ค่ำ 12ค่ำ
**ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม โดยเริ่มขายบ่ายโมง-บ่ายแก่ๆ** ปัจจุบันตลาดน้ำดำเนิน
สะดวกเริ่มขายสินค้าแก่ตั้งแต่เวลา ๘ โมงเช้า

โอ่งมังกรและเครื่องปั้นดินเผา
มีโรงงานทั้ง หมด 42 แห่ง ใช้ดินเหนียวจากท้องนา บริเวณเขางู ได้รับความนิยมมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวจีนชื่อ จือเหม็ง แซ่อึ้ง และพวกตั้งโรงงานเถ้าเซ่งหลีบริเวณสนามบิน เมื่อ พ.ศ.2476 (มีทุนเริ่มต้น 3,000บาท) สินค้าได้แก่ ไห กระปุก และโอ่งบรรจุของดองเค็ม ระยะหลังหุ้นส่วนแยกไปตั้งโรงงานเองจึงมีทั้งหมด 42 แห่ง

สวนองุ่น
เริ่มทดลองปลูกครั้งแรกในตำบลหลักหก เมื่อ พ.ศ.2503 ช่วงแรกเป็นการทดลองปลูก นำสายพันธ์มาจาก USA.,Canada,Europe พนธุ์ที่นิยมปลูกเหลือเพียง 2พันธ์ คือพันธุ์องุ่นแดง(คาร์ดินัล)และพันธุ์องุ่นเขียวขาว(ไวท์มะละกา)
การทำสวนองุ่น ต้องใช้ทุนสูง วิธีทำ เริ่มจาก เปิดร่องสวน ซื้อพันธุ์มาปักชำ ทำร้านให้ต้นไต่ ใส่ปุ๋ย ฮอร์โมน สารเคมี ยากำจัดศัตรูพืช ระยะปลูกไปจนถึงเก็บในระยะ2ปี ค่าใช้จ่ายต่อไร่ราว 50,000 บาท ถ้าจะให้คุ้มค่าต้องปลูกอย่างน้อย 10 ไร่

สวนมะพร้าวและน้ำตาลมะพร้าว
เกษตรกรนิยมทำสวนมะพร้าวคู่กับกล้วยน้ำว้า นิยมปลูกมะพร้าวอ่อนพันธุ์นครชัยศรี ส่วนมะพร้าวแกงจะส่งที่ตลาดเทเวศร์
ในการทำน้ำตาลมะพร้าวนั้น เมื่อมะพร้าวเริ่มตกจั่น ชาวสวนจะเลือกจั่นมะพร้าวอายุประมาณ 1 เดือน บริเวณห่างจากปลายจั่น 3 นิ้ว แล้วโน้มจั่นทุกวัน รวมทั้งปาดหน้าจั่นทุกเช้า-เย็น เมื่อน้ำตาลหยดดีแล้วจึงเอากระบอกไปรองปลายจั่น

กระบอกรองตาล ทำจากไม้ไผ่ ตัดพอดีปล้อง ใต้ข้อลงมา ปอกผิวออกแล้วเจาะรูเล็กๆ ที่ปากกระบอก 1รู ร้อยเชือก เพื่อผูกที่จั่นมะพร้าวและร้อยเชือกหิ้ว ภายในกระบอกใส่ ไม้พยอมหรือไม้ตะเคียนหรือไม้เคี่ยมชิ้นเล็กๆ เพื่อป้องกันมิให้น้ำตาลบูด
เมื่อได้น้ำตาลมา ชาวสวนจะนำไปเคี่ยวในกระทะบนเตา เตาตาลแบ่งเป็น เตาแบบดั้งเดิมและเตาปล่องแบบหลายเตา ซึ่งประหยัดเวลาและค่าเชื้อเพลิง ทำให้เนื้อน้ำตาลมีสีขาวสวยสะอาด เนื้อแกร่ง เมื่อเก็บน้ำตาลจากต้นมะพร้าวพอสมควร ก็จะเทน้ำตาลสดลงปี๊บ จากนั้นเทออกจากปี๊บลงกระชอนที่รองด้วยผ้าขาวบาง เพื่อกรองเปลือกไม้ก้นกระบอกออกก่อนเคี่ยว ขั้นตอนต่อไป คือ ใส่ไฟในเตาให้ลุกสม่ำเสมอ จนเดือดเป็นฟอง ช้อนฟองออกวิธี ป้องกันน้ำตาลล้นออกนอกกะทะ ต้องใช้ลอมหรือกงคลุมปากกะทะ เคี่ยวน้ำตาลจนงวดเหลือ 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 7 ก็ยกลอมออก แล้วเคี่ยวต่อไปจึงยกกะทะลง และใช้ขดลวดเหล็กตีและหมุนน้ำตาลไปเรื่อยๆ เพื่อให้น้ำตาลอุ้มอากาศ เป็นลักษณะจากใสเป็นขุ่นขาว และแข็งตัว แล้วจึงเทใส่ปี๊บหรือภาชนะที่เตรียมไว้ส่งขาย ปัจจุบัน เตาตาลที่รถทัวร์พานักท่องเที่ยวไปทัศนศึกษา ๔ เตา ได้แก่ เตาตาลดี เตาตาหวาน เตาออร์คิดและเตาไทยเดิม

สวนมะม่วง
มีชมรมผู้ปลูกมะม่วงส่งออกตลาดเอเชีย พันธุ์ต่างๆที่ปลูก ได้แก่ น้ำดอกไม้ เขียวเสวย แรด ทองดำ หนังกลางวัน
เทคนิคการส่งออก คือ ชุบน้ำร้อนกำจัดโรคและไข่แมลงวันทอง ปลูกมากที่ อ.ดำเนินสะดวก อ.บ้านโป่ง อ.เมือง อ.ปากท่อ อ.จอมบึง อ.วัดเพลง อ.สวนผึ้ง อ.โพธารามและอ.บางแพ

มะละกอ
มะละกอ เป็นพืชเศรษฐกิจ มีพันธุ์ แขกนวล สายน้ำผึ้ง โกโก้ และแขกดำ ปลูกแบบร่องสวน
เทคนิคการคัดต้นมะละกอของชาวราชบุรี คือ คัดให้เหลือแต่ต้นกระเทย โดยตัดต้นตัวผู้
และตัวเมียเมื่ออายุได้ 6-7 เดือน ซึ่งเริ่มออกดอก โดยสังเกตดอก
เกษตรกรบางรายเสียดาย ต้นตัวเมียซึ่งให้ลูกดก แต่กลมป้อม จึงนำไปขายเป็นมะละกอดิบ ส่วนโรคและแมลงมีน้อย

กล้วยไม้
ปลูกมากในอำเภอเมือง อ.บ้านโป่ง และอ.ดำเนิน(เล็กน้อย) เกษตกรส่งออกพันธุ์หวายลูกผสม ชื่อทางการ คือ “หวายปอมปาดัวร์” พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์มาจากออสเตรเลีย ส่งไปผสมพันธุ์ที่ฝรั่งเศส ต่อมาเรียกชื่อเพี้ยนไปว่า “มาดาม”

ไม้แคระ / บอนไซ
ปี 2515 นาย มานพ อำมฤคขจร เริ่มชำต้นบ่อย มาทำบอนไซจนแพร่หลายทั่วไป

ข้าวแห้ง
อาหารพื้นบ้านราชบุรี ชาวจีนเป็นต้นตำหรับ ทำขายกันแค่ในเขต อ.ดำเนินสะดวก เลยไปถึงสมุทรสงคราม โดยเฉพาะในราชบุรีมีขายในตลาดน้ำคลองต้นเข้มและร้านค้าในคลองลัดพลี สืบทอดสูตรเด็ดมาตั้งแต่รุ่นพ่อ
ข้าวแห้งคือข้าวสวยราดด้วยน้ำไก่ปรุงรสจากการนำไก่ทั้งตัวมาต้มเลาะกระดูกออก หั่นเป็นชิ้นๆ ผัดกับกระเทียม ซีอิ๊วขาว และเกลือ จนน้ำไก่ขึ้นแล้วจึงเติมน้ำธรรมดา ใส่เลือด ซึ่งต้องหมั่นช้อนฟองออกเมื่อเดือด มิฉะนั้นจะเสียง่าย จากนั้นราดกระเทียมเจียว โรยตั้งฉ่าย ผักชีต้นหอม ขึ้นฉ่าย และกุ้งทอดกรอบ หรือหนังปลาทอด หรือเห็ดนางฟ้าทอด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น