จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่จังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา



เส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่จังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา
บทวิทยุชุมชน คลื่นความถี่ ๙๑.๒๕ เมกะเฮิร์ซ
ออกอากาศ๑๑.๓๐-๑๒.๐๐ น.
วันที่ ๙ มกราคม ๒๕๕๐

โดย อาจารย์พิทยะ ศรีวัฒนสาร
ภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม
คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
ที่ปรึกษาชมรมท่องเที่ยวยั่งยืนเพื่อชุมชน


สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้ฟังที่เคารพ พบกับรายการเที่ยวทั่วไทยประจำทุกวันพุธ เวลา ๑๑.๓๐-๑๒.๐๐ น. ซึ่งจะพูดคุยเกี่ยวกับสาระการท่องเที่ยวเป็นประจำทางคลื่น ๙๑.๒๕ เมกะเฮิร์ต DPU COMMUNITY RADIO วันนี้มีผม พิทยะ ศรีวัฒนสาร จากภาควิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เป็นผู้ดำเนินรายการ
จากการที่รัฐบาลของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์แถลงว่า งบประมาณประจำปีนี้ จะนำประเทศไปสู่การพัฒนาโดยเน้นนโยบาย เศรษฐกิจแบบพอเพียง ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตามโครง การอันเนื่องมาจากพระราชดำริปี๒๕๕๐ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดังนั้น จึงขอนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่จังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา

เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร

ท่านผู้ฟังคงจะเคยได้ยินคำว่า เศรษฐกิจพอเพียงกันมามากมายแล้ว บางท่านก็อาจจะเคยได้ยินคำว่า ความเป็นอยู่แบบพอเพียง บ้านพอเพียง การแพทย์พอเพียง การตลาดแบบพอเพียง เทคโนโลยีแบบพอเพียง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผมขอลำดับให้ทราบโดยสังเขปว่า แนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอย่หัว ทรงปลูกฝังให้แก่ประชาชนชาวไทยอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๔๑ แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะทรงริเริ่มมาเป็นเวลานานแล้วก็ตามดังเห็นได้จากโครงการพระราชดำริต่างๆจำนวนมาก

ทำไมจึงต้องพูดถึงความพอเพียง

ก็เพราะปัญหาต่างๆทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนั้น ล้วนเกิดจากสาเหตุของการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ และแร่ธาตุอย่างเกินความพอดีจากผลการกระตุ้นให้คนบริโภคสินค้าและทรัพยากรที่เกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง ผลที่ตามมาก็คือปัญหาโลกร้อน น้ำแข็งละลาย น้ำท่วม น้ำแล้ง และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายอย่างกว้างขวาง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลเล่าว่า พระองค์ทรงสนพระทัยปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจากการที่สังคมไทยวิ่งตามระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบไม่ลืมหูลืมตา จึงทรงนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสอนคนไทยอันประกอบด้วยคำ ๓ คำ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และความมีภูมิคุ้มกัน ในชีวิตประจำวัน

ความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง คือ การรู้จักโลกและรู้จักตนเอง
รู้จักโลก คือ รู้ว่าโลกประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกำลังถูกทำลายไปอย่างรวดเร็วจากการบริโภคที่เกินพอดีของมนุษย์
รู้จักตนเอง คือ รู้จักการดำเนินชีวิตอย่างรอบคอบ คือ จะต้องรู้ว่าตนมีทุนอะไร มีทุนเท่าไหร่ มีรายได้พิเศษอะไร มีการอดออมหรือไม่ มีกำลังพอที่จะบริโภคสิ่งใดอย่างสมตัวบ้าง เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างยั่งยืน ตามคำคนโบราณซึ่งสอนว่า จะทำอะไรก็ทำพอประมาณ มีเหตุมีผล แล้วเลือกทางเดินที่ถูกต้อง ไม่ให้ตนเองเดือดร้อน เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต
ในเรื่องของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยนั้น แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญผู้จุดประกายให้สังคมหันมาสนใจกับภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยอย่างจริงจังในช่วง ๒๐ ปีเศษที่ผ่านมา อธิบายความหมายของการแพทย์แผนไทยว่า
“หมายถึง ปรัชญา องค์ความรู้และวิธีปฏิบัติเพื่อการดูแลสุขภาพและการรักษาโรคหรือความเจ็บป่วยของประชาชนแบบดั้งเดิม โดยวิธีธรรมชาติบำบัด การใช้สมุนไพร และการนวด การอบและประคบ จากองค์ความรู้ในตำราหรือการถ่ายทอดประสบการณ์จากเรียนรู้ สังเกตและทดลองอย่างเป็นระบบของบรรพบุรุษ”
ท่านผู้ฟังก็คงจะทราบมาแล้วว่า จังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรามีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี วัฒนธรรมและแหล่งธรรมชาติ อาทิ ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ โบราณสถานลายพระหัตถ์ วัดแก้วพิจิตร เมืองโบราณศรีมโหสถ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ และหลวงพ่อโสธร

เส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงกับภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยครั้งนี้
จุดแรก เป็นการเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่บ้านหัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
จุดที่สอง เป็นสัมผัสประสบการณ์การอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบone day trip หรือ เช้าไปเย็นกลับด้วยรถส่วนตัว ค่าใช้จ่ายในการเดินทางคิดแบบพอเพียงเป็นค่าน้ำมันประมาณ ๘๐๐-๙๐๐ บาท หากเดินทางไปเป็นหมู่คณะด้วยรถตู้ ค่าใช้จ่ายก็จะลดลงอีก

แหล่งท่องเที่ยวที่๑
การเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่บ้านหัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
แหล่งท่องเที่ยวที่เราจะเดินทางไปเที่ยวชม คือ บ้านของอาจารย์สุนทร ชวนะพานิช อาจารย์ สุนทร ชวนะพานิช อายุ ๔๘ ปี เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขดีเด่นสาขาภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและสุขภาพระดับชาติ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยของ จ.ปราจีนบุรีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เป็นประธานชมรมหมอพื้นบ้าน อ.ศรีมหาโพธิ เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี ฯลฯ
บ้านของอาจารย์เป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวเชิงภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการในจังหวัด
ภูมิลำเนาเดิมของอาจารย์สุนทรเป็นชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจารย์สุนทร ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านหัวหว้า ตำบลหัวหว้า อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี เมื่อ ๑๗ ปีที่ผ่านมา
อยู่อย่างพอเพียงแบบอาจารย์สุนทร ชวนะพานิช : อยู่อย่างไร
จากไร่มันสำปะหลังเก่า เนื้อดินแบบลูกรังผุพังผสมกับดินเหนียวปนทราย มีพื้นที่โดยรวมประมาณ ๘ ไร่ อาจารย์สุนทรใช้เวลา ๑๗ ปีปลูกป่าสมุนไพร จนร่มรื่น มีกระท่อมที่พักอาศัย โรงเพาะชำ อโรคยศาลา(สถานพยายบาล) ๑ หลัง ลานตากสมุนไพร สระน้ำและบ่อน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค
รายได้หลักของอาจารย์สุนทร คือ การขายพืชผักพื้นบ้านและสมุนไพรที่ผลิตขึ้นจากป่าในเขตบ้าน โดยเฉพาะผลเสาวรส ซึ่งมีดกดื่นเกาะเลื้อยอยู่ตามไม้ยืนต้น นอกจากนี้อาจารย์สุนทรยังส่งสมุนไพรให้แหล่งจำหน่ายหลายแห่งด้วย
อาจารย์และภรรยาบอกว่า ทั้งหมดนี้เป็นความรวยในความพอเพียง ตามคติการดำเนินชีวิตของอาจารย์ คือ ผักพื้นบ้าน อาหารเป็นยา ฟื้นฟูวัฒนธรรมกินอยู่ หลับนอนวิถีธรรมชาติเพื่อสุขภาพ ไม่เน้นความฟุ่มเฟือย
การกินที่ผิดสุขลักษณะเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย
ชาวตะวันตกมักพูดว่า “Your are what you eat” คือ คุณกินอะไรเข้าไปร่างกายก็จะแสดงสิ่งนั้นออกมา เช่น กินแคบหมูน้ำพริกหนุ่มมาก ก็จะมีไขมันในเส้นเลือดมาก กินผักผลไม้มากระบบขับถ่ายของเสียในร่างกายก็ทำงานดี อบสมุนไพรมากหน้าตาผิวพรรณก็จะสะอาดเปล่งปลั่งเยาว์วัยเสมอเช่นกัน
แนวคิดของอาจารย์สุนทร ชวนะพานิช ก็คล้ายกับคำกล่าวข้างต้น คือ ท่านเห็นว่าร้อยละ ๙๕ ของคนเราที่เจ็บป่วยทุกวันนี้ เกิดจากนิสัยในการกินอาหารที่ไม่เป็นเวลา กินได้ทั้งวัน บางทีวันทั้งวันอยู่แต่ในห้องแอร์ จนร่างกายไม่มีโอกาสขับเหงื่อออกมาเท่าที่ควร
การกินอยู่หลับนอนอย่างเหมาะสมจะช่วยให้คนเราสุขภาพดี
การออกกำลังด้วยการเดินชมสวนสมุนไพร

บ้านอาจารย์สุนทรเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย อาจารย์สุนทรสามารถจำชื่อและสรรพคุณสมุนไพรนานาชนิดอย่างแม่นยำ ในสวนมีทางเดินปูแผ่นศิลาแลง ซึ่งอาจารย์จะพานักเรียน นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เข้ามาดูงาน เดินลัดเลี้ยวไปมา ทั้ง ชมและชิม สมุนไพรและผลไม้พื้นบ้านในสวน อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ในสวนมีสมุนไพรประมาณ ๒๐๐ ชนิด ผสมผสานกับไม้ผลพื้นเมือง เช่น เสาวรส กล้วย ขนุน มะม่วง มะละกอ ส้มโอ มะพร้าว เป็นต้น และถ้าโชคดีอาจมีโอกาสเห็นไก่ป่าด้วยเช่นกัน
บ้านอาจารย์สุนทรเป็น Home stay ด้วยนะครับ
อาจารย์สุนทร เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยด้วยภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ดังนั้น นอกจากจะผลิตสมุนไพรจำหน่ายแล้วยังรับรักษาโรคบางอย่าง เช่น โรคอัมพฤกษ์ และโรคอื่นๆ
นอกจากนี้อาจารย์ยังมีกระท่อม จำนวน ๓ หลัง กลางป่าสมุนไพรสำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวที่สนใจมาศึกษาวิถีชีวิตแบบพอเพียงด้วย

สมุนไพรที่น่าสนใจในสวนอาจารย์สุนทรมีทุกรส
ได้แก่ รสมัน รสเค็ม รสเผ็ด รสร้อน รสเผ็ดร้อน รสเย็น รสฝาด รสหอมเย็น รสหวาน แต่ละรสก็จะมีสรรพคุณในการบำบัด ป้องกัน รักษาโรคและสุขภาพแตกต่างกันออกไป อาจารย์สุนทรสามารถใช้ทั้งต้น ดอก ใบ ผล ราก กิ่ง เปลือกของสมุนไพรมาใช้ประโยชน์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยเลือกเก็บตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้สรรพคุณยาตามตำรา
สมุนไพรจำนวนมากออกดอกและผลสะพรั่งในหน้าฝนที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงการบำรุงรักษาอย่างเอาใจใส่
ได้แก่ เสาวรส(รสเปรี้ยวร้อน) อาจารย์บอกว่า ถ้า กินได้วันละ ๒ ลูกจะไม่เจ็บไข้ โด่ไม่รู้ล้ม(เพิ่มพลังบุรุษ) เจตมูลเพลิงแดง(ขับประจำเดือน) ว่านหางปลาไหล(แก้ไข้) เร่ว(ขับลมและโรคบุรุษ) ว่านสาวหลง(บำรุงผิวพรรณ/ เมตตา) ว่านเจ็ดกำลังช้างสาร หนุมานประสานกาย สังกรณี ตรีชวา(ภูมิแพ้) ดอกดาหลา(กินเป็นผักสลัด) พิลังกาสา(ตับพิการ) เป็นต้น
หลังจากเดินชมสมุนไพรจนสุขใจแล้ว นักท่องเที่ยวใจกล้าบางคนยังมีโอกาสตื่นเต้นกับการจับหนอนจุลินทรีย์ สีขาวตัวโตอ้วนพี ดิ้นยั้วเยี้ยในมือ อาจารย์สุนทรบอกว่า หนอนชนิดนี้ เป็นหนอนกำจัดมลภาวะ เกิดจากน้ำหมักหัวเชื้อจุลินทรีย์ ผสมกับผลไม้รสเปรี้ยว และน้ำตาลทรายแดง สูตรนี้ไม่ใช้กากน้ำตาลเพราะว่ากากน้ำตาลมีการปนเปื้อนสารเคมีและต้องใช้เวลาหมักนานกว่าการใช้น้ำตาลทรายแดงมาก
น้ำจุลินทรีย์ที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้นานาประการ เช่น ล้างจาน ซักผ้า สระผม รดพืช ผัก ผลไม้ เป็นต้น
นักท่องเที่ยวยังสามารถซื้อผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อสุขภาพเป็นของฝากกลับบ้าน ได้แก่ สมุนไพรต่างๆ น้ำว่านครอบจักวาล น้ำจุลินทรีย์ หมอนสุขภาพ ฯลฯด้วย

แหล่งท่องเที่ยวที่๒
คือ การอบสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่สวนป่าสมุนไพรในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา แหล่งท่องเที่ยวนี้ ตั้งอยู่บนถนนสาย ๓๐๔ ห่างจากตัวอำเภอพนมสารคามประมาณ ๑๕ กม. และห่างจากกรุงเทพฯประมาณ ๑๒๐ กม.สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน มีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ก่อตั้งเมื่อพ.ศ.๒๕๒๓ ประกอบด้วยพืชสมุนไพรต่างๆ กว่า ๘๐๐ ชนิด

กิจกรรมสำคัญของสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน คือ บริการอบสมุนไพร จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และเพาะพันธุ์กล้าสมุนไพรเพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรและหน่วยงานที่สนใจ
วัตถุประสงค์ของการก่อตั้งอาคารอบสมุนไพร
เพื่อบริการชุมชนและให้คนไทยสนใจและให้ความสำคัญกับสมุนไพรมากขึ้น ฟื้นฟูวัฒนธรรมการดูแลรักษาและส่งเสริมสุขภาพแบบไทยๆที่ดี ประหยัด เรียบง่าย ตัวยาหาได้ในท้องถิ่น และวงการแพทย์ให้การยอมรับ
ระยะแรก อาคารอบสมุนไพรเป็นอาคารชั้นเดียว มีห้องอบเพียง ๒ ห้อง แยกชาย-หญิง ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง
ปัจจุบัน อาคารหลังใหม่เปิดทำการเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ เป็นอาคาร ๒ ชั้น มีห้องอบสมุนไพร ๘ ห้อง แยกเป็นห้องอบชายรวม ๑ ห้องอบชายเดี่ยว ๓ ห้องอบหญิงรวม ๑ ห้องอบหญิงเดี่ยว ๓ ใช้ระบบควบคุมพลังงานไอน้ำด้วยไฟฟ้า
การให้บริการ

เปิดเฉพาะวันเสาร์- อาทิตย์ ระหว่าง ๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.
ค่าบริการห้องอบรวมท่านละ ๓๐ บาท
ห้องอบเดี่ยวท่านละ ๕๐ บาท
ห้องอบเดี่ยวสูตรพิเศษท่านละ ๖๐ บาท
หากประสงค์จะขอใช้บริการนอกเวลาเปิดทำการตามปกติ กรุณาแจ้งล่วงหน้าที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๓๘ - ๕๙๙๑๑๓

สูตรสมุนไพรที่ใช้อบ

ใช้สมุนไพรรวม ๗ ชนิด ได้แก่ ใบหนาดใหญ่ ใบตะไคร้หอม ใบและผลมะกรูด ใบส้มป่อย ใบเปล้าใหญ่ หัวไพลและผงการบูร เพื่อส่งเสริมสุขภาพ บำรุงผิวพรรณและทำให้ร่างกายสดชื่น มิได้เน้นเพื่อรักษาโรค เพราะอาคารอบสมุนไพรมิใช่สถานพยาบาล
การใช้บริการห้องอบเดี่ยวมีการเพิ่มสมุนไพรสูตรพิเศษ เลือกใส่เพิ่มตามความต้องการของผู้ใช้บริการ เช่น
สูตร ๑ แก้ปวดเมื่อย เพิ่มเถาเอ็นอ่อนและหัวไพล
สูตร๒ บำรุงผิวพรรณ เพิ่มหัวขมิ้นชันและใบส้มป่อย
สูตร ๓ แต่งกลิ่นกายให้หอมสดชื่น เพิ่มไพล เร่วหอม ว่านสาวหลงและหัวเปราะหอม
สูตร ๔ แก้หวัดคัดจมูก เพิ่มหัวว่านหอมแดงและหัวเปราะหอม

ขั้นตอนการอบสมุนไพร
อาบน้ำชำระสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย แต่งกายด้วยเสื้อผ้าน้อยชิ้น
เข้าอบตัวในห้องอบสมุนไพร อุณหภูมิ ๔๐-๔๕ องศาเซลเซียส ประมาณ ๑๕ นาที สำหรับผู้ไม่เคยอบมาก่อนอาจใช้เวลาน้อยกว่านี้ ถ้าอึดอัดให้เปิดผ้าขาวบางออกมาหายใจที่ช่องกระจก
ออกมานั่ง ๓- ๕ นาที แล้ว เข้าอบอีกครั้ง ประมาณ ๑๕ นาที
ออกมานั่งพักและดื่มน้ำสมุนไพร น้ำขิง น้ำลำไย น้ำตะไคร้ น้ำลำไยหรือน้ำเปล่าชดเชย
จากนั้นนั่งพักปะมาณ ๒๐ นาที จึงอาบน้ำอีกครั้ง ไม่ควรอาบทันทีหลังจากออกจากห้องอบ หากจะอบรอบต่อไปควรพักประมาณ ๑ ชั่วโมง

ประโยชน์ของการอบสมุนไพร
โลหิตไหลเวียนดี แก้ปวดเมื่อยวิงเวียนศีรษะ ลดไขมันตามส่วนต่างๆของร่างกาย รักษาเหน็บชา อัมพฤกษ์และอัมพาต รักษาสิว ฝ้า บำรุงผิวพรรณ ช่วยให้ปอดขยายและหายจากอาการหอบหืดในระยะที่ไม่มีอาการรุนแรง รักษาโรคภูมืแพ้ รักษาหวัด น้ำมูกไหลแต่ไม่มีการแห้งตันของน้ำมูก ช่วยชักมดลูกให้เข้าอู่เร็วของสตรีหลังคลอด
ข้อห้ามสำหรับการอบสมุนไพร
ขณะมีไข้สูงมากกว่า ๓๘ องศาเซลเซียส เพราะอาจมีการติดเชื้อโรคต่างๆได้
โรคติดต่อร้ายแรงทุกชนิด
โรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ไต ลมชัก หอบหืดระยะรุนแรง โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง และความดันโลหิตสูง
สตรีขณะมีประจำเดือนร่วมกับมีอาการไข้และปวดศีรษะร่วมด้วย
มีอาการอักเสบจากบาดแผลต่างๆ
อ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร หรือหลังรับประทนอาหารใหม่ๆ ปวดศีรษะชนิดเวียนศีรษะและคลื่นไส้

คุณค่าที่ได้รับจากเส้นทางการท่องเที่ยว

การเดินทางครั้งนี้เป็นเพื่อศึกษาและเรียนรู้คุณการดำเนินชีวิตตามแนวความคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นการทัศนศึกษาส่วนหนึ่งของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยถือเป็นจุดเน้นในการส่งเสริมการท่องเที่ยวปี๒๕๕๐ อย่างทันสมัย อันจะทำให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาพื้นบ้านพื้นเมืองที่มีการอนุรักษ์และสืบทอดมาในรูปแบบของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
จากประสบการณ์การอบสมุนไพร พิทยะสังเกตว่า สมาชิกแต่ละคน แม้จะเป็นผู้สูงวัย แต่ใบหน้าแต่ละท่านกลับผ่องใส
ไร้ริ้วรอยสิวฝ้าและจุดด่างดำ ส่วนรอยเหี่ยวย่นนั้นมีบ้างตามวัย
เมื่อได้สอบถามวัยรุ่นบางคนที่เคยเป็นสิว ได้รับคำตอบว่าใบหน้าของตนหายเป็นปกติจากการอบสมุนไพร
ต่อเนื่องประมาณ ๕-๖ ครั้ง บางคนเป็นหวัดจามบ่อยก็ทุเลาลง
จึงขอร่วมประชาสัมพันธ์ให้ท่านผู้ฟังทั้งหลายหันมาใส่ใจกับสุขภาพด้วยการท่องเที่ยวไปกับเส้นทางการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยนี้
วันนี้ช่วงของเวลาเที่ยวทั่วไทยได้หมดเวลาแล้ว หากสนใจข้อมูลดังกล่าวติดต่อได้ที่ ๐๒ ๙๕๔๗๓๐๐ ต่อ ๒๙๓
หรือ E-Mail s_bidya@hotmail.com สำหรับวันนี้ผมคงต้องลาไปก่อน พบกันใหม่ในพุธหน้าเวลาเดิม
สวัสดี

1 ความคิดเห็น: