จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

สรุปคำบรรยายเรื่องการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมที่เมืองนครปฐม

เอกสารประกอบการนำชมวิชามรดกไทย
รวบรวมโดย พิทยะ ศรีวัฒนสาร

ที่ตั้ง
นครปฐมเป็นจังหวัดในเขตภาคกลางตอนล่าง บริเวณลุ่มแม่น้ำท่าจีน ห่างจากกรุงเทพฯไปทางตะวันตก 56 กม. (ทางรถไฟ 62 กม.)
ทิศเหนือ ติดต่อกับ สุพรรณบุรี และ พระนครศรีอยุธยา
ทิศใต้ ติดต่อกับ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และ ราชบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ นนทบุรี อยุธยา และ กรุงเทพฯ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ราชบุรี กาญจนบุรี

ภูมิประเทศ
ตั้งอยู่บนที่ราบภาคกลางตอนล่าง บริเวณสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง พื้นดินค่อนข้างราบเรียบ ลาดเท ประมาณ 1-2 องศา สูงเฉลี่ยจากน้ำทะเลปากลาง ประมาณ 3 เมตร ขณะน้ำทะเลขึ้นสามารถหนุนให้เกิดน้ำท่วมบริเวณ อ.นครชัยศรี และ อ.สามพรานได้

ทรัพยากร
- ป่าไม้เบญจพรรณโรงเรียนการบินกำแพงแสน และวัดไผ่รื่นรมย์ เนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ประกอบด้วยไม้ไผ่ค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของไก่ป่า นกและชะมด
- ป่าตะโกหรือสวนรุกขชาติ เมืองเก่ากำแพงแสน (520 ไร่)
- ป่าไม้พื้นเมืองธรรมศาลา อ.เมือง(ยางนา ข่อย กร่าง มะดัน มะพลับ และ ฯลฯ มีกระรอก กระแต นก ลิงป่า
- ป่าเบญจพรรณวัดปลักไม้ลาย อ.กำแพงแสน(92 ไร่) ประกอบด้วยพญารากดำ ขี้อ้าย ตาลเสี้ยน และไม้ลาย

การคมนาคม
ในอดีตเมื่อยังไม่มีรถไฟกรคมนาคมทางบกใช้วิธีเดินเท้าเปล่า/เกวียน ส่วนการคมนาคมทางน้ำใช้เรือบด เรือสำปั้น เรืออีแปะ เรือแจว เรือมาด เรือข้าว เรือแท็กซี่ เรือยนต์ เรือพ่วง เรือกลไฟ สำหรับเรือหางยาวเริ่มใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ยังมีการเดินทางด้วยเรือโดยสารขนาดใหญ่ของบ.สุพรรณบุรีขนส่งลำน้ำนครชัยศรี เรียกว่าเรือแดง ตอนหลังเลิกกิจการไปเพราะการคมนาคมทางรถยนต์สะดวกกว่า

ทางรถไฟ
สร้างสมัยรัชกาลที่ 5 เชื่อมต่อจากสถานีตลิ่งชัน(ธนบุรี)มายังจ.นครปฐมที่อ.นครชัยศรี มีสะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี (แม่น้ำท่าจีน) ที่ ต.ไทยาวาส และต.วัดแค ชื่อ “สะพานเสาวภา” และตัดตรงมายังสถานีนครปฐมทางด้านทิศเหนือห่างจากองค์เจดีย์ 1 กิโลเมตร

ประชากร
ไทยเชื้อสายจีน/ ลาว/ มอญ/ เขมร ผสมกลมกลืนกัน
อาชีพ
เกษตรกรรม,คนงานโรงงาน
สัตว์เศรษฐกิจ
สุกร เป็ด ไก่ โคนม โคเนื้อ เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด กุ้งน้ำจืด ตะพาบน้ำ และกบ
ทำนา
ชาวนครปฐมทำนากันมากในเขตอ.เมือง อ.นครชัยศรี อ.บางเลน อ.สามพราน และอ.ดอนตูม
ทำไร่
กำแพงแสน ดอนตูม (อ้อย ข้าวโพด ถั่ว กระชาย ขิง ผักกาด คะน้า ฯลฯ
ทำสวน
ส่วนใหญ่ ส้มโอ ขนุน ฝรั่ง ชมพู่ มะละกอ มะม่วง หน่อไม้ฝรั่ง ฯลฯ สวนกล้วยไม้ (เมือง/ นครชัยศรี/ สามพราน/ พุทธมณฑล/ และดอนตูม)

อุตสาหกรรม
โรงงานหีบอ้อย โรงสีข้าว โรงกลั่นสุรา โรงคราม อาหารสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง สิ่งทอ เสื้อผ้า
สำเร็จรูป โรงกลั่นน้ำมันพืช โรงงานสุรา ชิ้นส่วนประกอบรถยนต์

สถานที่ท่องเที่ยว
พระปฐมเจดีย์ วัดไร่ขิง สวนสามพราน พระราชวังสนามจันทร์ พระประโทนเจดีย์ พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ ลานแสดงช้างสามพรานและฟาร์มจระเข้ พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ตลาดริมแม่น้ำนครชัยศรี การล่องเรือชมธรรมชาติริมน้ำ และเทศกาลงานประเพณีประจำในแต่ละท้องถิ่น

การปกครอง
7 อำเภอ คือ เมือง นครชัยศรี สามพราน ดอนตูม กำแพงแสน บางเลน พุทธมณฑล

สมัยก่อนประวัติศาสตร์
พบหลักฐานชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ตอนปลายในท้องที่ เมืองกำแพงแสนโบราณ ซึ่งต่อมาชุมชนนี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมือง

สมัยประวัติศาสตร์
เมืองนครปฐมโบราณ
เดิมเชื่อว่าตั้งอยู่ที่บริเวณพระปฐมเจดีย์ แต่ในปี พ.ศ.2509 ศรีศักร วัลลิโภดม สุด แสงวิเชียร สินชัย กระบวนแสง และขรรค์ชัย บุนปาน ใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาอธิบายว่า เมืองนครปฐมโบราณตั้งอยู่ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กม. ในพื้นที่บ้านคลองประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ศูนย์กลางของเมืองอยู่บริเวณวัดพระประโทนเจดีย์ปัจจุบัน

ลักษณะของเมืองนครปฐมโบราณ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมนขนาดใหญ่มีลำน้ำพระประโทนไหลผ่านเมืองตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ตัวเมืองมีขนาด 2000x3600 เมตร รวมพื้นที่ 3,800 ไร่ ถือเป็นเมืองโบราณก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเมืองหนึ่ง มีคลองพระประโทนขุดเชื่อมคูเมืองทางทิศเหนือ-ใต้

โบราณสถานสำคัญพบน้อยเนื่องจากถูกทำลายระหว่างสร้างทางรถไฟสายใต้ โบราณสถานที่เหลืออยู่ ได้แก่ เจดีย์จุลประโทน เนินอิฐต่างๆ และวัดพระเมรุ
ในพ.ศ. 2526 ดร.ผาสุข อินทราวุธ นักโบราณคดีได้พบร่องรอยการอยู่อาศัยที่เมืองนครปฐมระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 11-16 แล้วถูกทิ้งร้างไป หลักฐานอื่นๆที่พบ ได้แก่ ตะเกียงดินเผาแบบทวารวดี

เมืองโบราณกำแพงแสน
ลักษณะเป็นเมืองโบราณ รูปสี่เหลี่ยมมุมมนขนาด 750x1000 เมตร (พื้นที่ 315 ไร่) มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม มีประตูเมือง 4 ประตู หลักฐานโบราณคดีที่พบ ได้แก่ฐานอาคารคล้ายที่พบในเมืองคูบัว พระพุทธรูปปูนปั้น หินบดยาทำด้วยหินทรายแดง(หินบดยาซึ่งพบที่อื่นส่วนมากเป็นหินสีเขียวหรือ สีดำ) และจารึกบนฐานธรรมจักรศิลาอักษรปัลลวะภาษาบาลี(พุทธศตวรรษที่ 13)
การค้นพบหลักฐานโครงกระดูกและลูกปัดกำหนดอายุ ประมาณ 4000 ปี ที่บ้านดอนตาเพชร จ.กาญจนบุรี และหลักฐานโบราณคดีที่เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี บ่งชี้ถึงการติดต่อทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับชาวต่างชาติจากอินเดีย

ในพุทธศตวรรษที่ 6 มีหลักฐานการรับพระพุทธศาสนาจากอินเดีย หลักฐานทางโบราณวัตถุอื่นๆที่พบในเมืองนครปฐม ได้แก่ ธรรมจักรศิลาและกวางหมอบ ตุ๊กตาปูนปั้นหน้าตาคล้ายชาวอินเดีย พระพิมพ์ดินเผา พระพุทธรูปขนาดต่างๆ ศิลาจำหลักรูปนรสิงห์ชันเข่า

ในพ.ศ.2502 พบเหรียญเงิน ที่ ต. พระประโทน 2 เหรียญ จารึกภาษาสันสฤกว่า “ศรีทวารวติปุณยะ”

พระปฐมเจดีย์
เชื่อว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ลักษณะเมื่อแรกสร้างคล้ายสถูปสาญจี อายุพุทธศตวรรษที่ 3-4 สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช

วัดพระเมรุ
รูปแบบแผนผังคล้ายอานันทเจดีย์ ในพุกาม เชื่อว่า อานันทเจดีย์อาจได้แบบอย่างไปจากวัดพระเมรุ

นครปฐมระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 11-16 (ยุครุ่งเรือง)
ภิกษุเหี้ยนจัง/ เหยียนจาง(Hieun Tsiang) หรือ พระถังซำจั๋ง ซึ่งเดินทางไปสืบพระพุทธศาสนาที่อินเดียระหว่าง พ.ศ.1172-1180 และภิกษุ อี้จิง(I-sing) กล่าวถึง อาณาจักรโถโลโปตี้ว่าตั้งอยู่ระหว่างอาณาจักร อีซานาซาล้อ(ทางทิศตะวันออก) อาณาจักรซิลิตาซาล้อ(ทางทิศตะวันตก) นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า โถโลโปตี้ คือทวารวดี อีซานาซาล้อ คือ อีสานปุระ และ ซิลิตาซาล้อ คือ ศรีเกษตร ภิกษุทั้ง 2มิได้มาถึงทวารวดีด้วยตนเอง เพียงแค่ได้ยินคำบอกเล่าของชาวอินเดีย

หลักฐานอื่นๆที่กล่าวถึงทวารวดี ได้แก่ ชินกาลมาลีปกรณ์ หนังสือมหาวงศ์(พงศาวดารลังกา) หนังสือมิลินทรปัญหา หนังสือกถสริตสาคร นอกจากนี้ยังมีจารึกอักษรปัลลวะภาษาบาลี พุทธศตวรรษที่ 11-12 (จารึกคาถาเยธัมมา) และจารึกอักษรปัลลวะภาษามอญพุทธศตวรรษที่ 12

นครปฐมระหว่าง พุทธศตวรรษที่ 16-19 (ยุคเสื่อม)
สาเหตุความเสื่อม ได้แก่ ความแห้งแล้ง โรคระบาด ลำน้ำเปลี่ยนเส้นทางเดิน อาณาจักรอีสานปุระเริ่มมีอำนาจและเริ่มขยายอิทธิพลเข้ามายังภาคกลางแทนที่อาณาจักรทวารวดี เมืองต่างๆในภาคกลางที่ปรากฏหลักฐานในจารึกปราสาทพระขรรค์ ได้แก่ ลวปุระ ชัยปุระ วัชระปุระ สุวรรณปุระ ศรีชัยสิงหปุระ ศัมพูกปัฏนะ ฯลฯ อิทธิพลทางศิลปะขอมซึ่งปรากฏในเมืองนครปฐม คือ การบูรณะยอดเจดีย์ของพระปฐมเจดีย์ให้เป็นเจดีย์ยอดปรางค์ และยังปรากฏหลักฐานองค์เจดีย์จำลองทางด้านใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเจดีย์พระประโทน

นครปฐมสมัยสุโขทัย
อาณาจักรกัมพูชาเริ่มเสื่อมอำนาจในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และเมื่อเสด็จสวรรคตในพ.ศ.1869 เมืองขึ้นต่างๆก็แยกตัวเป็นอิสระ รวมถึงชุมชนไทยต่างในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน

ปลายพุทธศตวรรษที่ 18 พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด ร่วมกัน ขับไล่อิทธิพลของกัมพาชาออกไปจากสุโขทัย
ศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงเมืองต่างๆภายใต้อำนาจของอาณาจักรสุโขทัย ได้แก่ สระหลวง(พิจิตร) สองแคว(พิษณุโลก) พระบาง (นครสวรรค์) แพรก(ชัยนาท) สุพรรณภูมิ(สุพรรณบุรี) ราชบุรี เพชรบุรี นครศรีธรรมราช แต่ไม่ปรากฏชื่อเมืองนครปฐมว่าเป็นเมืองใต้อำนาจของสุโขทัย เนื่องจากถูกทิ้งร้างตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16

ศิลาจารึกหลักที่ 2 ระบุว่าพระศรีศรัทธาราชจุฬามณีหลานพ่อขุนผาเมือง ได้บรูณะปฏิสังขรณ์และก่อสร้างพุทธศาสนสถานในเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัยจำนวนมาก ครั้นออกผนวชได้เดินทางไปแสวงบุญที่ลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ.1873 และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระมหาเถระศรีศรัทธาราชจุฬามณี ศรีรัตนสังกาทีปมหาสามี และเดินทางกลับสุโขทัยราวพ.ศ.1881-1893 โดยผ่านตะนาวศรี เพชรบุรี ราชบุรี นครพระกฤษณะ(กริส) และอโยธยาศรีรามเทพนคร จารึกหลักที่ 2 ระบุว่า พระมหาเถระศรีศรัทธาราชจุฬามณีได้ปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเรียกตามขอมว่า “พระธม”หมายถึง พระสถูปขนาดใหญ่ซึ่งปรักหักพังอยู่กลางป่า ณ เมืองเก่า ซึ่งพระมหาเถระศรีศรัทธาฯเรียกว่า “นครพระกฤษณ์” เดิมสูง 95 วา ท่านได้บูรณะเพิ่มสูงเป็น 102 วา ไมเคิล ไรท์ เป็นนักวิชาการอิสระคนแรกที่เสนอว่า “นครพระกฤษณ์”ในจารึกหลักที่ 2 คือ “เมืองนครปฐมโบราณ”

หลังสมัยสุโขทัยไม่ปรากฏหลักฐานการกล่าวถึงเมืองนครปฐมอีก มีเพียงหลักฐาน การบรูณะพระปฐมเจดีย์และเจดีย์จุลประโทน โดยสร้างพระปรางค์บนองค์เจดีย์เป็นปรางค์แปดเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูน ประยูร อุลุชาฏะเสนอว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นศิลปะอู่ทองแห่งแคว้นสุพรรณภูมิ มิใช่ศิลปะอยุธยาตอนต้น

แคว้นสุพรรณภูมิปรากฏขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 หลังการสิ้นสุดของเมืองอู่ทองและเมืองนครชัยศรี เอกสารจีนเรียกเมืองสุพรรณภูมิว่า“เจนหลีฟู” หรือ “เสียน” “เจนหลีฟู” เคยส่งทูตไปจีนหลายครั้ง และเคยตกอยู่ในอำนาจของสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง เมื่อสุโขทัยอ่อนแอจึงแยกตัวเป็นอิสระ ก่อนจะรวมกับกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.1893 จึงอาจเป็นได้ว่า ผู้ปกครองของสุพรรณภูมิได้เดินทางมาบูรณะพระปฐมเจดีย์ตามรูปแบบศิลปะแบบสุพรรณภูมิ

นครปฐมสมัยอยุธยา
นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธาเมื่อ พ.ศ.1893 จนถึงรัชสมัยพระยอดฟ้า (พ.ศ.2089-2091) นครปฐมยังไม่มีฐานะเป็นเมืองเช่นเดียวกับสมัยลพบุรีและสุโขทัย ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(พ.ศ.2091-2111) พระองค์โปรดฯให้ตั้งเมืองนครชัยศรีขึ้นตามชื่อของเมืองโบราณ
เมืองนครชัยศรีเป็นเมืองชุมชนค้าขายที่สำคัญ ขนาดเล็กตั้งอยู่ในเขต ต.ท่านา อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งแยกตัวจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ไหลผ่าน ห่างจากเมืองนครปฐมโบราณประมาณ 10 กิโลเมตร

แม่น้ำนครชัยศรีมีหลายชื่อได้แก่ แม่น้ำสุพรรณบุรี และแม่น้ำท่าจีน ในสมัยนี้ เมืองนครชัยศรีมีฐานะเป็น เมืองจัตวา ผู้ปกครองเรียกว่า “ผู้รั้ง”ไม่เรียกเจ้าเมือง เพราะไม่มีอำนาจเด็ดขาดอย่างเจ้าเมือง ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของราชธานีอย่างใกล้ชิด ผู้รั้งมีราชทินนามว่า “ออกพระสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม” เมืองนครชัยศรีมีบทบาทน้อยในยามสงคราม เพราะที่ตั้งเมืองมิได้อยู่ในเส้นทางเดินทัพ ดังเช่นเมืองราชบุรี กาญจนบุรีและสุพรรณบุรี บทบาทของเมืองนครชัยศรีทางด้านเศรษฐกิจ คือ การส่งส่วยถ่าน

นครปฐมสมัยธนบุรี
เมืองนครชัยศรีมีความสำคัญขึ้น เนื่องจากพม่าเคยยกทัพผ่านตามเส้นทางราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาครและนครชัยศรีสองครั้ง (พ.ศ. 2310 และพ.ศ. 2317) สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเคยเสด็จฯออกไปรับศึกโดยใช้เส้นทางคลองด่าน(คลองมหาชัย) ซึ่งเชื่อมระหว่างคลองบางกอกใหญ่กับแม่น้ำท่าจีน ที่สมุทรสาคร) การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เจ้าเมืองนครชัยศรีมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยานครชัยศรี นอกจากนี้พื้นที่ในเขตเมืองนครชัยศรี ยามว่างศึกยังเป็นที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดให้ขุนนางผู้ใหญ่คุมไพร่พลออกไปบุกเบิกทำนาเพื่อรวบรวมเสบียงอาหารจำหน่ายจ่ายแจกแก่ราษฏร

นครปฐมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เศรษฐกิจ
ลุ่มแม่น้ำท่าจีนแขวงเมืองนครชัยศรีเป็นแหล่งผลิตสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูง คือ น้ำตาลทรายซึ่งนานาชาติต้องการ สินค้าออกอื่นๆของสยาม ได้แก่ หนังสัตว์ ฝ้ายดิบ ไม้ยาง ครั่ง ดีบุก รังนก เป็นต้น น้ำตาลทรายเป็นสินค้าออกสำคัญระหว่างพ.ศ.2353-2391 ส่งผลให้ชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองนครชัยศรีมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในเมืองนครชัยศรี ประกอบด้วยชาวจีน ลาวและเขมร จำแนกเป็น พวกที่ตั้งใจมาแสวงหาอาชีพเลี้ยงปากท้อง คือ ชาวจีน กับพวกที่ถูกกวาดต้อนมา ได้แก่ ชาวลาว และเขมร ชาวจีนอพยพมาคราวละมากๆ โดยมักตั้งหลักแหล่งตามเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่เชื่อมกับอ่าวไทย อาทิ ลำน้ำแม่กลอง ลำน้ำนครชัยศรี ลำน้ำเจ้าพระยา ลำน้ำท่าจีน ลำน้ำบางปะกง อาชีพของชาวจีน คือ กรรมกร เลี้ยงสัตว์ ค้าขายและเพาะปลูก ในพ.ศ.2381 บาทหลวงอัลบรังค์(Albrand) ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ทำให้ตำบลท่าข้ามริมแม่น้ำนครชัยศรีเป็นชุมชนชาวคริสต์(จีน) ขนาดใหญ่มาถึงปัจจุบัน
ในสมัยรัชกาลที่ 2 มีการส่งชาวลาวเข้ามาในเมืองนครชัยศรีเป็นครั้งแรก เรียกว่า “ชาวลาวภูครั่ง”หรือ “ลาวครั่ง” ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองภูครั่งริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ในเวลาปกติชาวลาวเหล่านี้มีหน้าที่ถูกเกณฑ์ไปตัดฟืนป้อนโรงหีบอ้อยหลวง ในสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดกบฏเขมรซึ่งรับการสนับสนุนจากญวณเป็นเหตุให้ไทยต้องรบกับญวณหลายปี สมเด็จพระนั่งเกล้าฯโปรดให้กวาดต้อนชาวเขมรไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองนครชัยศรี มีหลักฐานเรียกว่า “ท่าเขมร”ใกล้สถานีรถไฟนครชัยศรีขณะนี้

นครปฐมสมัย ร.4-ร.7
เมื่อครั้งพระวชิรญาณภิกขุเสด็จฯธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์ ทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์ใหญ่ที่สุดในสยามและประเทศใกล้เคียง จึงกราบบังคมทูลให้รัชกาลที่ 3ทรงปฏิสังขรณ์ เพื่อเชิดชูพระเกียรติยศ แต่รัชกาลที่ 3 ทรงเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดเนื่องจากยังเป็นป่ารกอยู่ เมื่อรัชกาลที่ 4 ครองราชย์ จึงโปรดฯให้ปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นแบบองค์ระฆัง ไม่มีฐานทักษิณ สูง 17 วา 2 ศอกครอบเจดีย์องค์เดิม โดยใช้ทั้งอิฐใหม่และรับซื้ออิฐเก่าจากราษฎรที่ไปรื้อมาจากวัดโบราณ

ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2403 พระเจดีย์องค์ใหม่ที่สวมทับเจดีย์องค์เดิมได้ทรุดพังลงมาเนื่องจากฝนตกใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้บูรณะขึ้นมาใหม่ มีการแก้ปัญหาการทรุดพังของพระเจดีย์ด้วยการใช้ไม้ซุงทั้งต้นปักเรียงกัน แล้วรัดด้วยโซ่ขนาดใหญ่เป็นเปลาะๆ เสร็จแล้วจึงก่ออิฐถือปูนหุ้มด้านนอกและเปลี่ยนฐานเจดีย์ให้กว้างขึ้น พร้อมกันเพิ่มส่วนสูงของพระเจดีย์ขึ้นเป็น 102 เมตร ประกอบด้วยวิหาร 4 ทิศ เชื่อมด้วยระเบียงกลมล้อมรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ถัดจากระเบียงเป็นลาน มีหอสงฆ์ 24หอ มีการจำลองพระเจดีย์องค์เดิม พระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เขามอ หอกลอง และปลูกต้นศรีมหาโพธิ์
ทางด้านตะวันออกติดกับบริเวณพระปฐมเจดีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างพระราชวังปฐมนครสำหรับประทับเมื่อเสด็จฯมานมัสการพระปฐมเจดีย์ พระราชวังนี้ถูกทิ้งร้างไปเมื่อสิ้นรัชกาล ในสมัยนี้มีการอพยพลาวโซ่งจากเพชรบุรีมาอยู่ที่กำแพงแสน และ บางเลน

รัชกาลที่ 5
การบูรณะพระปฐมเจดีย์สำเร็จลุล่วงและมีพิธียกยอดนภศูลเมื่อพ.ศ.2413 ยอดนภศูลหล่อจากโลหะทองเหลือง มีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น โดยรวมเมืองนครชัยศรี เมืองสุพรรณบุรีและเมืองสมุทรสาครเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาโจรผู้ร้ายและการทิ้งบริเวณพระปฐมเจดีย์ให้เป็นเมืองร้าง เนื่องจากแรงงานบูรณะพระปฐมเจดีย์อพยพกลับภูมิลำเนา

พ.ศ.2441 โปรดฯให้ย้ายที่ทำการมณฑลนครชัยศรีไปยังบริเวณพระปฐมเจดีย์และโปรดฯให้บูรณะพระราชวังปฐมนครเป็นที่ตั้งมณฑลนครชัยศรี ส่งผลให้เมืองนครชัยศรีริมแม่น้ำนครชัยศรีซบเซา ขณะที่พื้นที่รอบๆพระปฐมเจดีย์กลับขยายตัวอย่างรวดเร็ว

การเสด็จประพาสต้น
ครั้งแรก พ.ศ. 2447 เสด็จฯจากพระราชวังบางปะอิน ไปมณฑลราชบุรี แล้วกลับมามณฑลนคร ชัยศรี และมณฑลอยุธยา
ครั้งหลัง พ.ศ.2449 เสด็จฯจากกรุงเทพฯไปสระบุรี กลับมาบางปะอินไปเมืองอ่างทอง อุทัยธานี นครสวรรค์ จนถึงกำแพงเพชร
เมื่อครั้งเสด็จฯประพาสต้นที่นครชัยศรี ทรงปลอมพระองค์เสวยกระยาหารที่บ้านยายผึ้ง เจ๊กฮวด ลูกชายยายผึ้งเห็นพระพักตร์คล้ายกับรูปในหลวงที่ชายฝา เมื่อนำมาเทียบแล้วร้องเอะอะขึ้น จึงรู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อเสด็จฯกลับถึงพระนครก็โปรดฯให้สร้างเรือนขึ้นในพระราชวังดุสิด สำหรับต้อนรับ “เพื่อนต้น” ที่ทรงเชิญไปเยี่ยม โดยเพื่อนต้นบางคนยังเข้าใจว่า เป็นเพื่อนคบหาสมาคมในพระนคร ต่างหิ้วชะลอมปลาแห้งผลไม้ไปฝาก เมื่อไปถึงก็ตกใจรู้ว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเมตตาบารมีของพระพุทธเจ้าหลวงเป็นที่สรรเสริญไปทั่วทั้งแผ่นดิน
รัชกาลที่5 โปรดฯให้ขุดคลองเจดีย์บูชา คลองนราภิรมย์ คลองพระพิมล คลองมหาสวัสดิ์ และคลองพระยาบรรฤา และโปรดฯให้สร้างทางรถไฟตัดเข้ามาในชุมชนแถบพระปฐมเจดีย์

รัชกาลที่6
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ความสำคัญแก่เมืองนครปฐมเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรงครองราชย์ได้ 3 เดือน มีการขุดพบแผ่นสำริด รูปกระบี่และครุฑสำหรับติดด้ามธงของพระมหากษัตริย์สมัยโบราณบริเวณวัดพระประโทนเจดีย์ เปรียบได้กับพระมหากษัตริย์ทรงได้ช้างเผือกมาสู่บารมี พระองค์ได้สร้างพระราชวังสนามจันทร์เพื่อเป็นที่ประทับแปรพระราชฐาน และทรงริเริ่มฝึกการรบแบบเสือป่า ทำให้ทรงผูกพันกับเมืองนครปฐมตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ทรงครองราชย์ทำให้เมืองนครปฐมเจริญรุ่งเรืองมาก พระราชพินัยกรรมข้อสุดท้ายยังโปรดเกล้าฯให้แบ่งพระบรมราชสรีรังคารส่วนหนึ่งมาบรรจุยังห้องพระวิหารทิศเหนือ ด้านติดกับพระร่วงโรจนฤทธิ์ และเมื่อครั้งดำรงพระยศ เป็นพระบรมโอรสาธิราชรัชกาลที่6 ก็ยังทรงรับเป็นพระราชธุระ ในการนำกระเบื้องเคลือบสีทองจากจีนมาประดับองค์พระปฐมเจดีย์ด้วย

การปฏิสังขรณ์พระเจดีย์สมัยร.๖
- โปรดให้ซ่อมแซมพระวิหารหลวง
- ให้เขียนภาพพระปฐมเจดีย์ไว้ที่ผนังด้านใน พระวิหารหลวง แสดงลักษณะองค์พระปฐมเจดีย์เมื่อแรกสร้างจนถึงปัจจุบัน
- ให้ขยายบันไดได้ทิศเหนือให้กว้างขึ้น
- ให้สร้างราวบันไดเป็นรูปพญานาคเลื้อยแผ่แม่เบี้ย
- ให้หล่อพระโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร และประดิษฐานเมื่อ มกราคม 2457 (วิหารทิศเหนือ)
- พระราชทานชื่อถนน 4ด้าน นอกบริเวณองค์พระดังนี้

ทิศ E ถนนหน้าพระ
ทิศ N ถนนซ้ายพระ
ทิศ S ถนนขวาพระ
ทิศ W ถนนหลังพระ

- ให้สร้างสะพานข้ามคลองเจดีย์บูชาซื่อสะพานเจริญศรัทธา
- ให้ตัดถนนจากหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ ตรงไปยังวัดพระประโทน

การสร้างพระราชวังสนามจันทร์
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นบริเวณสระน้ำจันทร์ ซึ่งเป็นสระโบราณใกล้ซากเนินปราสาทห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันตกประมาณ 2 กม. เนื่องจากมีธรรมชาติอันรื่นรมย์งดงาม พระราชวังสนามจันทร์ประกอบด้วย พระที่นั่ง 5หลัง และพระตำหนักต่างๆ 4 หลัง มีศาลาธรรมะและเทวาลัยพระคเณศวร์ รูปแบบการก่อสร้างมีทั้งศิลปกรรมไทย ยุโรปและแบบประยุกต์ ได้แก่ พระที่นั่งพิมานปฐม พระที่นั่งอภิรมย์ฤดี พระที่นั่งพัชรีรมยา พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศไนย พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ พระตำหนักทัยแก้วและพระตำหนักทัยขวัญ

พ.ศ.2456 โปรดเกล้าฯให้ยกตำบลพระปฐมเจดีย์ ขึ้นเป็นอำเภอพระปฐมเจดีย์ แล้วให้เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองนครชัยศรีเป็น อ.นครชัยศรี แล้วเปลี่ยนชื่ออำเภอพระปฐมเจดีย์เป็นอำเภอเมืองนครปฐม โดยชื่อมณฑลยังคงเรียกว่ามณฑลนครชัยศรี และโปรดฯให้รวมมณฑลหลายๆมณฑลขึ้นเป็นภาคได้แก่ ภาคพายัพ ภาคตะวันตก ภาคใต้และภาคอีสาน แต่ละภาคให้มีอุปราช เป็นผู้บังคับบัญชา ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ มิได้ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย ในสมัยนี้มีการริเริ่มให้มีตลาดนัดขึ้นที่พระราชวังสนามจันทร์ เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประชาชน

รัชกาลที่ 7
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกพระราชวังสนามจันทร์ให้ เป็นที่ตั้งของทางราชการมณฑลนครชัยศรีตั้งแต่ พ.ศ.2469 เมื่อทรงยุบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ก็ทำให้เมืองนครปฐมมีบทบทน้อยลง และโปรดให้สร้างพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์โดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัตติทรงออกแบบ

แหล่งน้ำ
แม่น้ำนครชัยศรี
มีต้นกำเนิดออกมาจากการแยกออกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองมะขามเฒ่า อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ไหลผ่าน จ.สุพรรณบุรี เรียกแม่น้ำสุพรรณ ไหลผ่านจังหวัดนครปฐม เรียกแม่น้ำนครชัยศรี และไหลผ่านจังหวัดสมุทรสาคร เรียกแม่น้ำท่าจีน ยาว 325 กม.
มรดกทางวัฒนธรรม

พระธรรมจักรศิลา และกวางหมอบ
พบจำนวนมาก ลักษณะลวดลายเป็นแบบคุปตะ และหล่อคุปตะ(พุทธศตวรรษที่ 10-11)
พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี
พระเกศาขมวดเป็นวงใหญ่ พระพักตร์แบน พระขนงทำเป็นเส้นนูนโค้งต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรโปน พระโอษฐหนา นิยมสร้างปางแสดงธรรม ปางนั่งห้อยพระบาท และปางสมาธิ
พระพุทธรูปประทับนั่ง หรือยืนเหนือพระพนัสบดี
พระพนัสบดี เป็นสัตว์มีปากเหมือนครุฑ มีเขาและหูอย่างโค มีปากเหมือนหงส์ สัตว์ทั้งสามเป็นพาหนะของพระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม
ตราประทับรูปเรือทำจากดินเผา
เหรียญเงินจารึกสมัยทวารวดี
แผ่นสำริดรูปกระบี่ และครุฑสมัยลพบุรีอายุพุทธศตวรรษที่ 16 ราษฎรขุดพบ(บางแห่งว่าพระอธิการวัดพระประโทนเป็นผู้พบ) เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์(ชม สุนทรชุน) เมื่อครั้งเป็นพระยาสุนทรบุรี สมุห์เทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ.2453 คราวสมโภชพระปฐมเจดีย์และพระราชวังสนามจันทร์ จึงโปรดฯให้สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงคิดเครื่องประกอบเป็นธงพระกระบี่ธุชและพระครุฑพ่าห์น้อยขึ้น

โบราณสถานสำคัญ
วัดพระเมรุ(พุทธศตวรรษที่ 12-16)
ลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ก่อนการขุดแต่งทางโบราณคดี สูงประมาณ 10 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เมตร ต่อมาในปีพ.ศ.2404 พระปลัดทอง พระอธิการวัดกลางบางแก้ว ร่วมกับพระบุญ (ต่อมาเป็นพระพุทธวิถีเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว) ได้ขอแรงชาวบ้านไปขนอิฐจากวัดพระเมรุมาบูรณะพระปฐมเจดีย์ และได้พบพระพุทธรูปศิลาขาวขนาดใหญ่ จึงนำมาประดิษฐานยังพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรมประทับนั่งห้อยพระบาททั้งสองข้าง(ภัทรลีลาสนะ) มีฐานบัวรองรับพระบาท พระหัตถ์ซ้ายวางเหนือพระเพลาซ้าย พระหัตถ์ขวายกเสมอพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์ออก ปลายพระอังคุธุกับพระดัชนี(นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ )จรดเข้าหากันส่วนนิ้วที่เหลือกางออก รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามวัดพระเมรุใหม่ว่า “สวนนันทอุทยาน”

พ.ศ.2481-2482 กรมศิลปกรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศโดยการควบคุมของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์และนายปีแอร์ ดูปองค์ ได้ขุดแต่งวัดพระเมรุ พบว่า เป็นซากฐานเจดีย์ขนาดใหญ่ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้างยาวด้านละ70 เมตร มีทางขึ้น 4 ด้าน มีมุขยื่นออกมา 4 มุข สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ ด้านละองค์รวม 4องค์ ปรากฏฐานพระเหลืออยู่ทางทิศตะวันออกและทิศเหนือ ระหว่างมุขทำเป็นระเบียงคด มีร่องรอยการมุงหลังคาโดยรอบ
ในปี 2527-2528 กรมศิลปกรได้ขุดแต่งโบราณสถานวัดพระเมรุอีกครั้งหนึ่ง

วัดพระประโทนเจดีย์
ลักษณะเป็นเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ ร่วมสมัยวัดพระเมรุ และพระปฐมเจดีย์ สูงประมาณ 50 เมตร กว้าง 60 เมตร

เจดีย์จุลประโทน
อยู่ทางตะวันออกของพระปฐมเจดีย์ ห่างออกไปประมาณ 4-5 กม.

ตลาด
- ตลาดสายหยุด (ร.6)
- ตลาดยี่สาน(ตลาดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ที่ว่าระหว่างองค์พระกับคลองเจดีย์บูชา
- ตลาดชุมชน
- ตลาดกลางคืนที่องค์พระปฐมเจดีย์ (ด้านใต้)

พระตำหนักทับขวัญ
เป็นเรือนแบบภาคกลางสำหรับให้ชาวบ้านเข้าเฝ้าฯเดิมสร้างด้วยไม้สักทอง หลังคามุงจาก เป็นเรือนหมู่ 8 หลัง มีชานแล่นกลาง ปัจจุบันเป็นหลังคามุงกระเบื้อง

อนุสาวรีย์ย่าเหล
เป็นสุนัขโปรดของรัชกาลที่ 6 มีความเฉลียวฉลาดและจงรักภักดีมาก โปรดฯพระราชทานเงินเดือนให้ทุกเดือน เมื่อคราวสร้างเรือรบหลวงพระร่วง ย่าเหลก็บริจาคเงินสมทบด้วย ย่าเหลถูกริษยามาก ในที่สุดก็ถูกยิงตายขณะที่หนีออกไปเที่ยวนอกเขตพระราชฐาน รชกาลที่6 โปรดฯให้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นหน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พร้อมพระราชนิพนธ์ไว้อาลัยที่ฐานอนุสาวรีย์

วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร
เป็นพระอารามหลวง ชั้นเอกชนิดราชวรมหาวิหาร มีพระปฐมเจดีย์เป็นปูชนียสถาน สำคัญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย(จากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ) ฐานโดยรอบ 235.50 เมตร คดระเบียงโดยรอบ 562 เมตร กำแพงแก้วโดยรอบ 912 เมตร ซุ้มระฆังบนลานเจดีย์ 24 ซุ้ม ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีชั้นลดทั้ง 4ทิศ จากชั้นลดไปเป็นชั้นลานประทักษิณถัดไปเป็นฐานเขียง องค์ระฆัง ทั้ง 4ทิศ ถัดไปเป็นบังลังก์ เสาหาน บัวถลาหน้ากระดาน ปล้องไฉน(27ปล้อง) ปลียอด เม็ดน้ำค้าง นพศูล และมงกุฎ

ประวัติพระปฐมเจดีย์
คัมภีร์มหาวงศ์กล่าวว่า “ให้พระโสณเถระกับพระอุตตรเถระ ไปยังสุวรรณภูมิ” นักวิชาการเชื่อว่า สุวรรณภูมินี้น่าจะเป็น ดินแดนที่เมืองนครปฐมโบราณตั้งอยู่
ระยะก่อสร้างและปฏิสังขรณ์
1. สมัยสุวรรณภูมิ พ.ศ.300-1000
2. สมัยทวารวดี พ.ศ.1000-1600
3. สมัยถูกทิ้งร้างจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
มีหลักฐานทางธรณีวิทยาระบุว่า มีการรื้อทำลายเจดีย์ เพื่อสร้างทางรถไฟ จากสถานีธนบุรี-นครปฐมเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 500เมตร
ปาฏิหาริย์พระปฐมเจดีย์
มีความเชื่อว่าเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนาจะเกิด ฉัพพรรณรังสีปรากฏที่องค์พระปฐมเจดีย์ ตำนานพระยากงพระยาพานกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 568 พระยาพานได้ทำปิตุฆาตโดยไม่เจตนา ปุโรหิตและอริยสงฆ์จึงกราบทูลฯให้สร้าง เจดีย์สูงใหญ่เท่านกเขาเหิร เพื่ออุทิศกุศลแก่บิดา เจดีย์ดังกล่าว สูง 42 วา 2ศอก พระยาพานได้เห็นปาฏิหารย์ฉัพพรรณรังสว่างไปทั่วบริเวณที่สร้างเจดีย์ด้วย

พ.ศ. 2374 พระวชิรญาณภิกขุได้เสด็จฯธุดงค์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์ มายังเมืองนครปฐม ทรงปักกลดที่โคนต้นตะคร้อทางทิศเหนือ และเสด็จฯขึ้นสวดมนต์บนลานพระปฐมเจดีย์ แล้ว อธิษฐานว่า ถ้าพระเจดีย์องค์นี้มีพระบรมสารีริกธาตุ ขอเทพยาดาผู้รักษาจงได้แบ่งให้สัก 2องค์ เพื่อนำไปบรรจุพระพุทธรูปที่สร้างใหม่ แล้วรับสั่งให้นายรื่น มหาดเล็ก นำผอบใส่พานขึ้นตั้งไว้ ในโพรงด้านทิศตะวันออก ในตอนบ่ายวันเสด็จฯกลับก็ให้ไปอัญเชิญแต่ก็ไม่มีพระบรมสารีริกธาตุปรากฏ หนึ่งเดือนผ่านไปหลังเสด็จฯกลับ คืนหนึ่งขณะที่พระสงฆ์สวดมนต์ที่หอพระวัดมหาธาตุได้ครึ่งทาง ก็เกิดกลุ่มควันสีแดงกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นธูปพวยพุ่งออกมา พระสงฆ์ทั้งปวงลุกขึ้นไปดู ก็ไม่เห็นอะไร จึงสวดมนต์ต่อไปจนจบ พอควันจางก็ช่วยกันค้นดูว่ามีใครสุมไฟหรือไม่ ก็ไม่พบ วันรุ่งขึ้นจึงไปกราบทูลฯให้ทรงทราบ พระองค์จึงเสด็จฯทอดพระเนตรพระพุทธนวรัตน์ ที่ทรงสร้างไว้ ได้พบพระธาตุเพิ่มขึ้นจากเดิม 2องค์ รับสั่งถามผู้ใดก็ไม่มีใครทราบ จึงโปรดฯให้บรรจุไว้ในพระสัมพุทธพรรณีองค์หนึ่ง ในเจดีย์สุวรรณผลึกอีกองค์หนึ่ง และทรงเกิดศรัทธาที่จะบูรณะพระปฐมเจดีย์ ครั้นครองราชย์ได้ 2ปี ก็ทรงบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์โดยโปรดฯให้ สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นแม่กอง เมื่อถึงพิราลั้ยก็โปรดฯให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดีเป็นแม่กองดำเนินการต่อไป
พ.ศ.2400 ร.4 เสด็จฯมาก่อพระเจดีย์เป็นปฐมฤกษ์แล้วโปรดฯให้ตั้ง “ขุนพุทธเกษตรานุรักษ์” และ “ขุนพุทธจักรรักษา” และ “หมื่นฐานาภิบาล”เป็นผู้ดูแล ข้าพระจำนวน 126 คน พ.ศ. 2407 เมื่อเสด็จฯมา พระราชทานผ้าพระกฐินก็ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ ฉัพพรรณรังสี ในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์

รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ พระปฐมเจดีย์ เมื่อ พ.ศ 2450 ขณะประทับที่วังสนามจันทน์ พร้อมกับมหาดเล็ก และข้าราชการจำนนวน 69 คน ลักษณะเป็นรัศมีที่สว่างพราวทั้งองค์ ดูประหนึ่งว่าองค์พระทาด้วยฟอสฟอรัส ตั้งแต่ใต้คอระฆังลงมา เล็กน้อย ขึ้นไปถึงยอดมงกุฎ และมีรัศมีพวยพุ่งขึ้นไป 3-4 วา นาน 17 นาที พอดับก็มองไม่เห็นองค์พระเจดีย์ วันรุ่งขึ้นจึงทรงนิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป สวดมนต์เย็นในวิหาร

ลานด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
มีเจดีย์เล็กๆบนเขามอ เป็นที่เก็บอัฐิของพลเสือป่าเชื้อบ้านเชียงราก ซึ่งเสียชีวิตจากการตกน้ำ
ขณะซ้อมรบเสือป่าที่สระน้ำใกล้พระที่นั่งสามัคคีมุขมาตย์ นอกจากนี้ยังมีต้นตะคร้อ ซึ่งเป็นที่ปักกลดของสมเด็จพระวชิรญาณภิกขุ มีแท่นหินอ่อนประดิษฐานอยู่ (มองตามช่องบันไดลงไปทางซ้ายมือ)

วิหารทิศ
วิหารN - พระร่วงโรจนฤทธิ์ศรีอินทราทิตย์ธรรมโมภาสมหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร
วิหารE - ห้องนอกมีพระพุทธรูปปางตรัสรู้ ในซุ้มเรือนแก้ว ด้านหลังเป็นจิตรกรรม สีน้ำมันรูป
ต้นโพธิ์ฝีมือพระยาอนุศาสน์จิตรกร ห้องใน ด้านE เป็นภาพพระปฐมเจดีย์ของเดิม ซ้อนในองค์ปัจจุบัน ด้าน N-S เป็น
ภาพเทวดา คนธรรพ์ ฤๅษี ครุฑ นาค ( ร.6 ให้เขียน)
วิหารS - ห้องนอกเป็นพระปางปฐมเทศนา พร้อมปัญจภาคี ห้องในเป็นปางนาคปรก ลานชั้น
ลดด้านใต้มีสิ่งสำคัญคือ พระปฐมเจดีย์จำลอง(องค์เดิม),พระพุทธรูปศิลาขาว(ขนาด
และพุทธลักษณะคล้ายพระประธานในโบสถ์)ชื่อว่า พระพุทธนรเชษฐเศวตอัศศมัยมุนี ศรีทวารวดี ปูชนียบพิตร และพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชจำลอง

ต้นไม้ในพุทธประวัติ
ไม้ศรีมหาโพธิ ดร.ยอห์น สไคว์นำเมล็ดจากต้นโพธิพุทธคยมาถวาย ร.4 ทรงปลูกหน้าวิหารพระนอน 1 ต้น(W) และมุมทิศNE SE NW SW อย่างละต้น
ไม้ราชายตนะ(ไม้เกด) พระพุทธเจ้าทรงรับสัตตูก้อนสัตตูผงของนายตปุลลภัลลิกะ หลังตรัสรู้ ได้ 48 วัน
ไม้นิโครธ พระพุทธเจ้าทรงประทับใต้ร่มไม้นี้ 7 วัน หลังจากประทับใต้ต้นโพธิ์
ไม้ มุจลินท์(จิก ) พระพุทธเจ้าประทับแล้วเกิดฝนตกหนักพญานาคทำกายคดเป็นวงล้อมไว้
ไม้พหูปุตตนิโครธ(กร่าง) พระพุทธเจ้าประทับแล้วได้พบกับพระมหากัสสป
ไม้สาละ พระพุทธเจ้าประสูติ และปรินิพพาน และประทับก่อนตรัสรู้
ไม้ชมพู(หว้า) พระพุทธเจ้าประทับเมื่อตามพระราชบิดาไปแรกนา ขณะทรงพระเยาว์
ไม้อัมพวา(มะม่วง) พระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์

ภูมิปัญญาท้องถิ่น จ. นครปฐม
เครื่องปั้นดินเผา

- บ้านโรงหวด หมู่ที่ 2 ต.งิ้วราย อ.นครชัยศรี ทำเครื่องปั้นดินเผา ที่เรียกว่า “หวด”นึ่งข้าวเหนียวปัจจุบันไม่มีผู้สืบทอดภูมิปัญญาด้านนี้ เนื่องจากมีผู้ใช้น้อยลง
- การปั้นเตาอั้งโล่ ต.ลำเหย อ.ดอนตูม จ.นครปฐม พบทั่วไปช่างปั้นเป็นทั้งคนในท้องถิ่นและแรงงานจากอีสาน
เครื่องจักสาน
- ช่างจักสาน นิยมใช้ไผ่สีสุก เนื่องจากเนื้อเหนียวคงทนมาก ผ่าและจักเป็นตอกได้ง่าย สานเป็นกระบุง งอบ พ้อมข้าว หมวกเจ๊ก ปานเผือน(ใส่อาหารเซ่นผี) ปานขวัญ(ใส่เครื่องบูชาขวัญ) ตะข้อง กะแหล็บ(ใส่สิ่งของประจำตัวสตีเวลาออกนอกบ้าน) แอบและกล่องข้ว(บรรจุข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วเวลาออกนอกบ้าน) กระด้งฝัดข้าว สุ่มจับปลา ฯลฯ

การทอซิ่น(บ้านเกาะแรด หมู่ที่ 11 ต.บางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม)
การทอผ้าของไทยโซ่งมีทั้งทอด้วยฝ้ายและไหม แต่ผ้าทอด้วยฝ้ายนิยมมากกว่าไหม เพราะหาง่าย ราคาถูก ส่วนไหมเป็นวิถีผลิตยุ่งยาก เพราะต้องเลี้ยงไหมอง แต่ก็มีการทอไหมบ้างเล็กน้อย เพื่อนำมาประดับเป็นลวดลายบนผ้า ฝ้ายที่จะนำมาทอเป็นซิ่นต้องย้อมให้เป็นสีดำแดงและฟ้าอ่อนเสียก่อน เส้นฝ้ายสีแดงนำมาทอเป็นเส้นยืน ฝ้ายสีดำเป็นเส้นพุ่ง และฝ้ายสีอ่อนทำเป็นลายผ้าซิ่น การสลับสีทำให้ง่ายแก่การทอ เมื่อทอเป็นผืนแล้วจะไม่เห็นเส้นฝ้ายสีแดงเลย

ถลกบาตรและขาตั้งบาตร
นายสมเกียรติ ทองมูล หมู่ 8 ต.ห้วยหมอนทอง อ.กำแพงแสน ศึกษาการทำถลกบาตร และขาตั้งบาตร จากพระอาจารย์สำโรง พระธุดงค์ ซึ่งมาจากวัดจันทราวาส จ.จันทบุรี ต่อมาได้ทำเป็นอาชีพ และถ่ายทอดแก่ชาวบ้านทั่วไป

อาหารพื้นเมือง
ผลิตภัณฑ์จากหมูเช่นข้าวหมูแดง ร้านฮะเส็ง ในตลาดล่างริมสะพานเจริญศรัทธา ลูกชิ้นหมูนายเต็กกอ เป็ดพะโล้ร้านนายสมชัย(อ.นครชัยศรี) ร้านนายหนับและนายโอ (ตลาดดอนหวาย สามพราน) ไก่ย่างพื้นบ้าน หรือไก่อบฟาง ริมถนนเพชรเกษมขนมจีนน้ำยา/น้ำพริกสำเร็จรูป บ้านโคกพระเจดีย์ (นครชัยศรี) บ้านหนองดินแดง(อ.เมือง)

โต๊ะจีน
จานเย็น ไก่ต้มสับ ห้อยจ้อ ผัดผักกาดกับกุ้ง หมู ปลาหมึก ปลิงทฃะเล หูฉลามไข่นกกระทา ต้มยำกุ้ง เป็ดน้ำแดง ปลานึ่งมะนาว ข้าวผัด และขนมแปะก๊วย

ผลไม้
ผลไม้ที่มีชื่อคือ ส้มโอนครชัยศรี(ทองดี ขาวแป้น ขาวพวง ขาวน้ำผึ้ง)มีแหล่งผลิตที่นครชัยศรี และสามพราน มะพร้าวน้ำหอม ชมพู่เพชรน้ำผึ้ง ส้มเขียวหวาน (สวนส้มแสงทอง) กล้วยหอม มะม่วง ขนุนเหลืองบางเตย ฝรั่งกลมสาลี่ ลำไยสวนนราภิรมย์(ลำไยทวาย)

ต้นยางสามยอดเก้าคนโอบที่ ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.นครปฐม

ข้าวหลาม

การทำสวน
นิยมทำสวนที่ฝั่งเลน(ฝั่งดินบอก) เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ มักทำสวนแบบยกร่อง รอบแปลงที่ปลูกพืช

เตาแก๊สขี้หมู
นำขี้หมูบรรจุถังขนาดใหญ่ ฝังดินก่อให้เกิดแก๊สติดไฟ นำมาเป็นเชื้อเพลิงทำอาหารได้ สามารถเติมขี้หมูได้เป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดแก๊สตลอดไป
ตลาดน้ำ ตลาดดอนหวาย (สามพราน) ตลาดลำพญา(บางเลน) แต่ละตลาดมีเรือนำเที่ยวทางน้ำด้วย โดยมีชมรม “เรารักแม่น้ำท่าจีน(นครชัยศรี)" เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น