จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ศักยภาพด้านแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมของจังหวัดนครสวรรค์

พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

-พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
จังหวัดนครสวรรค์ตั้งอยู่ในพื้นที่เชื่อมต่อระหว่าง“ที่ราบเจ้าพระยาตอนบนกับที่ราบเจ้าพระยาตอนล่าง” [1] เอกสารบางเล่มเรียกที่ตั้งของนครสวรรค์ว่าเป็นเขต “ภาคเหนือเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบน” [2] หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่าจังหวัดนครสวรรค์มีพัฒนาการของการตั้งหลักแหล่งชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย แล้วพัฒนาขึ้นเป็นบ้านเล็กเมืองน้อยในสมัยทวารวดี[3]
ในสมัยสุโขทัยนครสวรรค์เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของอาณาจักรสุโขทัย ต่อมาในสมัยอยุธยาเมืองนครสวรรค์ก็มีบทบาทเป็นเมืองประชุมพลระยะหนึ่งในสงครามไทยรบพม่า[4] ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ก็ยังปรากฏบทบาทการเคลื่อนไหวของเมืองนครสวรรค์มาโดยตลอดทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน[5]

เมืองนครสวรรค์มีชื่อเรียกอย่างสามัญว่า “เมืองปากน้ำโพ” ซึ่งอาจมีที่มาจากการเป็นจุดที่แม่น้ำคลองโพธิ์ไหลมารวมกับแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน [6] หรืออาจคลาดเคลื่อนมาจากตำแหน่งของเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ ณ จุดที่แม่น้ำสายต่างๆ “โผล่” หรือ “ไหล” มาบรรจบกัน ชื่อดังกล่าวตรงกับภาษาบาลีในหนังสือสิหิงคนิทานว่า “อุทก มุขํ สมาขมํ” แปลว่า “ที่รวมของแม่น้ำ” และในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า “มหานที มุขํ” แปลว่า “ปากแม่น้ำใหญ่”[7] ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกเมืองนครสวรรค์ตรงกันว่า “เมืองพระบาง” และก่อนที่จะมีชื่อเรียกว่าเมืองนครสวรรค์นั้นผู้รู้บางท่านเสนอว่า ชื่อเมือง “ชอนตะวัน”หรือ เมือง “ทานตะวัน” อาจเป็นที่มาของชื่อเมืองสวรรค์จากการผูกชื่อเลียนคำของชื่อเมืองเดิมข้างต้น[8]

สมัยก่อนประวัติศาสตร์
พัฒนาการของชุมชนโบราณที่จังหวัดนครสวรรค์ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายเกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ - ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยมีหลักฐานยืนยันจากข้อมูลการสำรวจพบแหล่งโบราณคดีที่บ้านใหม่ชัยมงคล ตำบลสร้อยทอง อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ รวมถึงแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุลดหลั่นลงมาในเขตบ้านพุขมิ้น บ้านพุช้างล้วง และบ้านจันเสน ในเขตอำเภอตาคลี บ้านหนองใหญ่ บ้านพุนิมิต และบ้านซับตะเคียนในเขตอำเภอตากฟ้า เป็นต้น[9]

จากการศึกษาพบว่า ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ดำรงชีพแบบสังคมเกษตรกรรม มีการติดต่อกับชุมชนในพื้นที่แถบหุบเขาวงพระจันทร์และเขาพุงามในเขตอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรีซึ่งเป็นแหล่งแร่ทองแดงและแร่เหล็กและชุมชนอื่นๆในเขตที่ราบภาคกลางรวมถึงชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก ทำให้รู้จักการถลุงโลหะเพื่อทำเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อได้รับอิทธิพลทางอารยธรรมจากภายนอก อาทิ ศาสนาพุทธจากอินเดีย จึงทำให้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนระดับเมืองในสมัยทวารวดีในเวลาต่อมา[10]

สมัยทวารวดี
การศึกษาภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่จากภาพถ่ายทางอากาศจากการริเริ่มของนิจ หิญชีระนันทน์ในปีพ.ศ.๒๕๐๙ ทำให้มีการค้นพบร่องรอยของเมืองโบราณจันเสนสมัยทวารวดีในเขตอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ [11] อันนำไปสู่การขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากรระหว่างพ.ศ.๒๕๑๑–๒๕๑๒[12] หลักฐานที่พบจากการขุดค้น ได้แก่ ฐานเจดีย์สมัยทวารวดี ฐานพระพุทธรูป ชิ้นส่วนโกลนธรรมจักรศิลา พระพิมพ์ดินเผา ตุ๊กตาดินเผารูปคนจูงลิง ชิ้นส่วนเครื่องประดับ ชิ้นส่วนหวีงาช้างแกะสลักเป็นรูปสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา กำไลและต่างหูโลหะ เป็นต้น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสืบเนื่องทางนิเวศวัฒนธรรมที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงยุคร่วมสมัยกับอารยธรรมฟูนัน(พุทธศตวรรษที่๗–๑๑) จนกระทั่งรับอารธรรมทางพระพุทธศาสนาจากอินเดียในสมัยทวารดี [13] การสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีดังกล่าวส่งผลสืบเนื่องให้มีการค้นพบที่ตั้งของเมืองโบราณในเขตจังหวัดนครสวรรค์เพิ่มขึ้นอีกมากกว่า ๒๐ แห่งโดยไม่รวมถึงแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีการค้นพบเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

ก่อนสมัยสุโขทัย
หลักฐานศิลาจารึกหลักที่๓๕ (จารึกดงแม่นางเมือง พ.ศ.๑๗๑๐) พบที่บ้านบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัยระบุว่า“กรุงศรีธรรมาโศกราช มีรับสั่งมายังพระเจ้าสุนัตผู้ครอบครองธานยะปุระให้ถวายที่นาแก่กมรเตงศรีชคตศรีธรรมาโศก”[14] ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าอย่างน้อยที่สุดในปีดังกล่าว ในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์มีเมืองโบราณชื่อ “เมืองธานยะปุระ” ตั้งอยู่แล้ว หลักฐานทางโบราณคดีที่พบในเมืองโบราณดงแม่นางเมืองเป็นศิลปวัตถุที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะลพบุรี [15]
สมัยสุโขทัย

ข้อความในศิลาจารึกหลักที่๑ (ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง) ด้านที่๔ บรรทัดที่๒๐ กล่าวถึงอาณาเขตของแคว้นสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง(พ.ศ.๑๘๒๒–๑๘๔๑)และเรียกเมืองนครสวรรค์ว่าเมืองพระบาง ดังนี้ “ทางเบื้องหัวนอน(ทิศใต้)รอด(ตลอดถึง)คนที พระบาง…”[16] ตรงกับชื่อเรียกในจารึกหลักที่๓(จารึกนครชุม) จารึกเขาสุมนกูฎและจารึกหลักที่๔๖(จารึกวัดตาเถรขึงหนัง สุโขทัย)[17]

ในสมัยสุโขทัยเมืองพระบางมีความสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจรองลงมาจากเมืองกำแพงเพชร เนื่องจากตั้งอยู่ในชัยภูมิที่เป็นชุมทางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ สามารถติดต่อกับเมืองตากและกำแพงเพชรในเขตลุ่มแม่น้ำปิง ติดต่อกับเมืองพิษณุโลก พิชัยและพิจิตรในเขตลุ่มแม่น้ำน่าน และติดต่อกับเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัยและพิษณุโลกในเขตลุ่มแม่น้ำยมอย่างสะดวกสบาย และแม่น้ำปิงยังเป็นคูเมืองธรรมชาติชั้นนอกด้านตะวันออกและมีเขากบเป็นปราการชั้นนอกทางทิศเหนือของเมืองนครสวรรค์คล้ายเมืองศรีสัชนาลัยด้วย ในสมัยพญาลิไทยเมืองพระบางได้รับการพัฒนาให้มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการสร้างพระสถูปกลางเมืองที่วัดวรนาถบรรพต รวมถึงการสร้างรอยพระพุทธบาทสำคัญ ๑ ใน ๔ แห่งขึ้นที่ยอดเขากบ[18] ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในศิลาจารึกหลักที่๓(จารึกนครชุม)ว่า “พระบาทเหนือจอมเขาที่ปากพระบาง”[19]

สมัยอยุธยา
ชื่อเมืองพระบางปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์เมื่อเกิดเหตุการณ์สมเด็จพระมหาธรรมราชา(ไสยลือไทย)สวรรคต ส่งผลให้ “ เมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล พระอินทราชาเสด็จขึ้นไปถึงพระบาง พระยาบาลเมืองและพระยารามออกถวายบังคม” [20] ในครั้งนั้นสมเด็จพระอินทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา(สมเด็จพระนครินทราชาธิราชพ.ศ.๑๙๔๔–๑๙๖๑)ทรงตัดสินไกล่เกลี่ยให้พระยาบาลเมืองครองเมืองพิษณุโลกส่วนพระยารามให้ครองเมืองสุโขทัย

ชิมอง เดอ ลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์กล่าวถึงเมืองนครสวรรค์ตอนหนึ่งว่า “…ที่เมืองนครสวรรค์เป็นแควร่วมของแม่น้ำสายใหญ่ซึ่งไหลผ่านมาจากเมืองเหนือ ต้นน้ำนี้ไหลผ่านเมืองฝางแล้วก็พิชัย พิษณุโลกและพิจิตรแล้วจึงถึงนครสวรรค์….เมืองนครสวรรค์นั้นตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองพิษณุโลกหรือปอร์ซลุกถึงสยาม ระยะทางขาขึ้นใช้เวลา ๒๕ วันโดยทางเรือ ใช้เรือขุดหรือที่เรียกว่าบาล็อง(Balon) แต่อาจร่นระยะเวลาลงเหลือเพียง๑๒ วันก็ได้ถ้ามีฝีพายมากและพายขึ้นไปอย่างรีบเร่ง”[21]

เมืองนครสวรรค์เคยเป็นเมืองประชุมทัพของพม่าระหว่างสงครามไทยรบพม่าระยะแรก(พ.ศ.๒๑๐๖–๒๑๒๙) กล่าวคือ เมื่อพม่ายกทัพผ่านด่านแม่ละเมาเข้าสู่เมืองตากและเมืองกำแพงเพชรแล้วก็ตั้งทัพหลวงอยู่ที่เมืองนครสวรรค์เพื่อการลำเลียงเสบียงจากเมืองเหนือ ยุทธวิธีดังกล่าวของพม่ากดดันให้กรุงศรีอยุธยาต้องใช้ยุทธศาสตร์การตั้งรับข้าศึกอยู่ภายในราชธานี [22]
สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์

สมัยธนบุรี
เมืองนครสวรรค์กลายเป็นเมืองประชุมทัพอีกครั้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯให้พระยาราชเศรษฐีคุมทัพจีน ๓,๐๐๐ คนมาตั้งรับพม่าในปีพ.ศ.๒๓๑๘[23] ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยสงครามเก้าทัพปีพ.ศ.๒๓๒๘ เมืองนครสวรรค์เป็นที่ตั้งสำหรับการรวบรวมเสบียงและการส่งกำลังบำรุงแก่กองทัพ ครั้งนั้นมีการตั้งค่ายหลวงขึ้นที่นี่และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้เสด็จฯมาบัญชาการทัพด้วยพระองค์เอง[24]

ในสมัยรัชกาลที่๔ เมื่อไทยบรรลุข้อตกลงในสัญญาเบาว์ริ่งกับอังกฤษพ.ศ.๒๓๙๘ ทำให้มีการยกเลิกการผูกขาดทางการค้าจากราชสำนักสยาม เป็นการเปิดประเทศเข้าสู่ระบบการค้าแบบเสรีนิยมขึ้นเป็นครั้งแรก เมืองนครสวรรค์จึงมีฐานะเป็นเมืองชุมทางการค้าทางน้ำของภาคเหนือ โดยมีแม่น้ำน่านเป็นเส้นทางการค้าข้าว ส่วนแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางการค้าไม้ซุงจากภาคเหนือ เศรษฐกิจของเมืองนครสวรรค์จึงเติบโตมากยิ่งขึ้น

ในสมัยรัชกาลที่๕ เมื่อเส้นทางรถไฟขยายมาถึงก็ยิ่งทำให้ศักยภาพทางการค้าของเมืองนครสวรรค์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ประกอบกับมีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานค้าขายเป็นจำนวนมาก จึงผลักดันให้เศรษฐกิจของเมืองนครสวรรค์เฟื่องฟูสูงสุด

ในสมัยรัชกาลที่๖-๗ เศรษฐกิจของเมืองนครสวรรค์เริ่มตกต่ำลงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.๒๔๗๕เมื่อทางรถไฟขยายตัวไปถึงเมืองเชียงใหม่ ครั้นมีการสร้างถนนจากกรุงเทพฯถึงเชียงใหม่ก็ยิ่งทำให้ฐานะการเป็นเมืองชุมทางการค้าของเมืองนครสวรรค์ตกต่ำลงหลังจากการเปิดใช้สะพานเดชาติวงศ์เมื่อพ.ศ.๒๔๙๓ จังหวัดนครสวรรค์จึงกลายเป็นเมืองผ่านของสินค้าเท่านั้น[25]

-ศักยภาพด้านแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม
ดังได้กล่าวไปแล้วว่าเมืองนครสวรรค์มีพัฒนาการของการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แล้วพัฒนาขึ้นเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีกระจายออกไปตามอำเภอต่างๆมากกว่า ๒๐ แห่ง จนกลายเป็นมรดกศิลปวัฒนธรรมประเภทโบราณสถานและโบราณวัตถุอันน่าภาคภูมิใจของชุมชนต่างๆที่มีเมืองโบราณตั้งอยู่ อาทิ เมืองจันเสน เมืองบน เมืองไพศาลีและเมืองโคกไม้เดน เป็นต้น

นอกจากวัดวรนาถบรรพตอันโบราณสถานสำคัญสมัยสุโขทัยแล้ว ยังมีวัดนครสวรรค์หรือวัดหัวเมืองในตำบลปากน้ำโพซึ่งปรากฏหลักฐานว่าได้รับวิสุงคามสีมาตั้งแต่พ.ศ.๑๙๗๒ และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประจำเมืองซึ่งมีพุทธลักษณะงดงามแบบศิลปะสุโขทัยชื่อ “หลวงพ่อศรีสวรรค์”
ภูมิปัญญาเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความมั่งคั่งทางนิเวศวัฒนธรรม การที่เมืองนครสวรรค์มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ทำให้การทำนาเป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวปากน้ำโพ อันเป็นที่มาของการละเล่นทางวัฒนธรรมที่เรียกว่าการเล่นเพลงเต้นกำรำเคียวและประเพณีการแข่งเรือยาวในช่วงเดือน๑๑ หลังเทศกาลออกพรรษา และนอกจากบึงบอระเพ็ดจะเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่เกื้อกูลต่อสรรพชีวิตทั้งหลายและก่อให้เกิดอาชีพประมงที่สืบทอดมายังชาวนครสวรรค์อย่างยาวนานจนปรากฏให้เห็นถึงความภาคภูมิใจดังกล่าวอยู่ในคำขวัญประจำจังหวัดนครสวรรค์

ร่องรอยของการเป็นเมืองชุมทางสินค้าทำให้นครสวรรค์มีย่านประวัติศาสตร์ที่เป็นศูนย์การค้าสำคัญถึง ๓ แห่ง ได้แก่ ตลาดลาว ตลาดสะพานดำและตลาดท่าขุด[26]

ตลาดลาว ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงเป็นแหล่งค้าขายระหว่างนครสวรรค์กับเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร เมืองเชียงใหม่ ฯลฯ ชาวนครสวรรค์เรียกชาวเหนือว่า “ลาว” สินค้าสำคัญของตลาดลาว คือ ไม้สัก หวาย ชัน น้ำมันยาง สีเสียด เปลือกไม้ น้ำผึ้งและขี้ผึ้ง เป็นต้น

ตลาดสะพานดำอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแหล่งค้าขายข้าว สัตว์ป่า ของป่า เปลือกไม้ หวาย และสีเสียดระหว่างเมืองนครสวรรค์กับอำเภอต่างๆ เช่น โกรกพระ พยุหะคีรีและบรรพตพิสัย
ตลาดท่าขุดอยู่ริมคลองบางประมุง ต.ท่าขุด เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างเมืองนครสวรรค์กับจังหวัดรอบๆ เช่น พิจิตร ตากและกำแพงเพชร พ่อค้าชาวจีนจะรับซื้อข้าวแล้วล่องเรือกระแชงไปขายส่วนขากลับก็จะบรรทุกเกลือ มะพร้าวและน้ำตาลปีบกลับขึ้นมาขายที่นครสวรรค์

ความคุ้นเคยกับสินค้าป่าและอาชีพประมงทำให้ชาวนครสวรรค์ส่วนหนึ่งสืบทอดอาชีพการทอเสื่อหวาย การทำเครื่องจักสาน การทำลอบดักปลา และการทำเรือยาว เป็นต้น

ชาวจีนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเมืองนครสวรรค์ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ได้สืบทอดประเพณีการไหว้เจ้า การเชิดสิงโตและแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่เมืองปากน้ำโพในเทศกาลตรุษจีนจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วไป และเป็นที่มาส่วนหนึ่งของการผลิตสินค้าของที่ระลึกประเภทขนมจันอับ(โบราณ)และขนมเปี๊ยะโมจิ(ของใหม่)เลื่องชื่อของเมืองปากน้ำโพ

[1] ทิวา ศุภจรรยา, “แหล่งชุมชนโบราณในเขตจังหวัดนครสวรรค์” นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า๒๙
[2] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒(๑), วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนครสวรรค์, (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, ๒๕๔๒), หน้า๔๙
[3] พิสิฐ เจริญวงศ์. บรรณาธิการ. “โบราณคดีนครสวรรค์: หลักฐานเก่า-ใหม่” โดย วรรณี ภูมิจิตรและสุรพล นาถะพินธุ. นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า๗๙–๑๐๒
[4] สุเนตร ชุตินทรานนท์, นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า๑๙๖-/ชขนครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า๑๙๖–๑๙๘
[5] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, “มณฑลนครสวรรค์: อำนาจรัฐกับการปกครองท้องถิ่น”, นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า๒๐๓–๒๐๗และสุจินดา เจียมศรีพงศ์, “ชุมชนชาวจีนและการเติบโตทางการค้าในจังหวัดนครสวรรค์” นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า๒๑๓–๒๒๑ เป็นต้น
[6] ธนิต อยู่โพธิ์, “การบรรยายเรื่องนครสวรรค์ในอดีต”, นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า๓๓๑
[7] ธนิต อยู่โพธิ์, เรื่องเดิม, หน้า๓๓๒
[8] ธนิต อยู่โพธิ์, เรื่องเดิม, หน้า๓๓๓
[9] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, เรื่องเดิม, หน้า ๔๙ และดูเพิ่มเติมที่สุรพล นาถะพินธุ “วัฒนธรรมสมัยโบราณที่บ้านใหม่ชัยมงคล” สังคมและวัฒนธรรจันเสน เมืองแรกเริ่มในลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก(กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์, ๒๕๓๙), หน้า๑๒๒–๑๕๑
[10] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, เรื่องเดิม, หน้า๔๙–๕๑
[11] นิจ หิญชีระนันทน์, “จันเสน: เมืองทวารวดีที่ถูกลืม” นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า๓๕–๓๘
[12] ศิวะลีย์ ภู่เพชร, “การขุดค้นที่จันเสน พ.ศ.๒๕๑๑–๒๕๑๒“, นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า๕๙–๖๑
[13] ศิวะลีย์ ภู่เพชร, เรื่องเดิม, หน้า ๖๔–๖๕
[14] ประเสริฐ ณ นคร “ประวัติศาสตร์นครสวรรค์จากจารึก” นครสวรรค์: รัฐกึ่งกลาง การสัมมนาประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์(กรุงเทพ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๘), หน้า ๑๔๔
[15] ปิติชัย พงษ์วานิชอนันต์, นครสวรรค์. (นนทบุรี : เอส. พี. เอฟ. พริ้นติ้ง กรุ๊ป, ๒๕๔๓), หน้า๒๖
[16] ประเสริฐ ณ นคร, เรื่องเดิม, หน้า ๑๔๔
[17] ประเสริฐ ณ นคร, เรื่องเดิม, หน้า ๑๔๔
[18] ศรีศักร วัลลิโภดม, เมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๒), หน้า ๒๐๖–๒๐๗
[19] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, เรื่องเดิม, หน้า๕๓
[20] ประเสริฐ ณ นคร , เรื่องเดิม, หน้า๑๔๔
[21] สุเนตร ชุตินทรานนท์, เรื่องเดิม, หน้า๑๙๖
[22] สุเนตร ชุตินทรานนท์, เรื่องเดิม, หน้า๑๙๗–๒๐๐
[23] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, เรื่องเดิม, หน้า๕๕
[24] สุเนตร ชุตินทรานนท์, เรื่องเดิม, หน้า๒๐๑
[25] ปิติชัย พงษ์วานิชอนันต์, นครสวรรค์, (นนทบุรี: เอส พี เอฟ พริ้นติ้ง กรุ๊ป จำกัด, ๒๕๔๓), หน้า๓๐–๓๑
[26] คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒, เรื่องเดิม, หน้า๕๖

9 ความคิดเห็น:

  1. http://turismindustrydpu0004aruneeaphi.blogspot.com/

    นางสาว อรุณี อภิดิลกกุล
    530105030217

    ส่งงานคะ

    ตอบลบ
  2. ศันสนีย์ ปะนะสุภา
    http://tourismindustry0004sunsanee.blogspot.com
    530105030221
    คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
    สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม

    ตอบลบ
  3. http://tourismindustrydpu0004sariya.blogspot.com/
    น.ส.สาริญา สุภานิช
    530105030227
    คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์
    สาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรม

    ตอบลบ
  4. อาจารย์ครับ ส่งงานอยากจะให้อาจารย์ตรวจ


    ที่ http://tourismindustrydpu005.blogspt.com

    5201-0111-0033
    นาย เฉลิมวิทย์ ศรีสุวรรณ
    คณะบริหารธุรกิจ
    สาขาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว

    ตอบลบ
  5. อาจารย์ครับ ส่งงานอยากจะให้อาจารย์ตรวจ


    ที่ http://tourismindustrydpu005.blogspot.com

    5201-0111-0033
    นาย เฉลิมวิทย์ ศรีสุวรรณ
    คณะบริหารธุรกิจ
    สาขาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว

    ตอบลบ
  6. สวัสดีค่ะ อ.พิทยะ ศรีวัฒนสาร..

    ตอบลบ
  7. อาจารย์ค่ะ หนูเอาบล็อคของหนูมาทิ้งไว้ให้อาจารย์เข้าไปตรวจงานค่ะ

    ที่ http://tourismindustrydpu2010wachiraratpun.blogspot.com/

    ชื่อ นางสาว วชิรารัตน์ ปุญญาเปี่ยมศักดิ์
    5201-0111-0025


    คณะบริหารธุรกิจ
    สาขาการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว

    ตอบลบ
  8. หนูต้องขอโทษ อาจารย์มา ณ ที่นี้ด้วย
    ที่หนูใช้ภาษาวิบัติในการแสดงความคิดเห็นต่อเพื่อน
    ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
    แต่งานในบล็อกหนูทำด้วยตัวเองจริงๆ
    ที่ให้เพื่อนช่วยแก้คือ tourism industry dpu 2010
    ให้เปลี่ยนเป็น tourism industry dpu 005
    เพราะหนูไม่มีปัญญาแก้ไขจริงๆค่ะ

    ตอบลบ
  9. อาจารย์ หนูแก้งานแล้วคะ
    แก้ตามคำแนะนำของอาจารย์แล้วคะ
    รบกวนอาจารย์ช่วยตรวจด้วยนะคะ

    ตอบลบ