จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การประชุมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนานาชาติครั้งที่ 4

รายงานการสัมมนา เรื่อง
“Sustainable Tourism : Community Based Ecotourism Development in the Asia Pacific”
เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ณ สถาบันพัฒนาการท่องเที่ยว
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
7-8 กันยายน 2543
โดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

เป้าหมายภารกิจ
วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2543 เวลา 09.00 น. รองศาสตราจารย์ดร.สุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และกล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่าได้รับการสนับสนุนจากองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOS) บริติช เคาน์ซิล (British Council) และอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตลาดท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Mass Tourism) ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืน เปิดโอกาสให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชนระดมความคิดเห็นเพื่อประสานความร่วมมือกันพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทุกระดับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อรวบรวมข้อมูลและงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และแสวงหารูปแบบการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืนต่อไป

ในสภาวะกดดันอันเกิดจากสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้มีการวางแผนทิศทางการท่องเที่ยว ดร.อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูแลการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแสดงปาฐกถาใจความว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวคือ
ใน ค.ศ.1999 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 8.6 ล้านคน เพิ่มจากปี ค.ศ 1998 ถึง 10.5 % สินค้าที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ คือ ผ้าและอัญมณี ทำรายได้เข้าประเทศมากกว่า สองแสนสี่หมื่นล้านบาท (สถิติ ค.ศ.1998) ส่งผลให้รัฐบาลมุ่งส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชนบท จึงมีการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง รัฐบาล องค์กรท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี ค.ศ.2000 จะมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางเข้ามาประมาณ 9.7 แสนคน ถึง 10 ล้านคน การเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะกระตุ้นให้ท้องถิ่น ตื่นตัวต่อการพัฒนาทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างกว้างขวาง

ความหมายและวิสัยทัศน์
ดร.อดิศัย กล่าวว่า การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) หมายถึงการจัดการทรัพยากรด้านท่องเที่ยวอย่างฉลาดและระมัดระวัง ส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบต่าง ๆ น้อยที่สุด ภายใต้การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเริ่มต้นจากความเข้าใจปรัชญาทางการท่องเที่ยวไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ชาวชนบทมีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco tourism) และการท่องเที่ยวเชิงเกษตรกรรม (Agricultural Tourism)

ในทำนองเดียวกันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Eco tourism)หมายถึง การท่องเที่ยวซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หรือชนบท หรือทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้ได้ องค์ประกอบของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้แก่พื้นที่ (Area) คือแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสนใจ

กระบวนการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คือ ความร่วมมือกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน ท้องถิ่น และรัฐ (State) มีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นหน่วยงานรณรงค์ทางด้านการท่องเที่ยว และเป็นผู้จัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสาธารณูปโภคในแหล่งท่องเที่ยวร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์กับชุมชนในท้องถิ่น ส่งผลให้มีการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและประสบความสำเร็จด้วยดี

ทรัพยากรทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการพัฒนาชุมชน
ศาสตราจารย์ จิออจินา บูตินา วัตสัน (Prof. Geogina Butina Watson) แห่งมหาวิทยาลัย Oxford Brookes เสนอผลงานทางวิชาการเรื่อง การท่องเที่ยวเชิงมรดกทางวัฒนธรรมกับการพัฒนาชุมชน (Heritage Tourism and Community Development) โดยระบุว่า การพัฒนาทำให้มีการบริโภคทรัพยากรของท้องถิ่นอย่างไม่เหมาะสม ผลกระทบต่อชุมชนจึงมีทั้งด้านบวกและด้านลบ

ผลกระทบทางด้านบวก คือ เกิดแหล่งรายได้ที่นำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยชุมชนมี ส่วนร่วมในการเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นของตนที่สำคัญก็คือ สมาชิกของชุมชนมีโอกาสเป็นผู้จัดการวัฒนธรรม “Cultural Manager” อย่างแท้จริง

ชุมชนกับการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมด้านการท่องเที่ยว
การจัดการมรดกวัฒนธรรม (Heritage management) จำแนกเป็นการปกป้องสถาปัตยกรรม การจัดการวิถีชีวิต การอนุรักษ์โบราณสถาน และศาสนา ทั้งนี้ศาสตราจารย์ จิออจินาเสนอภาพสไลด์กรณีศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ อังกฤษ เปรู โคลัมเบีย เม็กซิดก โปรตุเกส อเมริกาเหนือ และ สหรัฐอเมริกา (บอสตัน) เป็นตัวอย่างสะท้อนปัญหาและแนวทางการจัดการทางสิ่งแวดล้อมทาง วัฒนธรรม

ในเปรูมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปเยือน ก่อให้เกิดความล่อแหลมต่อการอนุรักษ์โบราณสถาน จึงมีการจัดการชุมชนเพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถใช้โบราณสถานร่วมกับชุมชนด้วยดี
ในประเทศอังกฤษก็มีการจัดตลาดในสวนสาธารณะเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ชุมชนและการท่องเที่ยว
ในประเทศโปรตุเกสนั้น ระหว่างทศวรรษ 1970 ได้มีการจัดและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในอุทยานประวัติศาสตร์ (Historic Parks) ของเมืองต่าง ๆ จำนวนมาก มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เช่น การเต้นรำพื้นเมือง เป็นต้น โดยไม่ลืมการพัฒนาวิถีชีวิตและที่อยู่อาศัยในชุมชนควบคู่กันไป

กระบวนการดังกล่าวมีการจัดองค์กร จัดการพื้นที่ สภาพแวดล้อม ระเบียบ กฎเกณฑ์ทางด้านเศรษฐศาสตร์การลงทุน และศูนย์ข้อมูลบริการนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ กรณีของเมืองโบโกตา (Bogota) ประเทศโคลัมเบียซึ่งได้จัดการกับพื้นที่ ประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับการแบ่งพื้นที่ดำเนินธุรกิจเพื่อชุมชนและฟื้นฟูสภาพพื้นที่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

ความทันสมัยทำลายรูปแบบดั้งเดิมของชุมชน
กรณีของเมืองบอสตัน (Boston)ในสหรัฐก็เช่นเดียวกัน เมืองบอสตันมีลักษณะเป็นชุมชนแบบผสมผสานหลายเชื้อชาติ เช่น อิตาเลียน ยุโรปตะวันออก และอื่น ๆ การจัดการกับกลุ่มสังคมในชุมชน (Community Group) และวิถีชีวิตชุมชน (Community life) จึงสำคัญเป็นอันดับแรก ในปีค.ศ. 1956 มีการสร้างทางด่วน (Motor Way)ขึ้นในเมือง ส่งผลให้มีการแบ่งแยกพื้นที่ในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ ก
กลุ่มสถานที่ทำงาน เช่น บริษัท ห้างร้าน สถาบันและองค์กรตั้งอยู่ในเขตเมือง แต่ชุมชนกลับตั้งอยู่นอกเมือง ทางด่วนจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลักษณะความสัมพันธ์ในชุมชนล่มสลาย

การเยียวยาสายสัมพันธ์ในชุมชนด้วยการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ในปี ค.ศ. 2000 มีการเสนอแผนพัฒนาชุมชนแห่งเมืองบอสตันให้สอดคล้องกับลักษณะของชีวิตในชุมชน (Community life) และชุมชนท้องถิ่น (Local community) โดยมีการออกแบบชุมชน (Community designee) จัดการกับที่อยู่อาศัย และพื้นที่ประกอบการทางธุรกิจ (Business area) เพื่อคืนชีวิตชีวาให้แก่ชุมชน มีการบูรณะโบสถ์ ที่ทำการของรัฐบาล และมีการจัดการด้านกาi ท่องเที่ยวของชุมชนอย่างจริงจัง

ความตื่นตัวในการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของชุมชน
ในประเทศเม็กซิโก มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ร่วมกันสนับสนุนการพัฒนายุทธศาสตร์ต่าง ๆ สำหรับชุมชน มีการสร้างสถาปัตยกรรม (บ้าน อาคาร) แบบพื้นเมืองเพื่อแสดงให้แลเห็นวิถีการดำรงชีวิต ของชาวเม็กซิกัน โดยใช้วัสดุพื้นเมืองเป็นหลัก และมีการสร้างหอประชุมสำหรับชุมชน (Community hall) เพื่อให้เกิดการมีส่วนสังคมขึ้น (Social Interaction) ผลที่ตามมาคือ การจัดการกับมรดกของท้องถิ่น (Local Heritage) ยังก่อให้เกิดการสืบทอดผลงานหัตถกรรม การละเล่นและขนบธรรมเนียมประเพณีไปยังคนรุ่นใหม่ ๆ ต่อไปอย่างไม่ขาดช่วงด้วย

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนกับมรดกทางวัฒนธรรม
ดร.ริชาร์ด แองเกลฮาร์ดท์ (Richard Engelhardt) แห่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (UNESCO) บรรยายเรื่อง ความยั่งยืนในการจัดการเรื่องมรดกและการท่องเที่ยว (Sustainable Heritage Management and Tourism in the Asia Pacific) โดยชี้ว่า เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในเอเชียและแปซิฟิก ส่งผลให้มีการ จ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับชุมชน การท่องเที่ยวจึงเป็นแนวทางสำคัญในการเยียวยาเศรษฐกิจ ก่อให้มีการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมและการสร้างสาธารณูปโภคอย่างต่อเนื่อง แต่ผลกระทบที่ตามมาก็คือ การทำลายโบราณสถาน และปัญหาสังคมเช่น ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เด็กๆกลายเป็นขอทาน เนื่องจากความยากจน ทำให้มีคำกล่าวว่า “เรากำลังเร่งมือทำความเสียหายให้แก่มรดกวัฒนธรรม-We are in grout danger of loving our heritage to death” ปัญหาที่ว่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่เร่งให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปสู่จุดจบอย่างรวดเร็ว เพราะเห็นแก่การมุ่งเพิ่มปริมาณของนักท่องเที่ยวมากเกินไป

การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน : ผลประโยชน์ของใคร
ดร.ริชาร์ด แองเกลฮาร์ดท์ ยกกรณีของการแสดงเสี่ยงตายเอาศีรษะยื่นเข้าไปในปากจระเข้ จังหวัดสมุทรปราการ และการจัดแสดงพิธีกรรมทางศาสนาในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง ให้นักท่องเที่ยวต่างศาสนาชม มรการตั้งคำถามขึ้นมาว่า คนกลุ่มใดเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ เนื่องจากไม่มีการคำนึงถึงชุมชนอย่างชัดเจน

ดร.ริชาร์ด แองเกลฮาร์ดท์ ได้ยกกรณีของการจัดการของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนว่า มีการคำนึงถึงการพัฒนาทั้งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างชัดเจน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. การพัฒนาท้องถิ่น (Rural Development)
2. การอนุรักษ์และปกป้องมรดกของชาติ (Conservation and Preservation National Heritage)
3. การเคารพต่อขนบธรรมเนียมของชุมชน (Respect to tradition of Community)
4. การฝึกอบรมบุคลากร (Training)
5. การรวมตัวของชุมชน (Public Integration) ฯลฯ
การจัดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนส่งผลให้มีการตระหนักถึงผลกำไร และการนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวของประชาชนในท้องถิ่นรวมทั้งทำให้มีการจัดหาสาธารณูปโภคให้แก่ท้องถิ่นด้วย

การทบทวนจิตสำนึกของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
การตระหนักถึงการพัฒนาและอนุรักษ์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนทำให้ UNESCO เป็นผู้จัดการประชุมเพื่อกำหนดรูปแบบความร่วมมือของผู้ได้รับผลแระโยชน์ จากการท่องเที่ยวที่เมือง ภารปุระ (Bhalapur) ในประเทศเนปาลระหว่างวันที่ 8 – 16 สิงหาคม ค.ศ. 2000 ดังมีข้อสรุปดังนี้
1. กำหนดรูปแบบการอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรม
2. กำหนดรูปแบบการลงทุนทางการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนทางวัฒนธรรม
3. กำหนดรูปแบบการการศึกษาของชุมชนและการฝึกอบรมเพื่อความชำนาญ
4. การแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาล – นักอนุรักษ์นิยม และชุมชนผู้ครอบครองแหล่งวัฒนธรรม

ความท้าทายของการอนุรักษ์และพัฒนา
การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดทางการท่องเที่ยวจากความหลากหลายทิศทางไปสู่การอนุรักษ์มรดกศิลปวัฒนธรรมแบบยั่งยืน จะต้องมีการร่วมมือกันรณรงค์ การจัดหาและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของสังคม (Social Economic Development) โดย ดร.ริชาร์ด แองเกลฮาร์ดท์ได้ชี้ถึงแนวทางที่จะก่อให้เกิดผลปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมว่าประกอบด้วยการศึกษาและวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การหันกลับมาลงทุนอีกครั้งทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์และบังคับใช้มาตรการอนุรักษ์ และการสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีสำนึกในการปกป้องวัฒนธรรมอย่างจริงจัง
แนวทางข้างต้นจะส่งผลให้มรการวิพากษ์ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น มีการนิยามเป้าหมายการอนุรักษ์ การตีกรอบการจัดการทางการท่องเที่ยวและการกำหนดรูปแบบสาธารณูปโภค และสถาปัตยกรรมในแหล่งวัฒนธรรมอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

การจัดการการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมในประเทศไทย : การเริ่มต้นที่น่าจับตามอง
หลักการบรรยายของของดร.ริชาร์ด แองเกลฮาร์ดท์ มีการเสนอผลงานการอนุรักษ์หุ่นละคร โรงเล็ก ของคณะโจหลุยส์ เฮียเตอร์ การจัดการสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบ Theme Park ของ “ภูเก็ตแฟนซี” และการจัดการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ชื่อ วิวาห์ใต้สมุทร” ของบริษัทการบินไทย การอนุรักษ์ธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ แจ้ซ้อน (เชียงใหม่) ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร (นราธิวาส) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน (จันทบุรี) การจัดการ พิพิธภัณฑสถานกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ (กำแพงเพชร) กรณีศึกษาจังหวัดอยุธยา และบ้านเสานัก จังหวัดลำปาง เป็นต้น

มรดกทางวัฒนธรรมกับการแปลความหมาย : มุมของนักวิชาการ
วันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2543 เวลา 09.00 น. ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ (Brian Goodey) แห่งมหาวิทยาลัย Oxford Brook บรรยายเรื่อง การท่องเที่ยวแหลางมรดกทางวัฒนธรรมและการแปลความหมายของนักท่องเที่ยว (Heritage Tourism and Visitor Interpretation) ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ วิจารย์ว่า ลักษณะการจัดการของภูเก็ตแฟนตาซี มิใช่รูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หากแต่เป็นความพยายามที่จะเข้าใจและเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ขณะเดียวกันก็รู้สึกตกใจที่เห้ฯคนจำนวนพันคนลงไปเหยียบย่ำปะการังในงานวิวาห์ใต้สมุทร ซึ่งจัดโดย ฐริษัทการบินไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

การบรรยายของ ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ ครอบคลุมเนื้อหา 5 ประเด็น คือ
- ประเด็นมรดกวัฒนธรรมเป็นของใคร
- ประเด็นการอนุรักษ์หรือการพัฒนา
- ประเด็นมรดกวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาหรือไม่
- ประเด็นทำให้มรดกวัฒนธรรมเป็นที่ประจักษ์ได้อย่างไร
- ประเด็นบทบาทของการแปลความหมายมรดกวัฒนธรรม
- ประเด็นจะวางแผน

มรดกวัฒนธรรม (Heritage) เป็นของใคร
ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ อธิบายว่า มรดกทางวัฒนธรรมเป็นทั้งหลักฐานด้านวัตถุและมิใช่วัตถุที่สืบทอดมาจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกบ่งชี้ (Identified) และประเมินคุณค่า (Valued) โดยบุคคลหรือกลุ่มคน ดังนั้นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเราส่วนใหญ่ทั้งที่แสดงออกจากคำบอกเล่าและการกระทำ ต่างก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า มรดกจากอดีตทั้งสิ้น ชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งมรดกมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของแหลางมรดกในด้านของความสำเร็จต่อความพยายามในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม การวางแผนและการจัดการอย่างมืออาชีพ จึงควรเกิดขึ้นในชุมชนเองอย่างขาดมิได้ ในขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองวางแผนรายละเอียดทางด้านสถาปัตยกรรม วิศวกรรม หรือนิเวศวิทยา ชุมชนก็จะต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ

การอนุรักษ์หรือการพัฒนา
การเปลี่ยนแปลงหรือการทำลายมรดกเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความวิตกหรือความเป็นปฏิปักษ์แก่ผู้ที่ ดูแลมรดกนั้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การโยกย้ายอาคาร การทำลายพื้นที่สีเขียว และการใช้สัญลักษณ์ ของชาติ สัญลักษณ์ท้องถิ่น หรือสัญลักษณ์ทางศาสนามาปะปนกันในผลงานแฟชั่นร่วมสมัย ล้วนแต่เป็นจุดกระตุ้นความโกรธขึ้นในสังคม สิ่งเหล่านี้อาจดูเหมือนอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่การหยุดการพัฒนามิใช่คำตอบที่ดีที่สุด เมื่อ 50 ปีที่แล้วเรายังเชื่อกันว่าการอนุรักษ์มรดกเป็นคนละเรื่องกับการพัฒนา แต่ความคิดดังกล่าวได้เปลี่ยนไปแล้ว การอนุรักษ์และการพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ ในเรื่องมรดกทางวัฒนธรรม มรดกทางวัฒนธรรมจะหมดคุณค่าต่อชุมชนถ้าหากขาดการอนุรักษ์และหากขาดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สมบัติทางวัฒนธรรมก็จะถอดทอดทิ้งเช่นกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามมรดกส่วนใหญ่ควรจะถูกใช้ในฐานะที่เป็นแหล่งความรู้ความดิด และเทคนิคสำหรับการดำเนินชีวิตในปัจจุบันและอนาคต สิ่งท้าทายคือ การรักษาความมั่นคงของสมบัติวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นทรัพยากรบนพื้นฐานของการพัฒนานั้นจะทำได้อย่างไร

มรดกวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา
การที่สมบัติวัฒนธรรมถูกดึงเข้าไปอยู่ในกระบวนการพัฒนาประกอบด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ

ประการแรก การพิจารณาถึงรูปแบบ-ภาพลักษณ์และเงื่อนไขของมรดกเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ถูกดึง
มรดกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเพื่อความอยู่รอด
ประการที่สอง ที่ตั้งของอาคารถาวร และเหตุการณ์ต่าง ๆ จะต้องสะท้อนให้เห็นในกระบวนการพัฒนา
ประการที่สาม สมบัติวัฒนธรรม (heritage) เป็นดัชนีของความอยู่รอด หรืองอกงามของชุมชน
ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ อธิบายว่า อาคารและการพัฒนาเป็นสิ่งที่มีราคาถูกมาก แต่มรดกวัฒนธรรมเป็นสิ่งมีค่า และจำเป็นจะต้องทำให้เกิดงอกงามยั่งยืน ซึ่งการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอดีต ไม่ว่าจะแสดงออกทางด้านรูปแบบทางกายภาพ หรือในลักษณะของวัฒนธรรมที่มิใช่วัตถุ จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเหมาะสม

การทำให้มรดกวัฒนธรรมเป็นที่ประจักษ์
ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ อธิบายว่า 50 ปีที่ผ่านมา มรดกวัฒนธรรมส่วนใหญ่ถูกเก็บงำไว้อย่างเป็นทางการ ภายใต้การสนับสนุนในรูปของเอกสารทางการอย่างเข้มงวด แม้ทางการจะดำเนินการอย่างมืออาชีพ แต่ก็ยากที่จะประจักษ์แก่คนทั่วไป ข้อมูลทางวิชาการซึ่งถูกสื่อผ่านและบรรยายโดยภัณฑารักษ์ และนักวิชาการยังคงเป็นเหมือนสินค้าในตู้โชว์สำหรับบุคคลที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์แต่กลับเอื้อมไม่ถึง ซึ่งห่างเหินจากประสบการณ์ และความต้องการของชุมชนคนทั่วไปจึงอาจถูกชักจูงให้สร้างปฏิสัมพันธ์กับมรดกสมัยใหม่อย่างน่าเสียดาย

ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ เสนอให้เริ่มสร้างความพยายามในการเข้าใจมรดกวัฒนธรรมพื้นที่ขนาดเล็กก่อนเป็นอันดับแรก ยกตัวอย่างในอังกฤษ หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีโบสถ์หลังหนึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญ แต่ปรากฎว่าเวลาเปิด – ปิด และรายละเอียดต่าง ๆ ของโบสถ์ ไม่ถูกติดตั้งไว้ในที่เด่นชัด ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ ตั้งคำถามว่า เรามีสิ่งที่จะต้องอนุรักษ์หลายพื้น แต่เราจะอนุรักษ์อะไร และทำไมจึงต้องอนุรักษ์ ในหมู่บ้านแห่งนี้มีพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมือง มีหลุมฝังศพของนักคริกเก็ตผู้มีชื่อเสียง มีอาคาร ถนน และพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ แต่กลับไม่มีมัคคุเทศก์ที่มีความสามารถ ไม่มีป้ายแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และไม่มีสิ่งเชื่อมโยงกับสถานที่ ท่องเที่ยวอื่น ๆ แต่อย่างใด

บทบาทของการแปลความหมายมรดกวัฒนธรรม
ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ กล่าวว่าการแปลความหมายมรดกวัฒนธรรม คือ ความพยายามอธิบายข้อมูลให้เกิดความเข้าใจแก่สาธารณชน โดยเน้นการเพิ่มคุณค่าทาง
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแก่สถานที่นั้น ๆ

ในที่นี้ “Interpretation” มีสองความหมาย คือ หมายถึงการถ่ายทอดข้อความจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง และหมายถึง การเขียนป้ายแสดงข้อมูลเกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแก่สาธารณชน ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ ชี้ว่า การเพิ่มคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของสถานที่เป็นการแปลความหมาย ที่น่าชื่นชม ที่จะส่งผลให้สมบัติวัฒนธรรมมีความยั่งยืนไปถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป และคนทั่วไป การแปล ความหมายได้เปิดเผยให้เห็นความหมายต่าง และทรัพยากรใหม่ ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในสมบัติวัฒนธรรม หากปราศจากการแปลความหมายแล้ว มรดกวัฒนธรรมจะกลายเป็นภาระที่ต้องได้รับการอนุรักษ์ และเป็นปัญหาของชุมชนที่เป็นเจ้าของ การแปลความหมายเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นกุญแจไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชุมชนปราศจากความเข้าใจถึงการก่อตัวของสิ่งแวดล้อม

การวางแผนให้เกิดการแปลความหมายมรดกวัฒนธรรมอย่างมีเอกภาพ
หัวใจของเอกภาพในการตีความ คือ จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับกระบวนการพัฒนา หลักสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับ “Interpretation” คือ ความหมาย (meanings) ภาพลักษณ์ (images) และกิจกรรมต่างๆ (activities) การแปลความหมายและแผนการพัฒนาความหมายของมรดกในอนาคต มิอาจแยกตัวออกจากความรู้ และความตั้งใจของชุมชนท้องถิ่นได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดเตรียมสะพานเชื่อมระหว่างแผนการคุกคามทางกายภาพกับแรงกระตุ้นของชุมชนท้องถิ่น ศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ สรุปว่า ปัจจุบันการแปลความทางมรดกถูกตระหนักถึงในฐานะที่เป็นสื่อจำเป็นในการวางแผนสำหรับอนาคต เรื่อง ความหมายและคุณค่าของชุมชนแทนการแปลความหมายทำให้เกิดวิธีการอนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่น และกลุ่มผลประโยชน์อย่างเป็นไปในทางเดียวกัน อดีตและมรดกมีความสำคัญต่อชุมชนทุกแห่ง เนื่องจากเป็นความยั่งยืนสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต และที่สำคัญก็คือ วิธีการแปลความหมายของวัฒนธรรม ทำให้เกิดการพัฒนาที่ส่งผลต่อการผสานช่องว่างอันขาดวิ่นระหว่างอดีตกับอนาคตได้เป็นอย่างดี

การเสนอผลงานการจัดการแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืนในประเทศไทยปัจจุบัน
หลังจากการบรรยายของศาสตราจารย์ ไบรอัน กูดดี้ แล้ว มีการนำเสนอผลงานของนักวิชาการดังนี้

- ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ได้บรรยายเรื่อง “Ecotourism for forest Conservation and Community Development in the Asia and Pacific Region”

- มร. Vincent Tabuteaบรรยายเรื่อง
“TATA’s Vey goals : Sustainable Development and Cultural Conservation : Northern Thailand’s ” Mountain Peoples

- การเสนอผลงานการจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เกาะยาวน้อย พังงา เกาะพงัน สุราษฎร์ธานี หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทโคกโก่ง แหล่งท่องเที่ยวเขาพลายดำ ตำบลทุ่งใส จังหวัดนครศรีธรรมราช และการจัดการแหล่งที่พักเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติไร่วนิดาวัลเลย์ จังหวัดสระบุรี เฟิร์นริมธารรีสอร์ท จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบทบาทของสื่อมวลชนกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น